ขั้นตอนขอเยียวยา ผู้ประกันตนมาตรา 39 ที่สิ้นสุดการเป็นผู้ประกันตน เพราะสมัครไม่ทันหรือขาดส่งเงินสมทบ

โดย

 


 
ขั้นตอนขอเยียวยา ผู้ประกันตนมาตรา 39
ที่สิ้นสุดการเป็นผู้ประกันตน เพราะสมัครไม่ทันหรือขาดส่งเงินสมทบ

     ขั้นตอนตามกฎหมายที่จะขอ “เยียวยา” ได้ คือ การยื่นอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการอุทธรณ์ภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้งคำสั่ง (มาตรา 85) และหากคณะกรรมการอุทธรณ์มีความเห็นเป็นเช่นเดียวกับเจ้าหน้าที่ชั้นต้น จะต้องยื่นฟ้องต่อศาลแรงงานภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้งคำวินิจฉัย แต่ถ้าไม่นำคดีไปสู่ศาลแรงงานภายในกำหนดระยะเวลาดังกล่าว ถือว่าคำวินิจฉัยของคณะกรรมการอุทธรณ์เป็นที่สุด (มาตรา 86) ซึ่งเป็นขั้นตอนที่ต้องใช้เวลาในการรวบรวมพยานหลักฐานต่างๆ เพื่อประกอบการพิจารณาตามสมควร
     ในปัจจุบัน สำนักงานประกันสังคม ได้กำหนดแนวทางปฏิบัติที่ชัดเจนขึ้น เพื่อเยียวยาผู้ที่สมัครเป็นผู้ประกันตนมาตรา 39 ไม่ทัน หรือผู้ประกันตนมาตรา 39 ที่สิ้นสุดความเป็นผู้ประกันตน เพราะขาดส่งเงินสมทบ ให้ได้รับความคุ้มครองโดยเร็ว ไม่ต้องเข้าสู่กระบวนการอุทธรณ์หรือฟ้องคดีต่อศาลแรงงาน โดยกำหนดให้มีการยื่นคำร้อง “ขอขยายหรือเลื่อนกำหนดเวลา” ได้ ในกรณีที่ “มีเหตุจำเป็น” โดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 84/1 แห่งพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. 2533 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติประกันสังคม (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2558 บัญญัติว่า
     “กำหนดเวลาตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 39 มาตรา 45 มาตรา 47 และมาตรา 47 ทวิ ถ้าผู้มีหน้าที่ปฏิบัติตามกำหนดเวลานั้น มีเหตุจำเป็นอันมิอาจก้าวล่วงได้ และได้ยื่นคำร้องเพื่อขอขยายหรือเลื่อนกำหนดเวลาโดยแสดงเหตุแห่งความจำเป็นนั้น ถ้าเลขาธิการเห็นสมควรจะขยายหรือเลื่อนกำหนดเวลาออกไปก็ได้ ทั้งนี้ ต้องยื่นคำร้องภายใน 15 วัน นับแต่เหตุจำเป็นนั้นสิ้นสุดลง การขยายเวลาตามที่กำหนดไว้ในมาตรา 39 หรือมาตรา 47 ไม่เป็นเหตุให้ลดหรืองดเงินเพิ่ม”
     บทความนี้นำเสนอเพื่อ…
     (1) หวังให้ผู้ที่สมัครเป็นผู้ประกันตนมาตรา 39 ไม่ทัน หรือผู้ประกันตนมาตรา 39 ที่สิ้นสุดความเป็นผู้ประกันตนเพราะขาดส่งเงินสมทบ...ได้รู้ และยื่นคำร้องขอขยาย หรือเลื่อนกำหนดเวลาการสมัคร หรือการนำส่งเงินสมทบต่อเจ้าหน้าที่ ณ สำนักงานประกันสังคมที่สะดวกที่สุดก่อนยื่นคำร้องอุทธรณ์
     (2) หวังให้เจ้าหน้าที่ได้ให้คำแนะนำ ผู้ที่ขาดสิทธิ เพราะสมัครเป็นผู้ประกันตนมาตรา 39 ไม่ทัน หรือผู้ประกันตนมาตรา 39 ที่สิ้นสุดความเป็นผู้ประกันตนเพราะขาดส่งเงินสมทบ ให้ยื่นคำร้องและแสดงเหตุผลความจำเป็น พร้อมทั้งใช้ดุลพินิจพิจารณาเหตุจำเป็นตามที่เลขาธิการได้มอบอำนาจ และกำหนดแนวทางปฏิบัติไว้แล้วอย่างเต็มที่ โดยยึดเจตนารมณ์ของกฎหมายเป็นหลัก และหากใช้ดุลพินิจแล้วเห็นว่าไม่ควรอนุมัติให้ขยาย หรือเลื่อนกำหนดเวลา ก็ควรที่จะแนะนำให้ยื่นอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการอุทธรณ์ต่อไป

 

  บางส่วนจากบทความ : “เยียวยา ผู้ประกันตนมาตรา 39 ที่สิ้นสุดการเป็นผู้ประกันตน
  เพราะสมัครไม่ทันหรือขาดส่งเงินสมทบ” โดย : ปรานี สุขศรี / Section : กฎหมายแรงงาน /
  Column : ประกันสังคม อ่านบทความฉบับเต็มได้ที่...วารสาร HR Society ปีที่ 21
  ฉบับที่ 248 เดือนสิงหาคม 2566

 
 
FaLang translation system by Faboba