ใบกำกับภาษีเป็นเงินตราต่างประเทศ

โดย

 


 
ใบกำกับภาษีเป็นเงินตราต่างประเทศ


รายการในใบกำกับภาษีตามมาตรา 86/4 และ 86/6 ให้ทำเป็นภาษาไทย เป็นหน่วยเงินตราไทย และใช้ตัวเลขไทยหรืออารบิก ผู้ประกอบการจดทะเบียนซึ่งจัดทำรายการในใบกำกับภาษีเป็นภาษาอังกฤษและเป็นหน่วยเงินตราไทยตามมาตรา 86/4 และมาตรา 86/6 ให้ถือว่าได้รับอนุมัติจากอธิบดีกรมสรรพากร เว้นแต่ในกิจการบางประเภทที่มีความจำเป็นต้องทำเป็นภาษาต่างประเทศอื่นที่ไม่ใช่ภาษาอังกฤษหรือเป็นหน่วยเงินตราต่างประเทศ ให้กระทำได้ แต่จะต้องได้รับอนุมัติจากอธิบดีกรมสรรพากร

ในกรณีที่ผู้ประกอบการจดทะเบียนประสงค์จะจัดทำรายการในใบกำกับภาษีเป็นภาษาต่างประเทศที่มิใช่ภาษาอังกฤษหรือหน่วยเงินตราต่างประเทศ ยื่นคำขออนุมัติต่ออธิบดีกรมสรรพากรก่อนจัดทำรายการในใบกำกับภาษีเป็นภาษาต่างประเทศหรือหน่วยเงินตราต่างประเทศ โดยให้ยื่นตามแบบที่อธิบดีกรมสรรพากรกำหนด ดังนี้

1. ในกรณีผู้ประกอบการจดทะเบียนมีสถานประกอบการตั้งอยู่ในเขตกรุงเทพมหานคร ให้ยื่นคำขออนุมัติต่ออธิบดีกรมสรรพากรผ่านสรรพากรเขตพื้นที่ที่สถานประกอบการตั้งอยู่

2. ในกรณีผู้ประกอบการจดทะเบียนมีสถานประกอบการตั้งอยู่ในเขตจังหวัดอื่น ให้ยื่นคำขออนุมัติต่ออธิบดีกรมสรรพากรผ่านสรรพากรจังหวัดที่สถานประกอบการตั้งอยู่ ณ ที่ว่าการอำเภอท้องที่ที่สถานประกอบการตั้งอยู่

ถ้าผู้ประกอบการจดทะเบียนมีสถานประกอบการหลายแห่ง ให้ยื่นคำขออนุมัติต่ออธิบดีกรมสรรพากรผ่านสรรพากรเขตพื้นที่หรือสรรพากรจังหวัดที่สถานประกอบการที่เป็นสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ แล้วแต่กรณี ผู้ประกอบการจดทะเบียนจะจัดทำรายการในใบกำกับภาษีเป็นภาษาต่างประเทศที่มิใช่ภาษาอังกฤษหรือหน่วยเงินตราต่างประเทศได้ จะต้องได้รับอนุมัติจากอธิบดีกรมสรรพากรก่อน โดยใบกำกับภาษีที่ขออนุมัติจัดทำเป็นภาษาต่างประเทศหรือหน่วยเงินตราต่างประเทศนั้นจะต้องมีรายการอย่างน้อยตามมาตรา 86/4

การจัดทำรายการในใบกำกับภาษีตามมาตรา 86/4 หรือใบกำกับภาษีอย่างย่อตามมาตรา 86/6 ผู้ประกอบการจดทะเบียนจะจัดทำเป็นภาษาอังกฤษก็ได้ โดยให้ถือว่าได้รับอนุมัติจากอธิบดีกรมสรรพากรแล้ว ผู้ประกอบการจดทะเบียนที่ได้รับอนุมัติจากอธิบดีกรมสรรพากรให้ใช้เครื่องบันทึกการเก็บเงินเพื่อออกใบกำกับภาษีอย่างย่อ รายการในใบกำกับภาษีอย่างย่อที่ออกโดยใช้เครื่องบันทึกการเก็บเงิน ผู้ประกอบการจดทะเบียนจะจัดทำเป็นภาษาอังกฤษก็ได้ โดยให้ถือว่าได้รับอนุมัติจากอธิบดีกรมสรรพากรแล้ว

ในการออกใบกำกับภาษีเต็มรูปให้กับผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการ ผู้ประกอบการจดทะเบียนจะต้องออกใบกำกับภาษีทุกครั้งที่จุดความรับผิดเกิดขึ้น กรณีการขายสินค้า จุดความรับผิดเกิดขึ้นเมื่อมีการส่งมอบสินค้า ในกรณีให้บริการจุดความรับผิดเกิดขึ้นเมื่อได้รับเงิน ดังนั้นผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มจะต้องออกใบกำกับภาษีทันทีที่จุดความรับผิดเกิดขึ้น ยกเว้นผู้ประกอบการจดทะเบียนที่ขายสินค้า ชนิด และประเภทเดียวกันให้แก่ผู้ซื้อสินค้า รายหนึ่งรายใดเป็นจำนวนหลายครั้งใน 1 วันทำการ ผู้ประกอบการจดทะเบียนสามารถจัดทำใบกำกับภาษีรวมเพียงครั้งเดียวใน 1 วันทำการ สำหรับผู้ซื้อสินค้ารายนั้นได้

ตัวอย่างเช่น

บริษัทขายเสาเข็มให้กับลูกค้าจำนวน 2,000 ต้น สามารถส่งมอบให้ลูกค้าได้วันละ 100 ต้น และส่งมอบได้เที่ยวละ 2 ต้น ดังนั้นบริษัทสามารถออกใบกำกับภาษีได้ 2 วิธี คือ ก. ออกใบกำกับภาษีทุกครั้งที่ส่งมอบ คือ 50 ใบต่อวัน (วันละ 100 ต้น เที่ยวละ 2 ต้นต้องส่งมอบทั้งหมด 50 เที่ยวต่อวัน) ข. ออกใบกำกับภาษีวันละ 1 ใบ ดังนั้นถ้าขายเสาเข็ม 2,000 ต้น จะต้องออกใบกำกับภาษีจำนวน 20 ใบ (วันละ 100 ต้น จำนวน 2,000 ต้น จะใช้เวลาส่งมอบ 20 วัน จึงจะครบ)

จากบทความ : “สารพันปัญหาการออกใบกำกับภาษี”
Section: Smart Accounting / Column: Accounting Practice
อ่านบทความฉบับเต็มได้ที่.....วารสารเอกสารภาษีอากร ปีที่ 41 ฉบับที่ 488 เดือนพฤษภาคม 2565
หรือสมัครสมาชิก “วารสารเอกสารภาษีอากร” เพื่อรับสิทธิอ่านและสืบค้นบทความ ผ่านระบบ e- Magazine Index

 

FaLang translation system by Faboba