ข้อตกลงห้ามลูกจ้างค้าแข่งกับนายจ้าง มีผลใช้บังคับได้เพียงใด?

โดย

 


 
ข้อตกลงห้ามลูกจ้างค้าแข่งกับนายจ้าง
มีผลใช้บังคับได้เพียงใด?


การแข่งขันทางการค้า นับวันมีแต่จะเพิ่มความเข้มข้นมากขึ้นเรื่อยๆ ผู้ประกอบกิจการและนายจ้างจำนวนมากจึงต้องสร้างมาตรการต่างๆ เพื่อป้องกันข้อมูลความลับทางการค้า และหนึ่งในมาตรการที่นิยมทำกัน คือ นายจ้างทำข้อตกลงห้ามค้าแข่ง (Non-Competition Clause) กับลูกจ้าง

สิ่งที่ต้องพิจารณา คือ การปะทะกันระหว่างสิทธิของนายจ้างที่ได้รับความคุ้มครองในเรื่องแข่งขันที่เป็นธรรม (Fair Competition) กับเสรีภาพในการประกอบอาชีพของลูกจ้าง (Freedom of Occupation) ในแง่มุมของการคุ้มครองสิทธินายจ้าง เป็นที่ยอมรับกันโดยทั่วไปว่า นายจ้างผู้สุจริต ควรได้รับการคุ้มครองให้สามารถประกอบธุรกิจภายใต้การแข่งขันที่ยุติธรรม เมื่อนายจ้างลงทุน ลงแรง ประกอบธุรกิจโดยมีความลับทางการค้าของตนเอง ก็ไม่ควรให้บุคคลอื่นนำความลับทางการค้านั้นออกเผยแพร่ หรือนำไปใช้ประโยชน์โดยไม่ได้รับอนุญาต เพราะจะทำให้นายจ้างที่สุจริตต้องเสียหาย ในขณะที่นายจ้างผู้ไม่สุจริตสามารถนำความลับทางการค้าของผู้อื่นมาใช้ประโยชน์ได้ โดยแทบไม่ต้องลงทุน ลงแรงอะไร อันจะทำให้เกิดความไม่ยุติธรรมในการทำธุรกิจ จึงมีความจำเป็นต้องให้ความคุ้มครองนายจ้างในเรื่องนี้ ส่วนในแง่มุมของลูกจ้างหรือคนทำงานแลกเงิน บุคคลเป็นที่ยอมรับกันในทางสากลว่า บุคคลทุกคนย่อมมีสิทธิในการทำงาน (Right to Work) เพื่อมีรายได้เลี้ยงดูตนเองและครอบครัว รวมทั้งมีเสรีภาพในการประกอบอาชีพที่ตนต้องการ (Freedom of Occupation) ได้ด้วย ซึ่งปัจจุบันรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย บัญญัติรับรองและให้ความคุ้มครองไว้ในมาตรา 50 ความว่า

"บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการประกอบกิจการ หรือประกอบอาชีพ และการแข่งขันโดยเสรี อย่างเป็นธรรม

การจำกัดเสรีภาพตามวรรคหนึ่งจะกระทำมิได้ เว้นแต่ โดยอาศัยตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย เฉพาะเพื่อประโยชน์ในการรักษาความมั่นคงของรัฐ หรือเศรษฐกิจของประเทศ การคุ้มครองประชาชนในด้านสาธารณูปโภค การรักษาความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน การจัดระเบียบการประกอบอาชีพ การคุ้มครองผู้บริโภค การผังเมือง การรักษาทรัพยากรธรรมชาติหรือสิ่งแวดล้อม สวัสดิภาพของประชาชน หรือเพื่อป้องกันการผูกขาด หรือขจัดความไม่เป็นธรรมในการแข่งขัน” ข้อตกลงห้ามลูกจ้างค้าแข่งกับนายจ้าง มีผลทำให้ลูกจ้างไม่มีสิทธิประกอบอาชีพในลักษณะอย่างเดียวกันกับนายจ้าง จึงอาจเป็นการจำกัดเสรีภาพในการประกอบอาชีพของลูกจ้างได้เช่นกัน ประเทศต่างๆ จึงต้องพยายามวางดุลในเรื่องนี้ให้เหมาะสม เพื่อความยุติธรรมทั้งฝ่ายนายจ้างและฝ่ายลูกจ้าง"

สำหรับประเทศไทย ในเรื่องข้อตกลงห้ามลูกจ้างค้าแข่งกับนายจ้าง แบ่งการพิจารณาเป็น 2 ระยะ
ระยะแรก คือ ในระหว่างทำงานเป็นนายจ้างกับลูกจ้าง
ระยะที่สอง ข้อตกลงห้ามค้าแข่งกับนายจ้าง ภายหลังจากลูกจ้างพ้นสภาพไปแล้ว

กล่าวโดยสรุป ข้อตกลงระหว่างนายจ้างกับลูกจ้างที่ตกลงห้ามลูกจ้างค้าแข่งกับนายจ้างในระหว่างทำงานเป็นลูกจ้าง มีผลผูกพันบังคับได้ หากนายจ้างพิสูจน์ได้ว่าลูกจ้างผิดข้อตกลงไปเกี่ยวข้องโดยตรง โดยอ้อมกับธุรกิจที่มีลักษณะเป็นอย่างเดียวกัน และเป็นการแข่งขันกับนายจ้างจริง ย่อมถือได้ว่าลูกจ้างทำผิดสัญญาจ้างแรงงานอย่างร้ายแรง นายจ้างมีสิทธิเลิกจ้างลูกจ้างได้ โดยไม่ต้องบอกกล่าวล่วงหน้า ไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย และไม่ถือว่าเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม แต่ถ้าเป็นข้อตกลงห้ามลูกจ้างค้าแข่งกับนายจ้างภายหลังลูกจ้างออกจากงานไปแล้ว แม้ข้อตกลงจะมีผลผูกพันใช้บังคับได้ก็ตาม แต่ก็ต้องตีความเนื้อหาในเรื่องความรับผิดของลูกจ้างตามข้อตกลงโดยเคร่งครัด เพราะเป็นข้อตกลงจำกัดสิทธิของลูกจ้าง

บางส่วนจากบทความ : “ข้อตกลงห้ามลูกจ้างค้าแข่งกับนายจ้าง มีผลใช้บังคับได้เพียงใด?"
โดย : พงษ์รัตน์ เครือกลิ่น / Section : กฎหมายแรงงาน / Column : กฎหมายคุ้มครองแรงงาน
อ่านบทความฉบับเต็มได้ที่...วารสาร HR Society Magazine ปีที่ 20 ฉบับที่ 233 เดือนพฤษภาคม 2565

 

FaLang translation system by Faboba