ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง (ตอนที่ 31) พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ. 2562 มาตรา 8

โดย

 


 
ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง (ตอนที่ 31)
พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง
พ.ศ. 2562 มาตรา 8


บทความตอนนี้ผู้เขียนกล่าวถึง พระราชบัญญัติภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ. 2562 มาตรา 8 ที่บัญญัติว่า

“ให้ที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างที่เป็นทรัพย์สินดังต่อไปนี้ ได้รับยกเว้นจากการจัดเก็บภาษีตามพระราชบัญญัตินี้ กล่าวคือ

(2) ทรัพย์สินที่เป็นที่ทำการขององค์การสหประชาชาติ ทบวงการชำนัญพิเศษขององค์การสหประชาชาติ หรือองค์การระหว่างประเทศอื่น ซึ่งประเทศไทยมีข้อผูกพันที่ต้องยกเว้นภาษีให้ตามสนธิสัญญาหรือความตกลงอื่นใด”

ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา รัฐบาลไทยทั้งในอดีตและปัจจุบันได้ให้ความสำคัญกับความร่วมมือในกรอบสหประชาชาติมาโดยตลอด ดังจะเห็นได้จากการที่มีสำนักงานขององค์กรของสหประชาชาติเป็นจำนวนมากตั้งอยู่ที่กรุงเทพฯ ที่สำคัญคือคณะกรรมาธิการเศรษฐกิจและสังคมแห่งสหประชาชาติสำหรับเอเซียและแปซิฟิก หรือ UNESCAP ซึ่งเป็นหน่วยงานระดับภูมิภาคที่ใหญ่ที่สุดในจำนวน 5 แห่งที่สหประชาชาติมีอยู่ทั่วโลก การที่ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางส่วนภูมิภาคของสหประชาชาติ เมื่อวันที่ 24 ตุลาคม 2011 นายบัน คี มูน เลขาธิการสหประชาชาติ ได้ให้ศูนย์สหประชาชาติที่กรุงเทพมหานครเป็น The United Nations Hub for Asia and the Pacific

สำหรับทบวงการชำนัญพิเศษขององค์การสหประชาชาตินั้น พระราชบัญญัติคุ้มครองการดำเนินงานของสหประชาชาติและทบวงการชำนัญพิเศษในประเทศไทย พ.ศ. 2504 ซึ่งเป็นกฎหมายอนุวัติการของอนุสัญญาว่าด้วยเอกสิทธิ์และความคุ้มกันของสหประชาชาติ ค.ศ. 1946 (1946 Convention on the Privileges and Immunities of the United Nations) และอนุสัญญาว่าด้วยเอกสิทธิ์และความคุ้มกันของทบวงการชำนัญพิเศษแห่งสหประชาชาติ ค.ศ. 1947 (1947 Convention on the Privileges and Immunities of the Specialized Agencies) ซึ่งประเทศไทยเป็นภาคี และมีวัตถุประสงค์เพื่ออำนวยความสะดวกและคุ้มครองการดำเนินงานขององค์การสหประชาชาติ ในประเทศไทยเพื่อให้การปฏิบัติงานขององค์การระหว่างประเทศเหล่านี้เป็นไปอย่างราบรื่นและสอดคล้องกับวัตถุประสงค์และเป้าหมายของสหประชาชาติ

ต่อมามีการตราพระราชบัญญัติเอกสิทธิ์และความคุ้มกันสำหรับองค์การระหว่างประเทศและการประชุมระหว่างประเทศในประเทศไทย พ.ศ. 2561 ประกาศในราชกิจจานุเบกษาและมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน พ.ศ. 2561 โดยที่พระราชบัญญัติเอกสิทธิ์และความคุ้มกันฯ เป็นกฎหมายที่กำหนดกรอบการให้เอกสิทธิ์และความคุ้มกันสำหรับการดำเนินงานขององค์การระหว่างประเทศและการประชุมระหว่างประเทศภาครัฐ และการให้สิทธิประโยชน์สำหรับการประชุมระหว่างประเทศภาคเอกชน เพื่อให้สอดคล้องกับแนวนโยบายที่จะให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางของที่ตั้งสำนักงานองค์การระหว่างประเทศและสถานที่จัดการประชุมระหว่างประเทศ

สำหรับแนวคิดในการตราพระราชบัญญัติเอกสิทธิ์และความคุ้มกันฯ เพื่อช่วยลดขั้นตอนและย่นระยะเวลาในการตรากฎหมายรองรับการคุ้มครองการดำเนินงานขององค์การระหว่างประเทศที่ประสงค์มาตั้งสำนักงานหรือดำเนินกิจกรรมหรือจัดประชุมในประเทศไทย เนื่องจากที่ผ่านมาการตราพระราชบัญญัติรายฉบับใช้เวลานาน จนอาจทำให้กระบวนการออกกฎหมายภายในของไทยนำไปสู่การก่อให้เกิดอุปสรรคและความไม่แน่นอนในการดำเนินความสัมพันธ์กับองค์การระหว่างประเทศทั้งระดับรัฐบาล/กึ่งรัฐบาล กลุ่มความร่วมมือระหว่างประเทศ และการจัดประชุมนานาชาติต่าง ๆ

พระราชบัญญัติดังกล่าวกำหนดกรอบการให้เอกสิทธิ์และความคุ้มกัน ซึ่งสอดคล้องกับขอบเขตที่กำหนดไว้ในอนุสัญญาว่าด้วยเอกสิทธิ์และความคุ้มกันของสหประชาชาติปี ค.ศ. 1946 ที่ไทยเป็นภาคี และแนวปฏิบัติที่ไทยเคยทำกับองค์การระหว่างประเทศต่าง ๆ โดยยังคงต้องจัดทำความตกลงประเทศเจ้าบ้าน (Host Country Agreement) และพระราชบัญญัติเอกสิทธิ์และความคุ้มกันฯ ดังกล่าว ไม่กระทบต่อเอกสิทธิ์และความคุ้มกันขององค์การระหว่างประเทศภายใต้พระราชบัญญัติอื่น ๆ

พระราชบัญญัติเอกสิทธิ์และความคุ้มกันฯ (มาตรา 3) กำหนดประเภทองค์กร/หน่วยงานดังนี้
1. องค์การระหว่างประเทศ (องค์การระหว่างประเทศระดับรัฐบาลและกึ่งรัฐบาล)
2. กลุ่มความร่วมมือระหว่างประเทศ (เช่น APEC BIMSTEC)
3. การประชุมระหว่างประเทศภาครัฐ
4. การประชุมระหว่างประเทศภาคเอกชน

หลักการในการให้เอกสิทธิ์และความคุ้มกันจะต้องเป็นไปเท่าที่จำเป็นแก่การปฏิบัติงาน (Functional Necessity) เพื่อบรรลุวัตถุประสงค์ขององค์การหรือการประชุมดังกล่าว โดยพิจารณาตามพันธกรณีของประเทศไทยตามกฎหมายระหว่างประเทศ แนวปฏิบัติของนานาประเทศ และประโยชน์ที่ประเทศไทยจะได้รับจากองค์การหรือการประชุมนั้น ๆ (มาตรา 4)

องค์การระหว่างประเทศอาจได้รับเอกสิทธิ์และความคุ้มกันตามรายการที่กำหนดไว้ในมาตรา 5 ซึ่งระบุไว้ 9 รายการ ได้แก่
1. ยกเว้นภาษีทางตรงตามประมวลรัษฎากรหรือกฎหมายอื่น สำหรับองค์การ ทรัพย์สิน สินทรัพย์ และรายได้ขององค์การ
2. ยกเว้นอากรศุลกากร ข้อห้าม ข้อกำกัดเกี่ยวกับการนำเข้า-ส่งออกสิ่งของ เพื่อใช้ในทางการขององค์การหรือสิ่งพิมพ์ขององค์การ
3. ความละเมิดมิได้ของสถานที่ บรรณสาร และเอกสารขององค์การ
4. ห้ามตรวจพิจารณาหนังสือโต้ตอบ/การสื่อสารที่เป็นทางการขององค์การ
5. สิทธิการได้มา การได้รับ การถือครอง และการโอนซึ่งเงินทุนหรือเงินตราใด ๆ รวมทั้งการแลกเปลี่ยนเงินตราขององค์การ
6. สิทธิการใช้รหัส รวมทั้งการส่ง-รับ หนังสือโต้ตอบขององค์การโดยมีเอกสิทธิ์และความคุ้มกันไม่เกินเอกสิทธิ์และความคุ้มกันทางทูต
7. ความคุ้มกันจากการถูกดำเนินการตามกระบวนการทางกฎหมายทุกรูปแบบ สำหรับองค์การ ทรัพย์สิน และสินทรัพย์ขององค์การ เว้นแต่เป็นกรณีที่เกี่ยวกับการพาณิชย์
8. ความคุ้มกันจากการค้น การเรียกเกณฑ์ การริบ การยึด การอายัด การเวนคืน หรือการแทรกแซงในรูปแบบอื่นใดต่อทรัพย์สินหรือสินทรัพย์ขององค์การ
9. การอำนวยความสะดวกเกี่ยวกับการติดต่อสื่อสารที่เป็นทางการขององค์การ

นอกจากนี้ตามพระราชบัญญัติเอกสิทธิ์และความคุ้มกันฯ ยังบัญญัติให้องค์กรระหว่างประเทศ ตามมาตรา 3 ได้รับสถานะนิติบุคคลและมีภูมิลำเนาในประเทศไทย (มาตรา 8) และวิธีได้รับเอกสิทธิ์และความคุ้มกัน ให้ออกเป็นพระราชกฤษฎีกา (มาตรา 7) สำหรับกลุ่มความร่วมมือระหว่างประเทศ (มาตรา 9) ต้องเป็นกรณีที่ประเทศไทยได้เข้าเป็นสมาชิกกลุ่มความร่วมมือระหว่างประเทศ จะให้เอกสิทธิ์และความคุ้มกันแก่กลุ่มความร่วมมือฯ และบุคลากรของกลุ่มความร่วมมือฯ ตามมาตรา 5 และ 6 เช่นเดียวกับองค์การระหว่างประเทศก็ได้ ถ้าเข้ามาตั้งสำนักงานในประเทศไทย ก็ให้เป็นนิติบุคคลและมีภูมิลำเนาในประเทศไทย สำหรับวิธีได้รับเอกสิทธิ์และความคุ้มกัน ก็ให้ออกเป็นพระราชกฤษฎีกาเช่นเดียวกัน

กล่าวโดยสรุป ทรัพย์สินที่เป็นที่ทำการขององค์การสหประชาชาติในประเทศไทย ทบวงการชำนัญพิเศษขององค์การสหประชาชาติในประเทศไทยและองค์กรระหว่างประเทศอื่น ซึ่งประเทศไทยมีข้อผูกพันตามสนธิสัญญาหรือความตกลงอื่นใด แม้ว่าทรัพย์สินที่เป็นที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างของบุคคลอื่น ที่หน่วยงานหรือองค์การระหว่างประเทศไปเช่าหรือใช้เป็นที่ทำการก็จะได้รับการยกเว้นภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง

แตกต่างจากภาษีโรงเรือนและที่ดิน หากเจ้าของนำเอาที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างไปให้บุคคลใดเช่าก็ตาม ก็จะต้องนำเอาค่าเช่าไปคิดเป็นค่ารายปีเพื่อคำนวณในการจัดเก็บภาษีโรงเรือนกับเจ้าของโรงเรือนหรือที่ดิน และมีหลายกรณีที่เจ้าของโรงเรือนจะผลักภาระภาษีโรงเรือนให้แก่ผู้เช่าหรือเข้ามาใช้ประโยชน์เป็นผู้มีหน้าที่เสียภาษี แต่ก็ไม่ใช่หน้าที่เสียภาษีตามกฎหมาย

บางส่วนจากบทความ : “ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง (ตอนที่ 31) พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ. 2562 มาตรา 8”
Section: Tax Talk / Column: ภาษีท้องถิ่น
อ่านบทความฉบับเต็มได้ที่...วารสารเอกสารภาษีอากร ปีที่ 41 ฉบับที่ 487 เดือนเมษายน 2565
หรือสมัครสมาชิก “วารสารเอกสารภาษีอากร” เพื่อรับสิทธิอ่านและสืบค้นบทความ ผ่านระบบ e- Magazine Index

 

FaLang translation system by Faboba