2 กรณีศึกษาปัญหาการยื่นแบบของบุคคลธรรมดา

โดย

 

 
  กรณีศึกษาปัญหาการยื่นแบบของบุคคลธรรมดา


ปัญหาต่าง ๆ ในการยื่นแบบฯ ของบุคคลธรรมดามีหลากหลายปัญหา แต่ที่สำคัญและอยากหยิบยกมาให้ศึกษามีดังนี้
ปัญหาการยื่นแบบแสดงรายการภาษีผิดแบบ
บุคคลที่มีหน้าที่เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาตามประมวลรัษฎากรมีหลายบุคคล เช่น บุคคลธรรมดา ห้างหุ้นส่วนสามัญหรือคณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคล เป็นต้น ซึ่งบางท่านได้รับเงินได้ประเภทต่าง ๆ จากหลายแหล่ง
ตัวอย่างเช่น นาย ก. ได้รับค่าจ้างแรงงานจากการทำงานประจำในแต่ละเดือน การรับทำงานจากการทำงานนอกเวลา รวมทั้งมีเงินได้จากการประกอบกิจการ เช่น ขายสินค้าออนไลน์ อีกด้วย ซึ่งในแต่ละประเภทของเงินได้ที่ได้รับอาจทำให้นาย ก. ไม่เข้าใจว่า ต้องนำเงินได้ที่ได้รับทั้งหมดมาเสียภาษีหรือไม่ และจะใช้แบบแสดงรายการประเภทใดมาคำนวณภาษีเงินได้ เป็นต้น เนื่องจากแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาตามที่กฎหมายกำหนดมีหลายแบบ อาทิ แบบ ภ.ง.ด.91 (แบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา สำหรับผู้มีเงินได้ที่มีเงินได้จากการจ้างแรงงานตามมาตรา 40 (1) แห่งประมวลรัษฎากร แต่เพียงประเภทเดียว) แบบ ภ.ง.ด.90 (แบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา สำหรับผู้มีเงินได้ที่มีเงินได้หลายประเภท หรือผู้มีเงินได้ประเภทเดียวแต่มิใช่เงินได้จากการจ้างแรงงานตามมาตรา 40 (1) แห่งประมวลรัษฎากร หรือผู้มีเงินได้ที่เป็นห้างหุ้นส่วนสามัญหรือคณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคล)
ความไม่เข้าใจนี้จึงทำให้นาย ก. เกิดความสับสนและเลือกแบบแสดงรายการผิดประเภท โดยนำแบบ ภ.ง.ด.91 มาใช้ยื่นแบบฯ และชำระภาษีให้กรมสรรพากร ซึ่งที่ถูกต้องนาย ก. มีหน้าที่ต้องยื่นแบบ ภ.ง.ด.90 ตามมาตรา 56 แห่งประมวลรัษฎากร การยื่นแบบฯ และชำระภาษีให้กรมสรรพากรดังกล่าวจึงไม่เป็นไปตามแบบที่อธิบดีกรมสรรพากรกำหนด ซึ่งในทางกฎหมายถือว่านาย ก. ไม่ได้ยื่นแบบฯ และชำระภาษีให้กรมสรรพากรแต่อย่างใด เจ้าพนักงานสรรพากรมีอำนาจดำเนินการตามกระบวนการที่กฎหมายกำหนดกับนาย ก. ได้ ดังนั้นเพื่อหลีกเลี่ยงปัญหากับเจ้าพนักงานสรรพากร นาย ก. ควรดำเนินการอย่างไร
สิ่งสำคัญที่ต้องดำเนินการคือการทำหนังสือถึงกรมสรรพากร โดยอธิบายข้อเท็จจริงที่จะทำให้เจ้าพนักงานสรรพากรเข้าใจได้ว่า การดำเนินการตามข้อเท็จจริงมิใช่เป็นกรณียื่นแบบฯ ผิดประเภทหรือผิดหน่วยภาษี แต่เป็นกรณีที่นาย ก. (ผู้มีเงินได้) ยื่นแบบฯ และชำระภาษีเงินได้ผิดแบบแสดงรายการเท่านั้น และไม่ทำให้ภาษีที่ต้องชำระเปลี่ยนแปลงไป จึงขออนุโลมให้ใช้แบบ ภ.ง.ด.91 ดังกล่าว เป็นการยื่นแบบ ภ.ง.ด.90 ตามแบบที่อธิบดีกำหนดไว้แล้ว ซึ่งทำให้นาย ก. ได้ยื่นแบบแสดงรายการและชำระภาษีตามประมวลรัษฎากรไว้แล้ว
ในบางกรณี ผู้มีหน้าที่เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาเลือกแบบแสดงรายการภาษีถูกต้อง แต่มีความผิดหลงในการกรอกแบบฯ เช่น กรอกชื่อและชื่อสกุลของตนเองถูกต้อง แต่กรอกเลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากรของบุคคลอื่น โดยเข้าใจว่าเป็นเลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากรของตนเอง หรือให้บุคคลอื่นกรอกแบบแสดงรายการภาษีให้ตนเอง โดยนำบัตรประชาชนของบุคคลอื่นมากรอกแบบฯ เนื่องจากสำคัญผิดว่าเป็นของตนเอง ทำให้รายการชื่อ ที่อยู่ และเลขประจำตัวผู้เสียภาษีไม่ตรงตามความเป็นจริง และผู้ที่มีชื่อในบัตรประชาชนได้ยื่นแบบฯ และชำระภาษีแล้ว
กรณีดังกล่าว ผู้มีหน้าที่เสียภาษีต้องพิสูจน์ข้อผิดพลาดให้เจ้าพนักงานสรรพากรเข้าใจว่าไม่ได้ยื่นแบบฯ ผิดหน่วยภาษี และแบบฯ ที่ยื่นนั้นมีเฉพาะรายการชื่อ ที่อยู่ และเลขประจำตัวผู้เสียภาษีไม่ถูกต้องเท่านั้น อีกทั้งจำนวนเงินภาษีที่ได้ชำระให้กรมสรรพากรไปแล้วนั้นไม่เปลี่ยนแปลงไป จึงไม่ต้องยื่นแบบฯ ฉบับใหม่และเสียเงินเพิ่มให้กรมสรรพากร กรณีดังกล่าว เจ้าพนักงานสรรรพากรมีหน้าที่แก้ไขข้อมูลรายการในแบบฯ ให้ถูกต้องตามข้อมูลของผู้เสียภาษีเท่านั้น


   
      บางส่วนจากบทความ "2 กรณีศึกษาปัญหาการยื่นแบบของบุคคลธรรมดา"
      อ่านบทความฉบับสมบูรณ์ได้ที่..วารสารเอกสารภาษีอากร ปีที่ 41  ฉบับที่ 485 เดือนกุมภาพันธ์ 2565
     หรือสมัครสมาชิก “วารสารเอกสารภาษีอากร” เพื่อรับสิทธิอ่านและสืบค้นบทความ ผ่านระบบ e- Magazine Index




Tax Talk : Tax How to : กองบรรณาธิการ
วารสาร : เอกสารภาษีอากร  กุมภาพันธ์ 2565



FaLang translation system by Faboba