ระบบศุลกากรผ่านแดนอาเซียน (ASEAN Customs Transit System : ACTS)

โดย

 

 
ระบบศุลกากรผ่านแดนอาเซียน
หลักเกณฑ์เกี่ยวกับ “สินค้า”



โดยหลักการแล้ว สินค้าในทางธุรกิจทั่วๆไปที่ผู้ประกอบการมีความประสงค์จะนำเข้าหรือส่งออกเพื่อส่งมอบหรือซื้อขายกัน
ในทางการค้าระหว่างประเทศนั้น ผู้ประกอบการผ่านแดนอาเซียนย่อมสามารถที่จะทำการขนส่งและปฏิบัติพิธีการศุลกากร
ผ่านแดนอาเซียนนั้นได้เสมอ
แต่หากสินค้าที่จะผ่านแดนมีลักษณะเป็น “ของต้องห้าม” (Prohibited Goods) ซึ่งความในมาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2560 บัญญัติให้หมายความว่า “ของที่มีกฎหมายกำหนดห้ามมิให้นำเข้ามาในหรือส่งออกไปนอกราชอาณาจักร หรือนำผ่านราชอาณาจักร” กล่าวโดยเฉพาะคือ เป็นของที่มีกฎหมายกำหนดว่าห้ามนำเข้ามาในประเทศไทยหรือห้ามส่งออกไปจากประเทศไทย แม้กระทั่งการส่งผ่านแดนประเทศไทยก็ห้ามส่งผ่านโดยเด็ดขาด แน่นอนว่าสินค้าที่มีลักษณะเช่นนั้น
แม้ผู้ซื้อและผู้ขายจะอยู่นอกประเทศ และสินค้านั้นมีปลายทางอยู่นอกประเทศไทย แต่การนำผ่านประเทศไทยก็ย่อมเป็น
การขัดต่อกฎหมายไทยอย่างชัดแจ้ง ถึงขนาดเป็นการละเมิดอำนาจอธิบไตยของไทย เช่นนี้ย่อมไม่สามารถใช้ดินแดนประเทศไทยเป็นเส้นทางในการปฏิบัติพิธีการศุลกากรผ่านแดนได้
และอีกกรณีหนึ่งคือ หากสินค้านั้นเป็น “ของต้องกำกัด” (Restricted Goods) ซึ่งความในมาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2560 บัญญัติให้หมายความว่า “ของที่มีกฎหมายกำหนดว่าหากจะมีการนำเข้ามาในหรือส่งออกไปนอกราชอาณาจักร หรือนำผ่านราชอาณาจักรจะต้องได้รับอนุญาตหรือปฏิบัติให้ครบถ้วนตามที่กำหนดไว้ในกฎหมาย” โดยหลักแล้วสินค้านั้นย่อมสามารถนำเข้า ส่งออก หรือส่งผ่านประเทศไทยได้ อย่างไรก็ตาม แม้สินค้านั้นจะมิได้นำไปใช้หรือมิได้บริโภค
ในประเทศไทย แต่ก็ยังคงต้องอยู่ในความควบคุมของกฎหมายโดยจะต้องได้รับอนุญาตหรือปฏิบัติให้ครบถ้วนตามหลักเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนด
กฎหมายเกี่ยวกับของต้องห้ามหรือของต้องกำกัดในการปฏิบัติพิธีการศุลกากรผ่านแดนอาเซียนนั้น ถูกกำหนดไว้เป็นการเฉพาะตามประกาศกรมศุลกากรที่ 169/2563 ลงวันที่ 27 ตุลาคม 2563 ให้ประกอบด้วยกฎหมายในระดับพระราชบัญญัติจำนวน 17 ฉบับ ประกอบด้วย
(1) พระราชบัญญัติอาวุธปืนเครื่องกระสุนปืนวัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. 2490
(2) พระราชบัญญัติควบคุมการส่งออกไปนอกราชอาณาจักร ซึ่งอาวุธยุทธภัณฑ์และสิ่งที่ใช้ในการสงคราม พ.ศ. 2495
(3) พระราชบัญญัติกักพืช พ.ศ. 2507
(4) พระราชบัญญัติพันธุ์พืช พ.ศ. 2518
(5) พระราชบัญญัติปุ๋ย พ.ศ. 2518
(6) พระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522
(7) พระราชบัญญัติควบคุมยุทธภัณฑ์ พ.ศ. 2530
(8) พระราชบัญญัติวัตถุอันตราย พ.ศ. 2535
(9) พระราชบัญญัติโรคระบาดสัตว์ พ.ศ. 2558
(10) พระราชบัญญัติการส่งออกไปนอกและการนำเข้ามาในราชอาณาจักรซึ่งสินค้า พ.ศ. 2522 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดย
พระราชบัญญัติการส่งออกไปนอกและการนำเข้ามาในราซอาณาจักรซึ่งสินค้า (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2558
(11) พระราชบัญญัติเชื้อโรคและพิษจากสัตว์ พ.ศ. 2558
(12) พระราชบัญญัติงาช้าง พ.ศ. 2558
(13) พระราชกำหนดการประมง พ.ศ. 2558
(14) พระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ. 2559
(15) พระราชบัญญัติพลังงานนิวเคลียร์เพื่อสันติ พ.ศ. 2559
(16) พระราชบัญญัติการควบคุมสินค้าที่เกี่ยวข้องกับการแพร่ขยายอาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างสูง พ.ศ. 2562
(17) พระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562
นอกเหนือจากกฎหมายทั้ง 17 ฉบับแล้ว ในกรณีที่มีการบังคับใช้กฎหมายอื่นๆ เกี่ยวกับข้อห้ามหรือข้อจำกัดสำหรับการ
นำผ่าน ผู้ประกอบการผ่านแดนอาเซียนก็ต้องปฏิบัติให้ถูกต้องตามกฎหมายนั้นๆ ด้วยเช่นกัน ทั้งนี้ ในกรณีที่สินค้านั้นเป็นของต้องกำกัด ซึ่งโดยปกติแล้วจะต้องได้รับอนุญาตหรือปฏิบัติให้ครบถ้วนตามที่กำหนดไว้ในกฎหมาย แต่หากกฎหมายนั้นเองได้กำหนดข้อยกเว้นเพื่อความสะดวกในการผ่านแดนไว้เป็นการเฉพาะว่า หากเป็นการผ่านแดนประเทศไทยแม้ของนั้นจะเป็นของต้องกำกัดก็ไม่ต้องขออนุญาต เช่น พระราชบัญญัติภาษีสรรพสามิต พ.ศ. 2560 มาตรา 154 วรรคสี่ มาตรา 166 วรรคสี่ และมาตรา 175 วรรคสี่ ที่กำหนดไว้ในลักษณะเดียวกันว่า กฎหมายเกี่ยวกับการขออนุญาตนำสินค้าสุรา ยาสูบ และไพ่ เข้ามา
ในประเทศนั้น มิให้ใช้บังคับกับการผ่านแดนตามกฎหมายศุลกากร ดังนั้นสินค้าสุรา ยาสูบ และไพ่ ที่ผ่านแดนประเทศไทย
เพื่อไปสู่ประเทศปลายทางในอาเซียน สามารถปฏิบัติพิธีการระบบศุลกากรผ่านแดนอาเซียนได้โดยไม่ต้องขออนุญาตแต่อย่างใด
การฝ่าฝืนโดยการนำของต้องห้ามหรือของต้องกำกัดเข้ามาในประเทศ หรือส่งของดังกล่าวออกไปนอกประเทศ หรือนำของเข้าเพื่อการผ่านแดนโดยหลีกเลี่ยงข้อจํากัดหรือข้อห้ามอันเกี่ยวกับของนั้น ย่อมมีความผิดและต้องรับโทษตามกฎหมาย
เฉพาะต่างๆ ที่กำหนดไว้ นอกจากนี้ ยังเป็นความผิดฐานหลีกเลี่ยงข้อห้ามหรือข้อกำกัด ตามมาตรา 244 แห่งพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2560 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 10 ปี หรือปรับไม่เกิน 500,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และศาลอาจสั่งริบของนั้นก็ได้ ไม่ว่าจะมีผู้ถูกลงโทษตามคำพิพากษาหรือไม่


   
      สำหรับหลักเกณฑ์เกี่ยวกับ “หลักประกัน” และหลักเกณฑ์เกี่ยวกับ “พิธีการศุลกากร”  ติดตามได้จากบทความ  ระบบศุลกากรผ่านแดนอาเซียน (ASEAN Customs Transit System : ACTS)  (ตอนจบ) 
      อ่านบทความฉบับเต็มได้ใน... วารสารเอกสารภาษีอากร ปีที่ 40 ฉบับที่ 479 เดือนสิงหาคม  2564 




Tax Talk : Customs Duty : รติรัตน์ คงเอียด
วารสาร : เอกสารภาษีอากร กันยายน 2564 



FaLang translation system by Faboba