สรุปประเด็นที่เปลี่ยนแปลงในการตัดหนี้สูญทางภาษี

โดย

 

 

เมื่อวันที่ 28 เมษายน พ.ศ. 2564 ได้มีการประกาศในราชกิจจานุเบกษาแก้ไขเพิ่มเติมกฎกระทรวงฉบับที่ 186 และให้มีผลใช้
บังคับสำหรับรอบบัญชีที่เริ่มในหรือหลังวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2563 ผู้เขียนจึงจะขอสรุปให้ผู้อ่านได้เห็น
ประเด็นที่เปลี่ยนแปลงในการตัดหนี้สูญทางภาษีเพื่อให้เข้าใจง่ายขึ้นกว่าการอ่านกฎหมายเอง และนำไปใช้ในการวางแผน
ดำเนินการให้สามารถตัดรายจ่ายหนี้สูญได้โดยไม่เป็นรายจ่ายต้องห้ามทางภาษีดังนี้

หนี้ของลูกหนี้แต่ละรายไม่เกิน 100,000 บาท แก้ไขเป็น 200,000 บาท
เดิมกฎกระทรวงฉบับที่ 186 กำหนดให้หนี้ของลูกหนี้แต่ละรายไม่เกิน 200,000 บาท ใช้เฉพาะสถาบันการเงิน และ
100,000 บาทสำหรับกรณีอื่นๆ ที่จะตัดหนี้สูญได้ ต้องมีหลักฐานการติดตามทวงถามให้ชำระหนี้ตามสมควรแก่กรณีแล้ว
แต่ไม่ได้รับชำระหนี้ และหากจะฟ้องลูกหนี้จะต้องเสียค่าใช้จ่ายไม่คุ้มกับหนี้ที่จะได้รับชำระ ในการแก้ไขใหม่ได้เปลี่ยนวงเงิน
ลูกหนี้แต่ละรายไม่เกิน 200,000 บาท โดยใช้กับทุกธุรกิจ ส่วนหลักเกณฑ์อย่างอื่นเหมือนเดิม

หนี้ของลูกหนี้แต่ละรายไม่เกิน 500,000 บาท แก้ไขเป็น 2,000,000 บาท
นอกจากการแก้ไขวงเงินแล้ว หลักเกณฑ์อื่นๆ เหมือนเดิม เว้นแต่มีการแก้ไขเพิ่มเติมอีกคือ
1. เพิ่มเติมรวมถึงในคดีที่ผู้ชำระบัญชีร้องขอให้ศาลพิพากษาให้ลูกหนี้เป็นบุคคลล้มละลาย และศาลได้มีคำสั่งรับคำฟ้อง
นั้นแล้ว หรือได้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ในคดีที่ลูกหนี้ถูกเจ้าหนี้รายอื่นฟ้องในคดีล้มละลาย และเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์หรือ
ศาล แล้วแต่กรณี ได้มีคำสั่งรับคำขอรับชำระหนี้นั้นแล้ว
2. เพิ่มเติมถึงหนี้ที่ได้กระทำในต่างประเทศ หรือการดำเนินการอื่นในลักษณะทำนองเดียวกันที่ได้กระทำในต่างประเทศ
ต้องมีเอกสารหลักฐานแห่งการดำเนินการที่ผู้มีอำนาจตามกฎหมายของประเทศนั้นๆ ออกให้ และหลักฐานดังกล่าว ต้องได้รับ
การรับรองคำแปลจากภาษาต่างประเทศเป็นภาษาไทย ตามระเบียบของกระทรวงการต่างประเทศ ว่าด้วยการรับรองเอกสาร
3. มีหลักเกณฑ์พิเศษสำหรับหนี้ของลูกหนี้แต่ละรายไม่เกิน 2,000,000 บาท ของรอบบัญชีที่เริ่มในหรือหลัง
วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2563 แต่ไม่เกินวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2563 ที่หลักเกณฑ์ปกติต้องมีการให้กรรมการหรือหุ้นส่วน
ผู้จัดการของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วน นิติบุคคลผู้เป็นเจ้าหนี้ ต้องมีคำสั่งอนุมัติให้จำหน่ายหนี้นั้นเป็นหนี้สูญจากบัญชีลูกหนี้
ภายใน 30 วัน นับแต่วันสิ้นรอบระยะเวลาบัญชี แต่เนื่องจากกฎหมายออกมาเกินระยะเวลาที่จะดำเนินการได้ จึงมีการกำหนด
เพิ่มเติมให้กรรมการหรือหุ้นส่วน ผู้จัดการของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลผู้เป็นเจ้าหนี้มีคำสั่งอนุมัติให้จำหน่ายหนี้นั้นเป็น
หนี้สูญจากบัญชีลูกหนี้ได้ภายใน 60 วัน นับแต่วันสิ้นรอบระยะเวลาบัญชีนั้น หรือภายใน 60 วัน นับตั้งแต่วันที่กฎกระทรวงนี้
ประกาศในราชกิจจานุเบกษา (วันที่ 28 เมษายน พ.ศ. 2564) แล้วแต่วันใดจะเป็นวันหลัง

หนี้ของลูกหนี้แต่ละรายเกิน 500,000 บาท แก้ไขเป็นเกิน 2,000,000 บาท
นอกจากการแก้ไขวงเงิน หลักเกณฑ์การดำเนินการตัดหนี้สูญอื่นเหมือนเดิม เว้นแต่มีการแก้ไขเพิ่มเติมอีกคือ
1. เพิ่มเติมกรณีฟ้องลูกหนี้ในคดีแพ่ง หรือได้ยื่นคำขอเฉลี่ยหนี้ในคดีที่ลูกหนี้ถูกเจ้าหนี้รายอื่นฟ้องในคดีแพ่ง โดยได้มี
หมายบังคับคดีของศาลแล้ว และมีรายงานการบังคับคดีครั้งแรกของเจ้าพนักงานบังคับคดี อันสามารถแสดงได้ว่าได้มี
การดำเนินการบังคับคดีแล้ว แต่ลูกหนี้ไม่มีทรัพย์สินใดจะชำระหนี้ได้ ก่อนแก้ไขกฎกระทรวงฉบับที่ 186 ต้องมีหมายบังคับ
คดีของศาลที่จะต้องพิสูจน์ว่าลูกหนี้ไม่มีทรัพย์สินใดจะชำระหนี้ได้ซึ่งเป็นการยากที่จะพิสูจน์ เพราะยังคงต้องมีขั้นตอน
การติดตามทรัพย์ต่อ แต่ได้แก้ไขกฎกระทรวงฉบับที่ 186 ให้ชัดเจนว่า เพียงมีรายงานบังคับคดีของเจ้าพนักงานบังคับคดี
ครั้งแรก แต่ลูกหนี้ไม่มีทรัพย์สินใดจะชำระหนี้ได้ ก็สามารถตัดเป็นหนี้สูญทางภาษีได้
2. เพิ่มเติมรวมถึงในคดีที่ผู้ชำระบัญชีร้องขอให้ศาลพิพากษาให้ลูกหนี้เป็นบุคคลล้มละลาย และศาลได้มีคำสั่งรับคำฟ้อง
นั้นแล้ว หรือได้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ในคดีที่ลูกหนี้ถูกเจ้าหนี้รายอื่นฟ้องในคดีล้มละลาย และเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ หรือ
ศาลแล้วแต่กรณี ได้มีคำสั่งรับคำขอรับชำระหนี้นั้นแล้ว
3. เพิ่มเติมถึงหนี้ที่ได้กระทำในต่างประเทศ หรือการดำเนินการอื่นในลักษณะทำนองเดียวกันที่ได้กระทำในต่างประเทศ
ต้องมีเอกสารหลักฐานแห่งการดำเนินการที่ผู้มีอำนาจตามกฎหมายของประเทศนั้นๆ ออกให้ และหลักฐานดังกล่าว ต้องได้รับ
การรับรองคำแปลจากภาษาต่างประเทศเป็นภาษาไทย ตามระเบียบของกระทรวงการต่างประเทศ ว่าด้วยการรับรองเอกสาร

การแก้ไขกฎกระทรวงฉบับที่ 186 ของกรมสรรพากรครั้งนี้ช่วยบรรเทาและให้ความชัดเจนในทางปฏิบัติต่อผู้ประกอบการเป็น
อย่างดี ไม่ว่าจะเป็นการเพิ่มวงเงิน วิธีการ การให้ตัดหนี้สูญต่างประเทศ ซึ่งประเด็นต่างๆ เหล่านี้ภาคเอกชนได้เรียกร้อง
กรมสรรพากรให้ทำการปรับปรุงมาโดยตลอดเพื่อความเหมาะสม


   
      บางส่วนจากบทความ “สรุปประเด็นที่เปลี่ยนแปลงในการตัดหนี้สูญทางภาษี ”
      อ่านบทความฉบับเต็มได้ใน... วารสารเอกสารภาษีอากร ปีที่ 40 ฉบับที่ 478 เดือน กรกฎาคม  2564 




Tax Talk : Tax Vision : ชลลดา ฟูวัฒนศิลป์
วารสาร : เอกสารภาษีอากร กรกฎาคม 2564 



FaLang translation system by Faboba