กฎหลัก 3 ข้อจัดการการเงินพื้นฐาน สำหรับมนุษย์เงินเดือนทุกคน

โดย

 

 
 กฎหลัก 3 ข้อจัดการการเงินพื้นฐาน สำหรับมนุษย์เงินเดือนทุกคน

ในช่วงเวลาวิกฤตแบบนี้ การจัดการการเงินยิ่งถือว่าเป็นเรื่องที่สำคัญมากๆ เพื่อให้เราผ่านวิกฤตในตอนนี้และ สิ่งที่อาจจะเกิด
ขึ้นในอนาคตไปด้วยกันครับ เรามาเริ่มกันที่ข้อแรกเลยดีกว่าครับ นั่นคือ 

1. กระแสเงินสด คือ สิ่งสำคัญที่สุด
อันดับแรก การจัดการเงินที่สำคัญที่สุด คือการมีสภาพคล่อง หรือกระแสเงินสดเพียงพอต่อการดำรงชีวิตพื้นฐานของเรา
เสียก่อนครับ โดยกระแสเงินสดที่ว่านี้ เริ่มต้นจากหลักการพื้นฐานอย่างการมีรายได้มากกว่ารายจ่าย (หรืออีกนัยหนึ่งคือ
มีเงินเข้ามากกว่าเงินออก) ซึ่งเราต้องกลับมาย้อนดูจากตัวเราก่อนว่า ทุกวันนี้เรามีรายจ่าย (หรือเงินออกจากกระเป๋า)
อะไรบ้าง? ซึ่งตัวรายจ่ายสำคัญๆ นั้น ประกอบด้วย
● รายจ่ายในการดำรงชีวิตต่างๆ เช่น ค่าใช้จ่ายกินอยู่ ค่าน้ำ ค่าไฟ หรือแม้แต่ค่าใช้จ่ายดูแลตัวเองต่างๆ ลองตรวจสอบ
ดูว่า ค่าใช้จ่ายในส่วนนี้มีอะไรที่ลดลงได้บ้าง รวมถึงอาจจะมีค่าใช้จ่ายแฝงอะไรที่เพิ่มขึ้นมาโดยที่ไม่รู้ตัว ดังนั้น ถ้าหากเรา
ตอบตรงนี้ได้ก่อนว่า รายจ่ายขั้นต่ำพื้นฐานในการดำรงชีวิตของเราคืออะไร และมีจำนวนเท่าไร ก็จะช่วยให้
เราสามารถประมาณการใช้จ่ายตรงนี้ได้อย่างเหมาะสมมากยิ่งขึ้นครับ
รายจ่ายคงที่ในด้านอื่นๆ อย่างเช่น หนี้สินที่ต้องจ่ายเป็นประจำ ค่าใช้จ่ายประจำบางรายการที่มาตามกำหนด อย่าง
ค่าเบี้ยประกันภัย หรือค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับครอบครัวที่ต้องดูแล ซึ่งต้องจ่ายรายเดือน
ประเด็นที่อยากจะแนะนำก็คือ ให้ตัดรายจ่ายที่ไม่จำเป็นออกครับ แต่ถ้าให้ตอบว่ารายจ่ายตัวไหนไม่จำเป็นบ้าง
ผมเชื่อว่าทุกคนคงบอกว่ารายจ่ายทุกตัวจำเป็นหมดใช่ไหมล่ะครับ แต่ถ้าหากเราลองพิจารณาดีๆ บางทีมันอาจมีอะไร
ซ่อนอยู่ในนั้นเหมือนกันครับ
แต่ตรงนี้ขอบอกก่อนว่า หลักการที่สำคัญในการดูว่ารายจ่ายตัวไหนจำเป็นหรือไม่จำเป็น ให้ดูที่การช่วยสร้างรายได้ให้
กับเราเป็นหลัก ก็พอจะตัดสินใจได้อีกระดับหนึ่งครับ เช่น บางคนอาจจะบอกว่าค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับรถไม่จำเป็น แต่บางคน
อาจจะต้องใช้รถเพื่อสร้างรายได้หลัก แบบนี้ก็อาจจะจำเป็นเหมือนกันนะครับ
อีกทางหนึ่ง คือ การจัดการหนี้ สำหรับคนที่มีกระแสเงินสดดีก็คอยระวังไม่ให้มีหนี้เกินตัวครับ (อัตราส่วนที่ผม
แนะนำ คือ ไม่เกิน 40% ของรายได้)
แต่สำหรับคนที่เจอวิกฤตแล้วไม่ไหว ต้องรีบหาทางจัดการให้ไวที่สุดครับ
ไม่ว่าจะเป็น การขยายเวลาผ่อนชำระหนี้ การขอพักชำระเงินต้น (จ่ายแต่ดอกเบี้ย) การขอหยุดชำระหนี้ (ไม่จ่าย แต่ยัง
คิดดอกเบี้ยอยู่) หรือ การเจรจาพูดคุยกับเจ้าหนี้ (ที่ไม่ใช่ธนาคาร) เรื่องการผัดผ่อนการจ่าย จ่ายขั้นต่ำต่างๆ เพื่อให้
เรามีกระแสเงินสดคงเหลือมากที่สุดครับ
อย่างไรก็ดี ทั้งสองประเด็นสำคัญเหมือนกันตรงที่ว่า เราต้องการลดจำนวนเงินที่ออกจากกระเป๋าเราลงให้มากที่สุด
เพื่อเพิ่มสภาพคล่องให้มากที่สุด
ครับ
หลังจากที่มีกระแสเงินสด สิ่งที่อยากแนะนำต่อ คือ เงินสำรองและการป้องกันความเสี่ยงครับ

2. เงินสำรองและการป้องกันความเสี่ยง
การจัดการเงินสำรองก็เป็นสิ่งสำคัญครับ เพราะเราไม่รู้ว่ากระแสเงินสดที่เรามีมันจะคงอยู่ตลอดไปได้หรือไม่ ดังนั้น
การมีเสบียงสำรองไว้นั้นเป็นเรื่องที่ควรทำ ซึ่งโดยปกติแล้วเงินสำรองที่เหมาะสมจะอยู่ที่การสำรองไว้สำหรับรายจ่าย
6 เดือน (ขั้นต่ำ) แต่ในช่วงวิกฤตที่ผ่านมา ผมมองว่ายิ่งมีมากยิ่งดีครับ
สิ่งที่คนเรามักจะพลาดเรื่องการเงินเสมอๆ มันคือการคิดว่า เราจะมีชีวิตอยู่แบบนี้ตลอดไป ไม่มีปัญหาใดๆ เข้ามา แต่ใน
ชีวิตจริง เงินฉุกเฉินตรงนี้แหละครับคือสิ่งที่เราต้องมีไว้เป็นเกราะกำบังชีวิต ในวันที่เหตุการณ์ไม่คาดคิดเกิดขึ้น และมัน
สามารถเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา ดังนั้นอย่าประมาทนะครับ
อีกเรื่องหนึ่งคือการป้องกันความเสี่ยงชีวิตครับ ในส่วนของประกันต่างๆ ผมก็มองว่าควรจะมีให้ครอบคลุมและรอบด้าน
(ในจำนวนที่เหมาะสม) เพื่อให้เราไม่ต้องเสียเงินก้อนใหญ่ หากมีเหตุร้ายเกิดขึ้นมาจริงๆ
ทุกอย่างเกิดขึ้นได้เสมอครับ ดังนั้นป้องกันและจัดการไว้ให้ดี นี่คือ สิ่งที่เราทุกคนควรป้องกันครับ และถ้าเราพร้อมแล้ว
เราไปกันที่ข้อสามกันต่อเลยครับ นั่นคือ การจัดการรายได้

3. รายได้เพิ่ม รายได้หลายทาง คือ ทางออก
ผมมักจะชวนทุกคนตั้งคำถามว่า รายได้ทุกวันนี้มีโอกาสลดลงหรือไม่ โดยเฉพาะรายได้หลักจากการทำงานของเรา
ถ้ามีโอกาสจะได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ที่ไม่ปกติในช่วงเวลาต่างๆ เช่น การลดเงินเดือนลง หรือการต้องออกจาก
งานอย่างไม่คาดฝัน ฯลฯ
โดยคำแนะนำจากประสบการณ์ตรงของผม คือ ไม่ว่าจะสถานการณ์ใดก็ตาม เราต้องพยายามหากระแสเงินสดเ
ข้าให้มากที่สุด
และปรับสภาพให้เหมาะสมกับสิ่งที่เราทำ บางทีเราต้องยินดีทำงานหนักแม้ว่าจะได้เงินน้อยลง
(เพื่อรักษาสถานะและการอยู่รอดในช่วงนี้ก่อน) หรือ อาจจะต้องยอมเสียสละเวลาส่วนตัวมากขึ้นเพื่อให้ได้เงินมากขึ้น
(เพื่อรักษาสภาพคล่อง) ซึ่งตรงนี้ต้องบอกกันตรงๆ ครับว่า ไม่ใช่ทุกคนที่ทำได้ แต่ทำได้เฉพาะคนที่มีงานและ
ความสามารถในการจัดการตัวเองอยู่ระดับหนึ่งครับ
ถ้าใครมีโอกาสในการศึกษาความรู้เรื่องการลงทุนเพิ่มเติม หรือการจัดการการเงินต่างๆ ผมก็แนะนำว่าควรทำไปด้วยกันครับ
เพราะความรู้ในการลงทุน จัดการเงินเหล่านี้ จะช่วยให้เราสร้างรายได้ในอนาคตได้ดีขึ้น รวมถึงทำให้เรามีเงินก้อนมากยิ่งขึ้น
ซึ่งแน่นอนว่ามีความเสี่ยง ดังนั้น จึงเน้นย้ำว่าควรศึกษาให้ชัดเจนและทำความเข้าใจให้ดีก่อนที่จะตัดสินใจครับ
นอกจากนั้นอาจจะต้องถามตัวเองต่อว่า ตอนนี้พอมีอะไรสร้างกระแสเงินสดให้เราได้บ้าง ซึ่งผมคิดว่านี่เป็นคำถามที่เราทุกคน
ต้องถามเผื่อเอาไว้ด้วยเหมือนกันครับ
อย่างไรก็ดี จาก 3 ข้อที่เล่ามาทั้งหมดนี้ สิ่งที่เราควรมีเพิ่มเติม คือ บัญชีรายรับรายจ่าย เพื่อให้เรามีข้อมูลต่างๆ
ในการวิเคราะห์และทำความเข้าใจข้อมูลเหล่านี้ได้อย่างถูกต้องไปด้วยครับ บัญชีรายรับรายจ่ายจะทำให้เรารู้ว่า เรามี
รายจ่ายอะไรบ้าง เราต้องสำรองเงินไว้เท่าไร และเราควรจะต้องวางแผนรายได้อย่างไร ซึ่งจะช่วยตอบโจทย์ทั้ง 3 ข้อนี้
ได้อย่างชัดเจนครับ


  บางส่วนจากบทความ  “กฎหลัก 3 ข้อจัดการการเงินพื้นฐาน สำหรับมนุษย์เงินเดือนทุกคน”
  อ่านบทความเต็มได้ใน... วารสาร HR Society magazine ปีที่ 18 ฉบับที่ ฉบับที่ 221 เดือนมิถุนายน 2564

Life Style : Smart Money for Salaryman : TaxBugnoms
วารสาร : HR Society Magazine มิถุนายน 2564



FaLang translation system by Faboba