สรรพากรพร้อมให้บริการการยืนยันตัวตนทางดิจิทัลผ่าน NDID เพิ่มความปลอดภัยในการทำธุรกรรมออนไลน์

โดย

 



สรรพากรพร้อมให้บริการการยืนยันตัวตนทางดิจิทัลผ่าน NDID เพิ่มความปลอดภัยในการทำธุรกรรมออนไลน์

กรมสรรพากร ร่วมกับ ธนาคารแห่งประเทศไทย ธนาคารพาณิชย์ และบริษัท เนชั่นแนลดิจิทัลไอดี จำกัด พัฒนาการยืนยัน
ตัวตนทางดิจิทัลผ่าน NDID Platform เพื่ออำนวยความสะดวก และเพิ่มความปลอดภัย ป้องกันการแอบอ้างใน
การทำธุรกรรมออนไลน์ โดยเริ่มจากการยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา (e-Filing) และการตรวจสอบ
ค่าลดหย่อนภาษี (My Tax Account) ที่เริ่มเปิดให้บริการมาตั้งแต่วันที่ 18 มีนาคม 2564 ที่ผ่านมา

โดยการยืนยันตัวตนดังกล่าวจะมีธนาคารพาณิชย์เป็นผู้ให้บริการผ่านโมบายล์แอปพลิเคชันของธนาคาร สร้างความมั่นใจว่า
ผู้ใช้บริการธุรกรรมออนไลน์บนเว็บไซต์กรมสรรพากรเป็นบุคคลนั้นๆ จริง มีการรักษาความปลอดภัยของข้อมูล เมื่อผู้ใช้บริการ
ซึ่งเป็นเจ้าของข้อมูลให้ความยินยอม (Consent) และผู้ใช้บริการสามารถต่อยอดการยืนยันตัวตน ไปถึงการใช้บริการอื่นๆ
ที่จะมีขึ้นในอนาคตได้ ปัจจุบันมีธนาคารที่ร่วมให้บริการทั้งหมด 8 ธนาคาร ได้แก่ ธนาคารกรุงเทพ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา
ธนาคารกรุงไทย ธนาคารกสิกรไทย ธนาคารเกียรตินาคินภัทร ธนาคาร ซีไอเอ็มบีไทย ธนาคารทหารไทย
และธนาคารไทยพาณิชย์ โดยไม่มีค่าใช้จ่าย

การที่กรมสรรพากรนำเทคโนโลยีมาใช้ในระบบการให้บริการด้านภาษีนั้นจะช่วยให้ผู้ประกอบการและผู้เสียภาษี
สามารถทำธุรกรรมภาษีได้ง่าย ลดต้นทุน และมีความปลอดภัยในการเข้าถึงข้อมูลส่วนบุคคลและการใช้บริการอิเล็กทรอนิกส์
ของกรมสรรพากร ซึ่งเป็นสิ่งที่สำคัญมากในปัจจุบัน

สำหรับผู้ที่มีข้อสงสัยสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ศูนย์สารนิเทศสรรพากร (RD Intelligence Center) โทร. 1161
หรือที่สำนักงานสรรพากรทุกแห่งทั่วประเทศ

ที่มา : กรมสรรพากร


กรมพัฒน์ฯ ปรับแผนตรวจนอมินี...ยุคโควิด-19 เน้นตรวจสอบเชิงแนะนำ...ให้ปฏิบัติถูกต้องตามกฎหมาย

นายทศพล ทังสุบุตร อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า กรมพัฒนาธุรกิจการค้าดำเนินการติดตาม
ตรวจสอบนิติบุคคลไทยที่มีคนต่างด้าวร่วมถือหุ้นที่อาจมีลักษณะนอมินีมาโดยตลอดอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2563 ธุรกิจ
เป้าหมายที่ตรวจสอบ ได้แก่ ธุรกิจท่องเที่ยว อสังหาริมทรัพย์ และโรงแรม รีสอร์ท สำหรับกลุ่มธุรกิจท่องเที่ยวได้บูรณาการ
การตรวจสอบร่วมกับกรมการท่องเที่ยว กรมสอบสวนคดีพิเศษ และตำรวจท่องเที่ยวในพื้นที่แหล่งท่องเที่ยวสำคัญ
และเป็นแหล่งที่มีคนต่างชาติมาลงทุน

โดยผลการตรวจสอบเบื้องต้น พบนิติบุคคลน่าสงสัยว่าอาจมีพฤติกรรมเข้าข่ายเป็นความผิดนอมินี จำนวน 3 ราย ประกอบ
ธุรกิจท่องเที่ยวและเกี่ยวเนื่อง 2 ราย (จังหวัดชลบุรีและเชียงใหม่) และธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ 1 ราย (จังหวัดประจวบคีรีขันธ์)
ซึ่งกรมฯ ได้ส่งข้อมูลให้กรมสอบสวนคดีพิเศษสืบสวนสอบสวนเชิงลึกเพิ่มเติม เช่น ตรวจสอบความสัมพันธ์ของคนไทยกับ
ชาวต่างชาติ ตรวจสอบเส้นทางการเงิน ตรวจสอบการจ่ายชำระภาษี ฯลฯ เป็นต้น ซึ่งหากเข้าข่ายเป็นความผิดนอมินี
กรมพัฒนาธุรกิจการค้าจะร้องทุกข์กล่าวโทษตามขั้นตอนของกฎหมายต่อไป

สำหรับปี 2564 กรมฯ กำหนดกลุ่มธุรกิจเป้าหมาย 3 ประเภทธุรกิจ คือ ธุรกิจท่องเที่ยวและเกี่ยวเนื่อง ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์
และธุรกิจที่เกี่ยวกับการเกษตร (ล้ง) ในพื้นที่ 9 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดภูเก็ต เชียงใหม่ สุราษฎร์ธานี กระบี่ ชลบุรี ระยอง
ประจวบคีรีขันธ์ เพชรบุรี และกรุงเทพมหานคร

อย่างไรก็ดี ด้วยสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ระลอกใหม่ที่แพร่กระจายใน
หลายพื้นที่ส่งผลกระทบต่อภาคธุรกิจจำนวนมากทำ กรมฯ และหน่วยงานพันธมิตรได้ปรับแผนการตรวจสอบฯ โดยจะเน้น
ตรวจสอบเชิงแนะนำการปฏิบัติให้ถูกต้องตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง เช่น การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว การขออนุญาต
ประกอบธุรกิจนำเที่ยว รวมถึงมีการติดตามและประเมินสถานการณ์การแพร่ระบาดก่อนดำเนินการต่อไป อย่างไรก็ตาม
หากตรวจพบการกระทำผิดจะส่งดำเนินคดีให้ถึงที่สุดทุกราย 

ปัญหาเรื่องนอมินีเป็นปัญหาใหญ่ระดับประเทศที่ส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจและภาพลักษณ์ของประเทศในวงกว้าง
หากไม่สามารถแก้ไขปัญหานี้ได้จะทำให้ไทยเสียโอกาสทางเศรษฐกิจและสูญเสียรายได้เป็นอย่างมาก ดังนั้น กรมฯ
จึงขอเตือนคนไทยที่ให้ความช่วยเหลือ สนับสนุน หรือถือหุ้นแทนคนต่างด้าว เพื่อให้คนต่างด้าวสามารถประกอบธุรกิจ
โดยหลีกเลี่ยงหรือฝ่าฝืนกฎหมาย คนไทยที่ถือหุ้นแทนคนต่างด้าวในลักษณะนอมินี รวมทั้งกรรมการบริษัทก็ต้องรับผิดด้วย
โดยมีความผิดโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับตั้งแต่ 100,000-1,000,000 บาท หรือ ทั้งจำทั้งปรับ และยังมีโทษปรับ
รายวันอีกวันละ 10,000-50,000 บาท

ที่มา : กรมพัฒนาธุรกิจการค้า 


Learning : Happening : กองบรรณาธิการ
วารสาร : CPD&ACCOUNT พฤษภาคม 2564


FaLang translation system by Faboba