ออก “ใบลดหนี้” อย่างไร ถูกใจสรรพากร

โดย

 

 
 7 สาเหตุที่ผู้ประกอบการออกใบลดหนี้ได้กฎหมาย


ใบลดหนี้ (Credit Note) เป็นเอกสารภาษีอากรที่ใช้ในระบบภาษีมูลค่าเพิ่ม และมีความสำคัญกับผู้ประกอบการจดทะเบียน
ไม่ว่าจะเป็นผู้ขายและผู้ซื้อสินค้าหรือบริการ โดยใบลดหนี้จะมีความเกี่ยวโยงกับใบกำกับภาษี (Tax Invoice) ที่ผู้ขายสินค้า
หรือผู้ให้บริการออกให้แก่ผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการในขณะที่ความรับผิดในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มเกิดขึ้น ซึ่งผู้ประกอบ
การจดทะเบียนทั้ง 2 ฝ่ายมีหน้าที่ต้องคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มใหม่ เนื่องจากมูลค่าของสินค้าหรือบริการตามใบกำกับภาษีที่ได้
รับไปแล้วนั้นมีจำนวนลดลง อันเนื่องมาจากเหตุการณ์ที่ระบุไว้ในมาตรา 82/10 แห่งประมวลรัษฎากร และประกาศอธิบดี
กรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 82)ฯ ลงวันที่ 21 มกราคม พ.ศ. 2542 

กล่าวคือ ผู้ขายสินค้าหรือผู้ให้บริการจะทำการลดหนี้ให้กับผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการ และออกหลักฐาน เรียกว่า “ใบลดหนี้"
ในเดือนภาษีที่เหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้น เว้นแต่ในกรณีที่มีเหตุจำเป็นไม่สามารถออกใบลดหนี้ได้ทันในเดือนภาษีที่มี
เหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้น ก็จะให้ออกใบลดหนี้ให้กับผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการในเดือนภาษีถัดจากเดือนที่มีเหตุการณ์เกิดขึ้น 

ใบลดหนี้ที่ผู้ประกอบการจดทะเบียนออกให้แก่ผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการ นอกจากจะต้องมีเหตุในการออกใบลดหนี้ตามที่
กฎหมายกำหนดแล้ว ผู้ประกอบการยังต้องออกใบลดหนี้ที่มีรายการที่เป็นสาระสำคัญอย่างน้อยตามมาตรา 86/10 วรรคสอง
แห่งประมวลรัษฎากร ประกอบกับประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 195)
ลงวันที่ 28 พฤษภาคม 2556 กำหนดด้วย มิฉะนั้น ผู้ออกใบลดหนี้ต้องรับโทษตามมาตรา 90 (12) แห่งประมวลรัษฎากร

เหตุการออกใบลดหนี้ตามที่กฎหมายกำหนด
ผู้ประกอบการจดทะเบียนจะมีสิทธิออกใบลดหนี้ได้ ต้องเข้าเหตุตามมาตรา 82/10 แห่งประมวลรัษฎากร ประกอบกับประกาศ
อธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 82)ฯ ลงวันที่ 21 มกราคม พ.ศ. 2542 กำหนดไว้ ดังนี้
1.  มีการลดราคาสินค้าที่ขาย เนื่องจากสินค้าผิดข้อกำหนดที่ตกลงกัน สินค้าชำรุดเสียหาย หรือขาดจำนวน คำนวณราคา
สินค้าผิดพลาดสูงกว่าที่เป็นจริง หรือเนื่องจากเหตุอื่นตามที่อธิบดีกรมสรรพากรกำหนด
2. มีการลดราคาค่าบริการ เนื่องจากให้บริการผิดข้อกำหนดที่ตกลงกัน บริการขาดจำนวน คำนวณราคาค่าบริการผิดพลาด
สูงกว่าที่เป็นจริง หรือเนื่องจากเหตุอื่นตามที่อธิบดีกรมสรรพากรกำหนด
3. ได้รับสินค้าที่ขายกลับคืนมา เนื่องจากสินค้าชำรุดบกพร่อง ไม่ตรงตามตัวอย่าง ไม่ตรงตามคำพรรณนา หรือเนื่องจากเหตุ
อื่นตามที่อธิบดีกรมสรรพากรกำหนด
4. ผู้ประกอบการจดทะเบียนมีหน้าที่ต้องจ่ายเงินชดเชยหรือเงินอื่นในลักษณะทำนองเดียวกันให้แก่ผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการ
ตามข้อผูกพันในกฎหมาย
5. ผู้ประกอบการจดทะเบียนได้มีการจ่ายคืนเงินจ่ายล่วงหน้า เงินประกัน เงินมัดจำ เงินจอง หรือเงินอื่นที่เรียกเก็บในลักษณะ
ทำนองเดียวกันให้แก่ผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการตามข้อตกลงทางการค้า
6. มีการคืนสินค้าหรือแลกเปลี่ยนสินค้าตามข้อตกลงทางการค้าระหว่างผู้ประกอบการจดทะเบียนด้วยกัน หรือระหว่างผู้
ประกอบการจดทะเบียนและผู้ซื้อสินค้า ทั้งนี้ เฉพาะที่กระทำภายในเวลาอันสมควร
7. มีการบอกเลิกสัญญาบริการ เนื่องจากการให้บริการบกพร่อง หรือให้บริการผิดข้อกำหนดที่ตกลงกัน หรือเนื่องจากไม่มี
การให้บริการตามสัญญา

ใบลดหนี้ที่มีเหตุตามที่กฎหมายกำหนดนี้ ทำให้ผู้ประกอบการที่ออกและได้รับใบลดหนี้ไปนั้นสามารถนำภาษีมูลค่าเพิ่มตามที่
ปรากฏในใบลดหนี้ไปใช้ประโยชน์ทางภาษีมูลค่าเพิ่มได้ 




   
      บางส่วนจากบทความ “ออก “ใบลดหนี้” อย่างไร ถูกใจสรรพากร ”
      อ่านบทความฉบับเต็มได้ใน... วารสารเอกสารภาษีอากร ปีที่ 40 ฉบับที่ 475 เดือน เมษายน 2564 




Tax Talk : Tax How to : ดร. เพชรรัตน์ ศุภนิมิตกุลกิจ 
วารสาร : เอกสารภาษีอากร เมษายน 2564 



FaLang translation system by Faboba