การให้ส่วนลด กับภาระภาษีที่ควรรู้

โดย

 



ส่วนลดการค้า

ลดทันทีในขณะขายสินค้าหรือให้บริการ
• ภาระภาษีเงินได้นิติบุคคล (CIT) รายได้จากราคาหลังหักส่วนลด
• ภาระภาษีหัก ณ ที่จ่าย (W/T) ไม่มี
• ภาระภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ไม่เป็นฐานภาษีถ้าเป็นไปตามเงื่อนไขของกฎหมาย
เลขที่หนังสือ : กค 0702/5276
แนววินิจฉัย
1. ภาระภาษีของบริษัทฯ กรณีบริษัทฯ ให้ส่วนลดเป็นเงินสดแก่ลูกค้าเป็นการทั่วไป เนื่องจากการส่งเสริมการขาย
ส่วนลดดังกล่าวถือเป็นรายจ่ายตามความจำเป็นและสมควร เกี่ยวกับการประกอบกิจการของบริษัทฯ บริษัทฯ มีสิทธิ
นำส่วนลดดังกล่าวมาถือเป็นรายจ่าย ในการคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลของบริษัทฯ ได้ไม่ต้องห้าม
ตามมาตรา 65 ตรี(13) แห่งประมวลรัษฎากร และหากบริษัทฯ จ่ายส่วนลดให้แก่ผู้ประกอบการที่นำบริการไปใช้
ในการประกอบกิจการของตนเองโดยตรง โดยมิได้มีวัตถุประสงค์ที่จะนำไปขายต่อ บริษัทฯ ไม่มีหน้าที่
ต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ตามข้อ 12/2 ของคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ท.ป.4/2528 เรื่อง สั่งให้ผู้จ่ายเงินได้พึงประเมิน
ตามมาตรา 40 แห่งประมวลรัษฎากร มีหน้าที่หักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ลงวันที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2528 แต่อย่างใด
2. ภาระภาษีของลูกค้า กรณีที่ลูกค้าซึ่งเป็นบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลได้รับ ส่วนลดเงินสด ลูกค้าต้องนำส่วนลด
ที่ได้รับมารวมเป็นรายได้ในการคำนวณกำไรสุทธิเพื่อ เสียภาษีเงินได้นิติบุคคล ตามมาตรา 65 แห่งประมวลรัษฎากร
และโดยที่ส่วนลดดังกล่าว ไม่เข้าลักษณะเป็นมูลค่าจากการขายสินค้าหรือให้บริการ ลูกค้าจึงไม่มีหน้าที่ต้องเสีย
ภาษีมูลค่าเพิ่มจากส่วนลดที่ได้รับ ตามมาตรา 79 แห่งประมวลรัษฎากร

ส่วนลดเงินสด/ ส่วนลดตามเป้า
1. ลดภายหลังจากการขายหรือให้บริการ
2. ลดโดยมีเงื่อนไขถ้าชำระเงินภายในกำหนด ลดกี่ %
• ภาระภาษีเงินได้นิติบุคคล (CIT) เป็นรายได้จากราคาเต็ม (ส่วนลดเป็นรายจ่ายของผู้ให้ เป็นรายได้ของผู้รับ)
• ภาระภาษีหัก ณ ที่จ่าย (W/T) หัก 3% กรณีขายให้แก่ผู้แทนและไม่ต้องหักภาษี ณ ที่จ่าย กรณีขายให้แก่ผู้ซื้อสินค้า
หรือรับบริการ
• ภาระภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ผู้ขาย/ให้บริการ เสียจากราคาเต็ม แม้จะได้เงินหลังจากหักส่วนลด

ตัวอย่าง
เลขที่หนังสือ : กค 0811(กม.06)/พ.1647
วันที่            : 2 พฤศจิกายน 2543
เรื่อง            : ภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีจัดทำใบกำกับภาษีมีรายการมากกว่าที่กฎหมายกำหนด
ข้อกฎหมาย  :  มาตรา 79, มาตรา 86/4
แนววินิจฉัย   :
 1. กรณีบริษัทฯ ขายสินค้าโดยมีข้อตกลงจะให้ส่วนลดเงินสดแก่ลูกค้าในภายหลังสำหรับลูกค้าที่ชำระเงินก่อนครบกำหนด
ถือเป็นการให้ส่วนลดหรือค่าลดหย่อนภายหลังการขายสินค้าแล้ว เงินส่วนลดดังกล่าวไม่ถือเป็นมูลค่าของฐานภาษีสำหรับ
การขายสินค้า ตามมาตรา 79 แห่งประมวลรัษฎากร บริษัทฯไม่ต้องออกใบกำกับภาษีเรียกเก็บภาษีขายจากผู้ซื้อ
แต่ประการใด และการให้ส่วนลดเงินสดในภายหลังดังกล่าว มิใช่เหตุการณ์ที่ต้องออกใบลดหนี้ตามมาตรา 82/10 แห่ง
ประมวลรัษฎากร ประกอบกับประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 82) เรื่อง กำหนดเหตุอื่นตาม
มาตรา82/10(1)(2)(3) และ (4) แห่งประมวลรัษฎากร ลงวันที่ 21 มกราคม พ.ศ. 2542 และคำสั่งกรมสรรพากร
ที่ ป.86/2542 เรื่อง หลักเกณฑ์การจัดทำใบกำกับภาษีตามมาตรา 86/4 และ มาตรา 86/5 แห่งประมวลรัษฎากร เฉพาะที่มี
ลักษณะเป็นแบบเต็มรูป ลงวันที่ 19 กรกฎาคม พ.ศ.2542
2. กรณีบริษัทฯ จะลดขั้นตอนการทำงานโดยแสดงส่วนลดการค้าไว้ในใบกำกับภาษี ก่อนที่ลูกค้าจะปฏิบัติตามเงื่อนไขของ
การได้รับส่วนลดหรือค่าลดหย่อนนั้น หากไม่กระทบต่อมูลค่าของฐานภาษี และจำนวนภาษีตามใบกำกับภาษีที่บริษัทฯ
ได้ออกไปแล้วตามตัวอย่างใบกำกับภาษีของบริษัทฯ ที่มีรายการครบถ้วนในส่วนที่เป็นสาระสำคัญ ตามมาตรา 86/4
แห่งประมวลรัษฎากร การระบุส่วนลดหรือค่าลดหย่อนไว้ในใบกำกับภาษีดังกล่าว จึงมิใช่เป็นการแก้ไขเปลี่ยนแปลง
สาระสำคัญในใบกำกับภาษีตามมาตรา 86/4 แห่งประมวลรัษฎากร บริษัทฯ ย่อมมีสิทธิกระทำได้      เนื่องจากหนังสือหารือ
ของบริษัทฯ ระบุว่า “บริษัทฯ ได้รับการร้องขอจากลูกค้ารายหนึ่งซึ่งต้องการลดขั้นตอนในการทำงานโดยให้แสดงส่วนลด
เงินสดในใบส่งของ/ใบกำกับภาษี ซึ่งไม่มีผลกระทบกับการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มแต่อย่างใด” และในเอกสารใบกำกับภาษี
ที่ส่งมาประกอบการพิจารณามีทั้งส่วนลดการค้า จำนวน 400 บาท และส่วนลดเงินสด จำนวน 40 บาท ซึ่งบริษัทฯ คำนวณ
ภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราร้อยละ 7.0 จากราคาขาย 4,400 บาท หักด้วยส่วนลดการค้า 400 บาท เป็นเงินภาษีมูลค่าเพิ่ม
280 บาท ยอดรวมทั้งสิ้น 4,280 บาท แต่เมื่อมีการให้ส่วนลดเงินสดอีก 40 บาท ลูกค้าจึงจ่ายเงินสุทธิ 4,240 บาท
ดังนั้น กรณี ใบกำกับภาษีที่บริษัทฯ ส่งไปประกอบการพิจารณา เมื่อบริษัทฯคำนวณมูลค่าของฐานภาษีจำนวน 4,400 บาท
หักด้วยส่วนลดการค้า 400 บาท เป็นมูลค่าของฐานภาษีจำนวน 4,000 บาท ซึ่งถูกต้องตามมาตรา 79 (1)แห่งประมวลรัษฎากรแล้ว สำหรับกรณีบริษัทฯ แสดงส่วนลดเงินสดไว้ในใบกำกับภาษีดังกล่าวอีกจำนวน 40 บาท และแสดงยอดเงินสุทธิ
จำนวน 4,240 บาท เป็นข้อความที่มากกว่าที่กฎหมายกำหนด หากใบกำกับภาษีมีรายการอื่นครบถ้วนตามมาตรา 86/4
แห่งประมวลรัษฎากรแล้ว บริษัทฯ ไม่มีความผิดตามมาตรา 90 (12) แห่งประมวลรัษฎากร


ตัวอย่าง
เลขที่หนังสือ : กค 0811/ก.949
วันที่            : 29 กรกฎาคม 2545
เรื่อง            : ภาษีเงินได้นิติบุคคลหัก ณ ที่จ่าย กรณีการจ่ายเงินได้พึงประเมินที่เป็นรางวัล ส่วนลด หรือประโยชน์ใด ๆ
เนื่องจากการส่งเสริมการขาย
ข้อกฎหมาย  : คำสั่งกรมสรรพากร ที่ ท.ป.101/2544 ฯ
แนววินิจฉัย   :
1. กรณีบริษัทผู้ผลิตหรือบริษัทผู้จัดจำหน่ายได้จ่ายเงินอุดหนุน เงินสนับสนุน เงินช่วยเหลือ เงินส่วนลด หรือเงินอื่นใด
ในลักษณะทำนองเดียวกันให้แก่ผู้แทนจำหน่ายซึ่งซื้อสินค้าเพื่อนำไปขายต่อไม่ว่าเงินดังกล่าวจะคำนวณจากฐาน
การซื้อขายหรือคำนวณจากฐานอื่นใด เพื่อให้มีผลต่อการขาย การลดต้นทุน หรือลดรายจ่าย ของผู้แทนจำหน่าย
เข้าลักษณะเป็นการจ่ายรางวัลส่วนลด หรือประโยชน์ใด ๆ เนื่องจากการส่งเสริมการขาย บริษัทผู้ผลิตหรือบริษัทผู้จัดจำหน่าย
จึงมีหน้าที่ต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายตามข้อ 12/2 ของคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ท.ป.4/2528 ฯ ลงวันที่ 26 กันยายน
พ.ศ. 2528 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ท.ป.101/2544 ฯ ลงวันที่ 27 มิถุนายน พ.ศ. 2544
2. กรณีบริษัทฯ ขายสินค้าให้แก่ผู้แทนจำหน่ายโดยตกลงว่า หากผู้แทนจำหน่ายชำระหนี้ก่อนกำหนดจะได้รับส่วนลดเงินสด
ตามอัตราที่บริษัทฯ กำหนด หากการให้ส่วนลดดังกล่าวเป็นการให้ส่วนลดที่เป็นปกติตามประเพณีทางการค้า และบริษัทฯ
ระบุเงื่อนไขส่วนลดเงินสดไว้ในใบส่งของ ใบแจ้งหนี้ หรือใบกำกับภาษีให้ชัดเจน ซึ่งบริษัทฯ สามารถเขียนด้วยหมึก
พิมพ์ดีด หรือประทับด้วยตรายางก็ได้ การให้ส่วนลดจึงไม่เข้าลักษณะเป็นการจ่ายเงินได้พึงประเมินที่เป็นรางวัล ส่วนลด
หรือประโยชน์ใด ๆ เนื่องจากการส่งเสริมการขาย
3. กรณีบริษัทฯ ได้จ่ายส่วนลดหลังการขายให้ผู้แทนจำหน่ายโดยพิจารณาจากยอดซื้อของผู้แทนจำหน่าย และจ่ายใน
ลักษณะเป็นใบลดหนี้ให้ผู้แทนจำหน่ายนำใบลดหนี้ดังกล่าวมาชำระหนี้ค่าสินค้าจากบริษัทฯ ในอนาคต บริษัทฯ มีหน้าที่
ต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ตามวันที่บริษัทฯ ออกใบลดหนี้ให้กับผู้แทนจำหน่าย ซึ่งเป็นวันที่ผู้แทนจำหน่ายได้รับ
ส่วนลดหลังการขายดังกล่าว
4. กรณีบริษัทฯ จ่ายรางวัล ส่วนลด หรือประโยชน์ใด ๆ เนื่องจากการส่งเสริมการขายให้แก่ผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริกา
รซึ่งเป็นผู้บริโภค หรือเป็นผู้ประกอบการที่นำสินค้าหรือบริการไปใช้ในการประกอบกิจการของตนเองโดยตรงโดยมิได้มี
วัตถุประสงค์ที่จะนำไปขายต่อ บริษัทฯไม่มีหน้าที่ต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย แต่กรณีบริษัทฯ จ่ายรางวัล ส่วนลด หรือ
ประโยชน์ใด ๆ เนื่องจากการส่งเสริมการขายให้แก่ผู้แทนจำหน่ายซึ่งซื้อสินค้าจากบริษัทฯ เพื่อนำไปใช้ในการประกอบ
กิจการของตนเอง บริษัทฯยังคงมีหน้าที่ต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ตามข้อ 12/2 ของคำสั่งกรมสรรพากร
ที่ ท.ป.4/2528 ฯ ลงวันที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2528 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ท.ป.101/2544 ฯ
ลงวันที่ 27 มิถุนายน พ.ศ. 2544


เกร็ดความรู้กับธรรมนิติ : การให้ส่วนลด กับภาระภาษีที่ควรรู้

 




FaLang translation system by Faboba