5 รายจ่ายปัญหาภาษีอากร ที่ผู้ประกอบการต้องรู้!

โดย

 

 
5 รายจ่ายปัญหาภาษีอากรที่ผู้ประกอบการต้องรู้!


ประเด็นสำคัญของรายจ่ายใน 5 ปัญหาภาษีอากร สรุปได้ดังนี้


รายจ่าย 1. ค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาทรัพย์สินหักเกินกว่าอัตรากฎหมายกำหนดได้หรือไม่
เมื่อกล่าวถึงค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาทรัพย์สินแล้วจะต้องพิจารณาจากพระราชกฤษฎีกา ฉบับที่ 145 มาตรา 3 และ
มาตรา 4 ที่กำหนดไว้ดังนี้
มาตรา 3 ในการหักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาของทรัพย์สิน เพื่อประโยชน์ในการคำนวณกำไรสุทธิหรือขาดทุนสุทธิ
เมื่อบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลได้เลือกใช้วิธีการทางบัญชีที่รับรองทั่วไปและอัตราที่จะหักอย่างใดแล้ว ให้ใช้วิธีการทาง
บัญชีและอัตรานั้นตลอดไป เว้นแต่จะได้รับอนุมัติให้เปลี่ยนแปลงจากอธิบดีกรมสรรพากร หรือผู้ที่ได้รับมอบหมายและให้ถือ
ปฏิบัติตั้งแต่รอบระยะเวลาบัญชีที่ได้รับอนุมัตินั้น 
มาตรา 4  การหักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาของทรัพย์สิน ให้คำนวณหักตามระยะเวลาที่ได้ทรัพย์สินนั้นมาในแต่ละ
รอบระยะเวลาบัญชี ในกรณีที่รอบระยะเวลาใดไม่เต็มสิบสองเดือนให้เฉลี่ยตามส่วนสำหรับรอบระยะเวลาบัญชีนั้น ทั้งนี้ไม่เกิน
อัตราร้อยละของมูลค่าต้นทุนตามประเภทของทรัพย์สิน

รายจ่าย 2.  ค่าเลี้ยงรับรองจะถือเป็นรายจ่ายได้อย่างไร
บริษัทและห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลโดยทั่วไปแล้วมักจะมีการรับรองลูกค้าเพื่อเอื้ออำนวยประโยชน์ต่อกิจการ อันมีผลทำให้
ยอดขายเพิ่มหรือกำไรขึ้นได้ ประมวลรัษฎากรมาตรา 65 ตรี (4) ได้ระบุให้ค่ารับรองถือเป็นรายจ่ายต้องห้ามในการคำนวณ
กำไรสุทธิ ซึ่งระบุไว้ดังนี้
“มาตรา 65 ตรี (4) ค่ารับรองหรือค่าบริการส่วนที่ไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดโดยกฎกระทรวง”

รายจ่าย 3.  เมื่อไรถือเป็นทรัพย์สินและเมื่อไรถือเป็นค่าใช้จ่าย
เมื่อกิจการได้มีการจ่ายเงินออกไปเพื่อเป็นการซื้อทรัพย์สินกับจ่ายไปเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายจะมีหลักเกณฑ์ในการพิจารณา
อย่างไรว่า เมื่อไรถือเป็นทรัพย์สิน เมื่อไรถือเป็นค่าใช้จ่าย บางกิจการได้มีการกำหนดจำนวนเงินหรือวงเงินไว้ว่า หากกิจการ
จ่ายเงินเกิน 10,000 บาทจะถือเป็นทรัพย์สิน ถ้าจ่ายไม่ถึง 10,000 บาทจะถือเป็นค่าใช้จ่ายทั้งจำนวนนำไปคำนวณกำไรสุทธิ
ซึ่งการกำหนดวงเงินค่าใช้จ่ายดังกล่าวไม่มีบทบัญญัติกฎหมายกำหนดไว้จึงไม่สามารถทำได้ ประเด็นปัญหาทางภาษีอากร
จะพิจารณาจากมาตรฐานการบัญชีและประมวลรัษฎากร

รายจ่าย  4. ซื้อของ (สินค้า) หรือจ่ายค่าใช้จ่ายไม่มีบิลจะใช้เอกสารใดเป็นหลักฐานทางภาษีอากร
ปัญหาที่มักจะเกิดแทบทุกกิจการของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลเมื่อมีการจ่ายค่าใช้จ่ายต่างๆ ในการซื้อสินค้าหรือ
ค่าบริการ อาจจะมีผู้ขายหรือผู้ให้บริการบางรายไม่มีหลักฐานเอกสารการรับเงินหรือไม่ออกหลักฐานเอกสารการรับเงินให้กับ
กิจการ เช่น บิลเงินสด ใบเสร็จรับเงิน ใบรับเงิน หรือใบกำกับภาษี กิจการจะใช้เอกสารใดเป็นหลักฐานการจ่ายเงินให้สรรพากร
ยอมรับให้ถือเป็นรายจ่ายได้คำนวณกำไรสุทธิได้ ไม่ต้องห้ามตามประมวลรัษฎากร  เนื่องจากประมวลรัษฎากรได้กำหนด
รายจ่ายต้องห้ามในการคำนวณกำไรสุทธิตามมาตรา 65 ตรี (9) และ (18) ไว้ดังนี้

 “(9) รายจ่ายซึ่งกำหนดขึ้นเองโดยไม่มีการจ่ายจริง หรือรายจ่ายซึ่งควรจะได้จ่ายในรอบระยะเวลาบัญชีอื่น เว้นแต่ในกรณีที่ไม่  สามารถจะลงจ่ายในรอบระยะเวลาบัญชีใดก็อาจลงจ่ายในรอบระยะเวลาบัญชีที่ถัดไปได้
 (18) รายจ่ายซึ่งผู้จ่ายพิสูจน์ไม่ได้ว่าใครเป็นผู้รับ”


รายจ่าย 5.  รายจ่ายเพื่อการกุศลสาธารณะ
ปัญหาการคำนวณรายจ่ายเพื่อการกุศลสาธารณะหรือเพื่อการสาธารณประโยชน์ และรายจ่ายเพื่อการศึกษาหรือเพื่อการกีฬา
ตามมาตรา 65 ตรี (3) แห่งประมวลรัษฎากร ที่กำหนดไว้ดังนี้

 “(3) รายจ่ายอันมีลักษณะเป็นการส่วนตัว การให้โดยเสน่หา หรือการกุศล เว้นแต่
  (ก) รายจ่ายซึ่งเป็นเงินที่บริจาคแก่พรรคการเมืองตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง ให้หักได้ไม่เกิน
  ห้าหมื่นบาท ทั้งนี้ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีประกาศกำหนด 
  (ข) รายจ่ายเพื่อการกุศลสาธารณะหรือเพื่อการสาธารณประโยชน์ตามที่อธิบดีประกาศกำหนดโดยอนุมัติรัฐมนตรี ให้หักได้ใน
  ส่วนที่ไม่เกินร้อยละ 2 ของกำไรสุทธิ และรายจ่ายเพื่อการศึกษาหรือเพื่อการกีฬาตามที่อธิบดีประกาศกำหนดโดยอนุมัติ 
  รัฐมนตรีให้หักได้อีกในส่วนที่ไม่เกินร้อยละ 2 ของกำไรสุทธิ”



นอกจาก 5 ปัญหาภาษีอากรดังกล่าวข้างต้นแล้ว ยังมีปัญหารายจ่ายภาษีอากรค่อนข้างมาก อาจศึกษาเพิ่มเติมได้จากมาตรา 65 มาตรา 65 ทวิ และมาตรา 65 ตรี แห่งประมวลรัษฎากร 


   
      บางส่วนจากบทความ “5 รายจ่ายเผือกร้อนทางภาษีอากร ”
      อ่านบทความฉบับเต็มได้ใน... วารสารเอกสารภาษีอากร ปีที่ 39 ฉบับที่ 466 เดือน กรกฎาคม 2563




Smart Accounting : Accounting Practice : สมเดช โรจน์คุรีเสถียร
วารสาร : เอกสารภาษีอากร กรกฎาคม 2563



FaLang translation system by Faboba