การคุ้มครองจาก “กองทุนประกันสังคม” ในสถานการณ์ COVID–19

โดย

 

 

การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ COVID–19 ทำให้การดำรงชีวิตของผู้คนในสังคมทั่วโลกได้รับผลกระทบ
หลายด้าน และอาจเป็นปัจจัยที่ก่อให้เกิดปรากฏการณ์ “ความปกติแบบใหม่” หรือ “New Normal” หรือ
“New Norm” หรือ “New Me” ซึ่งเป็นยุคที่ทุกคนต้องอดทน อดออม ประหยัดและใช้ชีวิตอยู่อย่างพอเพียง จึงเชื่อ
ว่าการน้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาเป็นแนวทางในการดำรงชีวิตอย่างจริงจัง จะช่วยให้ความปกติแบบใหม่เป็น
วิถีชีวิตที่เป็นความปกติสุขได้ไม่ยาก 

สำนักงานประกันสังคม ซึ่งเป็นหน่วยงานภาครัฐที่มีอำนาจหน้าที่คุ้มครองดูแลสมาชิกของกองทุนประกันสังคม ก็ได้มี
มาตรการช่วยเหลือสมาชิกหลายกรณี ซึ่งแม้ว่ามาตรการต่างๆ จะมีผลบังคับมาแล้วหลายเดือน แต่สมาชิกที่ยังไม่ได้ใช้สิทธิ
ก็ยังมีเวลาที่จะใช้สิทธิดังกล่าวได้ ดังเช่น 3 มาตรการต่อไปนี้  

มาตรการแรก การลดหย่อนการออกเงินสมทบของนายจ้างและผู้ประกันตนในช่วงการระบาดของโรคติดต่อเชื้อ
ไวรัสโคโรนา 2019 หรือ COVID–19 

โดยประกาศกระทรวงแรงงาน เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขให้ลดหย่อนการออกเงินสมทบของนายจ้างและ
ผู้ประกันตน กรณีการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ COVID–19  ลงวันที่ 10 เมษายน 2563
(ตามมาตรา 46/1 พระราชบัญญัติประกันสังคม (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2558) กำหนดให้นายจ้างและผู้ประกันตนได้รับ
การลดอัตราเงินสมทบที่ต้องส่งเข้ากองทุนประกันสังคม 3 งวดเดือนคือ งวดเดือนมีนาคม งวดเดือนเมษายน และ
งวดเดือน
พฤษภาคม พ.ศ. 2563 

มาตรการที่สอง การขยายเวลาการส่งเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคม
ตามกฎหมายประกันสังคมกำหนดให้นายจ้างและผู้ประกันตนมีหน้าที่จ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมเป็นประจำ
ทุกเดือน โดยนายจ้างมีหน้าที่นำส่งเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมในส่วนของนายจ้างและผู้ประกันตนตามมาตรา
33 ภายในวันที่ 15 ของเดือนถัดจากเดือนที่นายจ้างหักเงินสมทบของผู้ประกันตนไว้ (เดือนที่นายจ้างจ่ายค่าจ้างให้กับ
ลูกจ้าง) และผู้ประกันตนตามมาตรา 39 มีหน้าที่ส่งเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมภายในวันที่ 15 ของเดือนถัดไป
เช่นกัน 

มาตรการที่สาม การจ่ายเงินให้กับผู้ประกันตนเพื่อช่วยเหลือและบรรเทาความเดือดร้อนจากการ “ว่างงาน”
ที่เรียกว่า เงินทดแทนในกรณีว่างงาน 

เงินทดแทนในกรณีว่างงานนี้ (ซึ่งในบทความนี้จะเรียกเงินว่างงาน) ปัจจุบันกฎหมายประกันสังคมกำหนดเกี่ยวกับการจ่าย
เงินว่างงาน 3 ลักษณะ คือ 
ลักษณะที่ 1 ว่างงานในกรณีปกติ (คือไม่มีเหตุพิเศษใดๆ ) เป็นไปตามกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์และอัตราการได้รับ
ประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงาน พ.ศ. 2547 (ตามมาตรา 79 แห่งพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. 2533)
ผู้ประกันตนจะมีสิทธิได้รับเงินว่างงานเมื่อสัญญาจ้างสิ้นสุดลง เพราะนายจ้างเลิกจ้างหรือฝ่ายลูกจ้างลาออกจากงาน หรือ
สิ้นสุดสัญญาจ้างที่มีกำหนดระยะเวลาการจ้างไว้แน่นอนและเลิกจ้างตามกำหนดระยะเวลานั้น 

ลักษณะที่ 2 ว่างงานอันเนื่องจากได้รับผลกระทบจากสภาวะเศรษฐกิจ เป็นไปตามกฎกระทรวงการได้รับประโยชน์ทดแทน
ในกรณีว่างงานอันเนื่องจากได้รับผลกระทบจากสภาวะเศรษฐกิจ พ.ศ. 2563 (ตามมาตรา 79 แห่งพระราชบัญญัติ
ประกันสังคม พ.ศ. 2533) เป็นการว่างงานในช่วงวันที่ 1 มีนาคม พ.ศ. 2563 ถึงวันที่ 28 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2565
เพราะนายจ้างเลิกจ้างหรือลูกจ้างลาออกจากงาน หรือสิ้นสุดสัญญาจ้างที่มีกำหนดระยะเวลาการจ้างไว้แน่นอนและเลิกจ้าง
ตามกำหนดระยะเวลานั้น

ลักษณะที่ 3 ว่างงานเนื่องจากการระบาดของโรค COVID-19 ตามกฎกระทรวงการได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงาน
เนื่องจากเหตุสุดวิสัยอันเกิดจากการระบาดของโรคติดต่ออันตราย ตามกฎหมายว่าด้วยโรคติดต่ออันตราย พ.ศ. 2563
(ตามมาตรา 79/1 แห่งพระราชบัญญัติประกันสังคม (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2558) บัญญัติไว้เป็นการเฉพาะว่าการระบาดของ
โรค COVID-19 ถือเป็นเหตุสุดวิสัย 


  บางส่วนจากบทความ  “การคุ้มครองจาก “กองทุนประกันสังคม” ในสถานการณ์ COVID–19”
  อ่านบทความเต็มได้ใน... วารสาร HR Society magazine ปีที่ 18 ฉบับที่ ฉบับที่ 211 เดือนกรกฎาคม 2563



กฎหมายแรงงาน : ประกันสังคม : ปรานี สุขศรี  
วารสาร : HR Society Magazine กรกฎาคม 2563


FaLang translation system by Faboba