การให้ดอกเบี้ยแก่ผู้รับคืนภาษี ตามประมวลรัษฎากร มาตรา 4 ทศ

โดย

 

การคิดดอกเบี้ยให้สำหรับภาษีที่ได้รับคืน จะคิดให้ต่อเมื่อได้มีการยื่นแบบแสดงรายการหรือยื่นคำร้องขอคืนเงินภาษีอากร
ภายในเวลาที่กฎหมายกำหนด หรือภายในเวลาที่ได้รับการขยายหรือเลื่อนให้และต้องนำเอกสารหรือหลักฐานต่างๆ
ที่ตรวจสอบผู้ยื่นคำร้องต้องนำเอกสารหรือหลักฐานไปแสดงต่อเจ้าพนักงานภายในกำหนดเวลาที่เจ้าพนักงานแจ้งให้ทราบ
เรื่องการให้ดอกเบี้ยแก่ผู้รับคืนภาษีอากร ตามประมวลรัษฎากร มาตรา 4 ทศ มีสาระสำคัญ ดังนี้

1. หลักกฎหมายที่เกี่ยวข้อง

1.1 ประมวลรัษฎากร มาตรา 4 ทศ
หลักกฎหมายให้อธิบดีหรือผู้ซึ่งอธิบดีมอบหมายสั่งให้ดอกเบี้ยแก่ผู้ได้รับคืนเงินภาษีอากร
ในอัตราร้อยละ 1 ต่อเดือน หรือเศษของเดือนของเงินภาษีอากรที่ได้รับคืนโดยไม่คิดทบต้น ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์และ
เงื่อนไขที่กำหนดโดยกฎกระทรวง

1.2 กฎหมายลำดับรอง ได้แก่ กฎกระทรวงฉบับที่ 161 (พ.ศ. 2526)
หลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่กำหนดในการให้ดอกเบี้ยแก่ผู้รับคืนภาษีอากร มาตรา 4 ทศ มีดังต่อไปนี้
ข้อ 1 ดอกเบี้ยที่จะให้แก่ผู้ได้รับคืนเงินภาษีอากรให้คิดดังต่อไปนี้
(1) กรณีคืนเงินภาษีอากรที่ถูกหักไว้ ณ ที่จ่ายให้เริ่มคิดดอกเบี้ยตั้งแต่วันถัดจากวันครบระยะเวลาสามเดือนนับแต่
(ก) วันสิ้นกำหนดระยะเวลา
(ข) วันยื่นคำร้องขอคืนเงินภาษีอากร
(2) กรณีคืนเงินภาษีอากร ที่ชำระตามแบบแสดงรายการไม่ว่าจะชำระพร้อมกับการยื่นหรือไม่ ให้เริ่มคิดดอกเบี้ยตั้งแต่
วันถัดจากวันครบระยะเวลาสามเดือนนับ แต่วันยื่นคำร้องขอคืนเงินภาษีอากร
(3) กรณีคืนเงินภาษีอากร ที่ชำระตามการประเมินของเจ้าพนักงานประเมินหรือตามคำสั่งของพนักงานเจ้าหน้าที่ หรือ
คืนเงินภาษีมูลค่าเพิ่มที่ชำระ สำหรับสินค้าที่นำเข้าในราชอาณาจักรให้เริ่มคิดดอกเบี้ยตั้งแต่วันชำระภาษีอากร

ข้อ 2 การคิดดอกเบี้ยตามข้อ 1 จะคิดให้ต่อเมื่อได้มีการยื่นแบบแสดงรายการ หรือคำร้องขอคืนเงินภาษีอากร
ภายในเวลาที่กฎหมายกำหนด หรือภายในเวลาที่ได้รับการขยายหรือเลื่อนให้

การยื่นคำร้องขอคืนเงินภาษีอากร ผู้ยื่นคำร้องต้องนำเอกสารหรือหลักฐานต่างๆ  ที่เกี่ยวข้องไปแสดงต่อเจ้าพนักงานเพื่อ
พิสูจน์ว่าได้เสียอากรเกินไปด้วย

2. แนวคำพิพากษาศาลฎีกาที่น่าสนใจ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6693/2559 (ประชุมใหญ่) เมื่อโจทก์ไม่ต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะและไม่มีหน้าที่ต้องยื่นแบบแสดง
รายการ การฟ้องขอคืนภาษีธุรกิจเฉพาะและภาษีท้องถิ่น ในคดีนี้จึงไม่อยู่ในบังคับกำหนดเวลาสามปี นับแต่วันพ้นกำหนด
เวลายื่นแบบแสดงรายการภาษีตามมาตรา 91/11 และมาตรา 27 ตรี แห่งประมวลรัษฎากร โจทก์จึงมีสิทธิขอคืนเงินดังกล่าว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5869/2557  เมื่อโจทก์ยื่นคำร้องขอคืนเงินภาษีอากร  (ค. 10)  ประเภทภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา
ของปีภาษี 2547 เมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2550 โจทก์ จึงมีสิทธิที่จะได้รับดอกเบี้ยจากคำร้องขอคืนเงินภาษีอากร  (ค. 10) 
มิใช่จากแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา โจทก์จึงมีสิทธิได้รับดอกเบี้ยจากจำเลยตั้งแต่วันถัดจากวันครบระยะ
เวลาสามเดือนนับแต่วันยื่นคำร้องขอคืนเงินภาษีอากร (ค. 10)  

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9038/2555 ตาม ป.รัษฎากร มาตรา 4 ทศ โจทก์มีสิทธิได้รับดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 1 ต่อเดือน
และมีสิทธิเริ่มคิดดอกเบี้ยก่อนฟ้องได้ตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่กำหนดโดยกฎกระทรวงฉบับที่161 (พ.ศ.2526)
ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการให้ดอกเบี้ยแก่ผู้ได้รับคืนเงินภาษีอากร แต่เมื่อโจทก์ขอให้จำเลยรับผิดใช้
ดอกเบี้ยเพียงอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้อง จึงให้เท่าที่โจทก์ขอ แต่ไม่เกินจำนวนเงินภาษีอากรที่โจทก์ได้รับ
คืนตามมาตรา 4 ทศ วรรคสอง

สรุป  ดอกเบี้ยตามมาตรา 4 ทศ เป็นดอกผลโดยนิตินัยของภาษีที่ผู้มีหน้าที่เสียภาษีเกินไปกว่าจำนวนที่ต้องเสีย ซึ่ง
การพิจารณาคืนเงินภาษีอากร หากเข้าหลักเกณฑ์การคืนเงินภาษีอากรให้แก่ผู้ได้รับคืนเงินภาษีอากร ที่ต้องยื่นแบบแสดง
รายการเกี่ยวกับเงินภาษีอากร ตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 161 (พ.ศ. 2526) ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการให้
ดอกเบี้ยแก่ผู้ได้รับคืนเงินภาษีอากร ลงวันที่ 20 พฤษภาคม พ.ศ. 2526 และผู้ได้รับคืนเงินภาษีต้องยื่นแบบแสดงรายการ
และคำร้องขอคืน (แบบ ค.10) ภายในเวลาที่กฎหมายกำหนด และการที่จะคิดดอกเบี้ยให้ต่อเมื่อได้ยื่นแบบแสดงรายการ
หรือคำร้องขอคืนเงินภาษีภายในเวลาที่กฎหมายกำหนด” นั้นหากกรมสรรพากรสั่งคืนภาษี แต่ไม่คืนดอกเบี้ยแก่ผู้รับคืนภาษี
อากร มาตรา ๔ ทศ ย่อมมีข้อโต้แย้งเกี่ยวกับสิทธิ หรือหน้าที่ระหว่างผู้รับคืนภาษีอากรกับกรมสรรพากรตามกฎหมายแพ่งแล้ว

   
      บางส่วนจากบทความ “การให้ดอกเบี้ยแก่ผู้รับคืนภาษี ตามประมวลรัษฎากร มาตรา 4 ทศ”
      อ่านบทความฉบับเต็มได้ใน... วารสารเอกสารภาษีอากร ปีที่ 39 ฉบับที่ 459 เดือนธันวาคม 2562




Law & News : News : เยาวรัตน์ พวงศรี
วารสาร : เอกสารภาษีอากร ธันวาคม 2562



FaLang translation system by Faboba