ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่ต้องรู้

โดย

 

เจ้าของที่ดินต้องรู้! ทรัพย์สินอะไรบ้างที่ต้องเสียภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง


พระราชบัญญัติภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ. 2562 มาตรา 9 บัญญัติว่า ผู้ซึ่งเป็นเจ้าของหรือครอบครองที่ดิน
หรือสิ่งปลูกสร้างอยู่ในวันที่ 1 มกราคม ของปีใด เป็นผู้มีหน้าที่เสียภาษีสำหรับปีนั้น
ดังนั้น ผู้เป็นเจ้าของที่ดิน
และสิ่งปลูกสร้างจะต้องศึกษาว่า ทรัพย์สินอะไรบ้างที่ต้องเสียภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ซึ่งตามพระราชบัญญัติ
ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ. 2562 มาตรา 37 มีการแบ่งประเภทของทรัพย์สินที่ต้องเสียภาษีภาษีที่ดินและ
สิ่งปลูกสร้างตามการใช้สอยออกเป็น 4 ประเภท คือ

1.1 ที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างที่ใช้ประโยชน์ในการประกอบเกษตรกรรม ต้องเป็นการทำนา ทำไร่ ทำสวน เลี้ยงสัตว์
เลี้ยงสัตว์น้ำ และกิจการอื่นตามหลักเกณฑ์ที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย
ร่วมกันประกาศกำหนด

1.2 ที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างที่ใช้ประโยชน์เป็นที่อยู่อาศัย ตามมาตรา 37 วรรคสาม อธิบายว่า การใช้ประโยชน์ที่ดิน
หรือสิ่งปลูกสร้างเป็นที่อยู่อาศัย ได้แก่ การใช้ประโยชน์ในลักษณะบ้าน ตึก ตึกแถว อาคาร โรงเรือน กระท่อม
หรือสิ่งปลูกสร้างอื่นใดที่มีลักษณะให้บุคคลใช้อยู่อาศัย รวมถึงได้ใช้ประโยชน์ต่อเนื่องกับที่อยู่อาศัย แต่ไม่รวมถึงที่ดิน
หรือสิ่งปลูกสร้างที่เจ้าของนำไปให้เช่าหรือหาประโยชน์ในลักษณะอยู่อาศัย เว้นแต่การให้เช่านั้นมีวัตถุประสงค์ เพื่อใช้
เป็นที่อยู่อาศัยและมีการจดทะเบียนการเช่าเกิน 3 ปี

1.3 ที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างที่ใช้ประโยชน์อื่นนอกจาก (1) หรือ (2) ผู้เขียนเห็นว่าเป็นกรณีที่มีการใช้ประโยชน์ใน
ที่ดินและสิ่งปลูกสร้างในลักษณะที่มีการใช้สอยใช้เป็นที่เก็บสินค้า หรือประกอบการอุตสาหกรรม หรือพาณิชยกรรม
ตามปกติแล้วสินค้ามี 2 ประเภทคือ 1. สินค้าแบบถาวร คือ ใช้แล้วไม่หมดไป เช่น สินค้าอุตสาหกรรม เครื่องปรับอากาศ
รถยนต์ เป็นต้น 2. สินค้าแบบไม่ถาวร คือ ใช้แล้วหมดไป เช่น สินค้าอุปโภค สินค้าบริโภค ส่วนคำว่า อุตสาหกรรม
แบ่งออกเป็น 2 ประเภทใหญ่ๆ คือ อุตสาหกรรมครัวเรือนซึ่งเป็นอุตสาหกรรมการผลิตง่ายๆ เล็กๆ และอุตสาหกรรมโรงงาน
ที่ผลิตสินค้าในโรงงาน ส่วนการพาณิชยกรรม คือ การประกอบอาชีพเป็นตัวกลางในการจำหน่ายสินค้าและบริการต่างๆ
จะต้องเสียภาษีตามพระราชบัญญัติภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ. 2562 มาตรา 37

1.4 ที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างที่ทิ้งไว้ว่างเปล่าหรือไม่ได้ทำประโยชน์ตามควรแก่สภาพ หมายถึง ที่ดินที่โดยสภาพ
สามารถใช้ประโยชน์ได้ แต่ไม่มีการใช้ประโยชน์ในที่ดินนั้นตลอดปีที่ผ่านมา สิ่งปลูกสร้างที่ก่อสร้างเสร็จแล้ว หรือยัง
ไม่เสร็จ ซึ่งปล่อยทิ้งร้างจนไม่สามารถใช้ประโยชน์ได้ในตลอดปีที่ผ่านมา หรือที่ดินที่ใช้ประโยชน์ในการประกอบ
เกษตรกรรมหรืออยู่อาศัย แต่ไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์การใช้ประโยชน์ในที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างในการประกอบ
เกษตรกรรม และกำหนดการใช้ประโยชน์ในที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างเป็นที่อยู่อาศัย หรือสิ่งปลูกสร้างที่ก่อสร้างหรือปรับปรุง
เสร็จแล้วและโดยสภาพสามารถใช้ประโยชน์ได้แต่ไม่ได้ใช้ประโยชน์ในตลอดปีที่ผ่านมา และที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างที่ทิ้งไว้
ว่างเปล่าหรือไม่ได้ทำประโยชน์ตามควรแก่สภาพ ไม่ให้หมายรวมถึงสิ่งปลูกสร้างที่อยู่ระหว่างการก่อสร้าง ที่ดิน
หรือสิ่งปลูกสร้างที่ถูกรอนสิทธิในการใช้ประโยชน์โดยผลของกฎหมาย หรือโดยคำสั่งหรือคำพิพากษาของศาลห้ามใช้
ประโยชน์ หรืออยู่ระหว่างการพิจารณาพิพากษาของศาลเกี่ยวกับกรรมสิทธิ์นั้น 

2. ที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างที่มีการใช้ประโยชน์หลายประเภท ตามพระราชบัญญัติภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง
พ.ศ. 2562 มาตรา 38 ให้จัดเก็บภาษีตามสัดส่วนของการใช้ประโยชน์ในที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างดังนี้ กรณีสามารถแบ่ง
สัดส่วนการใช้ประโยชน์ได้ชัดเจน ให้คำนวณภาระภาษีตามสัดส่วนการใช้ประโยชน์ในที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างนั้น กรณีไม่
สามารถแบ่งสัดส่วนการใช้ประโยชน์ได้ชัดเจน ให้คำนวณภาระภาษีดังนี้ การใช้ประโยชน์ในสิ่งปลูกสร้าง ให้แบ่งตาม
สัดส่วนของการใช้ประโยชน์ตามสัดส่วนการใช้ประโยชน์ในพื้นที่ใช้สอยรวมของสิ่งปลูกสร้าง การใช้ประโยชน์ในที่ดิน
ให้พิจารณาจากสิ่งปลูกสร้างที่ตั้งอยู่ในที่ดินนั้น กรณีที่ดินหลายแปลงมีอาณาเขตติดต่อกันและเป็นเจ้าของเดียวกัน
ให้ใช้มูลค่าของที่ดินทุกแปลงรวมกันเป็นฐานภาษีที่จะนำมาใช้ในการคำนวณภาระภาษีตามสัดส่วนการใช้ประโยชน์

   
      บางส่วนจากบทความ “ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่ต้องรู้”
      อ่านบทความฉบับเต็มได้ใน... วารสารเอกสารภาษีอากร ปีที่ 39 ฉบับที่ 459 เดือนธันวาคม 2562




Tax Talk : ภาษีท้องถิ่น : อวิรุทธ์  ชาญชัยกิตติกร  
วารสาร : เอกสารภาษีอากร ธันวาคม 2562



FaLang translation system by Faboba