ลาออก ถ้าพักร้อนเหลือๆ ริบได้เลย ไม่ให้ก็ได้ แต่ถ้าให้เกมพลิก

โดย

 

ลาออกถ้าพักร้อนเหลือๆ ริบได้เลย แต่นายจ้างอนุญาตก็ถือว่าสละสิทธิในการริบ จึงต้องให้สิทธิไป ไม่งั้นก็ต้องจ่าย
เลือกเอาสักอย่าง 

(1) คำพิพากษาฎีกาที่ 6412-6413/2557 ต้องจ่ายค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีสะสม (พักร้อนสะสม)
คดีนี้ระหว่าง นาย ม. โจทก์ที่ 1 และ นาย ร. โจทก์ที่ 2 กับ นายจ้าง คือ บริษัท พ. จำกัด จำเลย เรื่องมีอยู่ว่าโจทก์ที่
1 เข้าทำงานตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2548 ตำแหน่งผู้จัดการฝ่ายขาย ค่าจ้างอัตราสุดท้ายเดือนละ 84,094 บาท 
โจทก์ที่ 2 เข้าทำงานตั้งแต่วันที่ 2 กุมภาพันธ์  2548 ตำแหน่งผู้จัดการฝ่ายบริการ ค่าจ้างอัตราสุดท้ายเดือนละ
79,794 บาท กำหนดจ่ายค่าจ้างทุกวันสิ้นเดือน

(2) เดือนมีนาคม 2552 จำเลยจ่ายค่าจ้างให้โจทก์ที่ 1 เพียง 72,884.93 บาท ค้างจ่าย 11,213.07 บาท และ
ให้โจทก์ที่ 2 เพียง 21,278.40 บาท ค้างจ่าย 18,618.60 บาท ขอให้บังคับจำเลยจ่ายค่าจ้างค้างจ่าย พร้อม
ดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ทั้งสอง โดยจำเลยให้การว่า โจทก์ที่ 1 และ
ที่ 2 เคยเป็นลูกจ้างจำเลยแต่ลาออกไปแล้ว มีผลตั้งแต่วันที่ 31 และวันที่ 16 มีนาคม 2552 ตามลำดับ จำเลยมี
ข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานกำหนดให้ลูกจ้างที่ทำงานครบสัญญาจ้าง 1 ปี และทำงานต่อในปีถัดไป มีสิทธิลาหยุด
พักผ่อนประจำปีได้ 6 วันทำงานโดยได้รับค่าจ้าง แต่ต้องยื่นใบลาล่วงหน้าและได้รับอนุมัติจากหัวหน้างานเสียก่อน
และไม่สามารถนำวันหยุดสะสมในปีก่อนมารวมได้ 
ข้อบังคับนี้เขียนถูกกฎหมาย ในปี 2552 โจทก์ที่ 1 และที่ 2 ทำงานเพียง 2 เดือน มีสิทธิลาหยุดพักผ่อนประจำปี
เพียงคนละ 1 วัน แต่โจทก์ที่ 1 หยุดงานตั้งแต่วันที่ 16 มีนาคม 2552 จนถึงวันที่การลาออกมีผล ถือว่า ขาดงาน
8 วัน โจทก์ที่ 2 หยุดงานตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2552 จนถึงวันที่การลาออกมีผล ถือว่าขาดงาน 9 วัน จำเลยจ่าย
ค่าจ้างเดือนมีนาคม 2552 ให้โจทก์ที่ 1 และที่ 2 จำนวน 26 วัน และ 8 วัน ตามลำดับ อันเป็นจำนวนมากกว่าที่
โจทก์ทั้งสองจะพึงได้รับ จำเลยจึงไม่ได้ค้างชำระค่าจ้างเดือนมีนาคม 2552 ขอให้ยกฟ้อง

(3) ศาลแรงงานกลางพิจารณาแล้ว พิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าจ้างจำนวน 11,213.07 บาท แก่โจทก์ที่ 1 และ
จำนวน 18,618.60 บาท แก่โจทก์ที่ 2 พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะ
ชำระเสร็จแก่โจทก์ทั้งสอง

(4) จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานตรวจสำนวนประชุมปรึกษาแล้ว ศาลแรงงานกลางฟัง
ข้อเท็จจริงว่า จำเลยมีข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานกำหนดว่า เมื่อพนักงานทำงานครบสัญญาจ้างหนึ่งปี และทำงาน
ต่อในปีถัดไป พนักงานมีสิทธิหยุดพักร้อน 6 วัน โดยได้รับค่าจ้าง และสะสมวันหยุดที่ยังไม่ได้หยุดในปีก่อนรวมในปี
ถัดไปได้ตามรายงานการประชุมเอกสารหมาย จ. 2 ปี 2551 (แสดงว่ารายงานการประชุมหักล้างข้อบังคับเกี่ยวกับ
การทำงานที่เขียนไว้ว่าสะสมวันหยุดฯ ไม่ได้ ตรงนี้นายจ้างไม่สู้เอาไว้ ปล่อยให้เลยตามเลย ศาลแรงงานจึงฟัง
ข้อเท็จจริงผิดไปจากข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน ตรงนี้ต้องระวัง เวลาสู้ในศาล) วินิจฉัยว่า ข้อบังคับเกี่ยวกับ
การทำงานเอกสารหมาย ล. 1 มิได้ระบุไว้ชัดแจ้งว่าการคิดวันลาหยุดพักผ่อนประจำปี ให้คิดตามอัตราส่วนของปีที่
ทำงานได้ 

เมื่อปี 2552 โจทก์ทั้งสองได้ทำงานจึงมีสิทธิหยุดพักผ่อนประจำปีของปีดังกล่าวได้คนละ 6 วัน และมีสิทธิสะสม
วันหยุดที่ยังไม่ได้ใช้ของปี 2551 อีกคนละ 2 วัน และ 4 วัน ตามลำดับ 

ข้อเท็จจริงในคดีนี้ได้ความว่า ปี 2552 ซึ่งเป็นปีสุดท้ายของการทำงาน โจทก์ทั้งสองทำงานไม่ครบปี โดยลาออก
ไปก่อน แม้พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 67 วรรคท้ายบัญญัติว่า ในกรณีที่ลูกจ้างเป็นฝ่าย
บอกเลิกสัญญาหรือนายจ้างเลิกจ้าง ไม่ว่าการเลิกจ้างนั้นเป็นกรณีตามมาตรา 119 หรือไม่ก็ตาม ให้นายจ้างจ่ายค่า
จ้างให้แก่ลูกจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีสะสมที่ลูกจ้างพึงมีสิทธิได้รับตามมาตรา 30 ซึ่งบทบัญญัติดังกล่าวมี
ผลทำให้นายจ้างไม่ต้องชดใช้สิทธิหยุดพักผ่อนประจำปีที่ลูกจ้างต้องเสียไปด้วยการลาออก (แปลความง่ายๆ คือ
ลูกจ้างถ้าลาออก หรือถูกไล่ออก ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน มาตรา 119 พักร้อนสิทธิในปีปัจจุบันนั้นๆ เป็น
อดทันที นายจ้างเค้าริบได้เลยจ๊ะ) 

โดยการจ่ายค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีในปีที่ลาออกตามส่วน แต่เมื่อในปีที่โจทก์ทั้งสองลาออกนั้น จำเลย
อนุญาตให้โจทก์ที่ 1 และที่ 2 ลาหยุดพักผ่อนประจำปี (แทนที่จะริบได้กลับสละสิทธิเองนายจ้างก็ซวยไปครับ) 

  บางส่วนจากบทความ  “ลาออก ถ้าพักร้อนเหลือๆ ริบได้เลย ไม่ให้ก็ได้ แต่ถ้าให้เกมพลิก” 
  อ่านบทความเต็มได้ใน... วารสาร HR Society magazine ปีที่ 17 ฉบับที่ 203 เดือนธันวาคม 2562

กฎหมายแรงงาน : คลายปมปัญหาแรงงาน : กฤษฎ์ อุทัยรัตน์
วารสาร : HR Society Magazine ธันวาคม 2562


FaLang translation system by Faboba