กฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลกับการจ้างแรงงาน (ตอนที่ 1)

โดย

 

 

นายจ้างเกี่ยวข้องกับกฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลอย่างไรบ้าง นายจ้างจะถือเป็นหนึ่งในผู้ควบคุมข้อมูล
ส่วนบุคคล ซึ่งตามมาตรา 6 ของกฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลบัญญัติไว้ว่า “ผู้ควบคุมข้อมูลส่วนบุคคล
หมายความว่า บุคคลหรือนิติบุคคลซึ่งมีอำนาจหน้าที่ตัดสินใจเกี่ยวกับการเก็บรวบรวม ใช้ หรือเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคล” 

สำหรับฝ่ายบุคคลหรือทรัพยากรบุคคลนั้น ถือเป็นหน่วยงานที่ทำหน้าที่ตามคำสั่งของนายจ้าง จึงตกอยู่ในฐานะ
ผู้ประมวลผลข้อมูลส่วนบุคคล ซึ่งตามมาตรา 6 ของกฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลบัญญัติไว้ว่า “ผู้ประมวลผล
ข้อมูลส่วนบุคคล หมายความว่า บุคคลหรือนิติบุคคลซึ่งดำเนินการเกี่ยวกับการเก็บรวมรวม ใช้ หรือเปิดเผยข้อมูล
ส่วนบุคคลตามคำสั่งหรือในนามของผู้ควบคุมข้อมูลส่วนบุคคล ทั้งนี้ บุคคลหรือนิติบุคคลซึ่งดำเนินการดังกล่าว
ไม่เป็นผู้ควบคุมข้อมูลส่วนบุคคล” 

นายจ้างมีหน้าที่อย่างไรเกี่ยวกับข้อมูลส่วนบุคคล ในระบบการจ้างแรงงาน เมื่อมีบุคคลใดเข้ามาสมัครงานกับ
ผู้ประกอบกิจการใด บุคคลดังกล่าวจะถูกร้องขอให้ส่งมอบและเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลต่างๆ ในใบสมัครงาน
พร้อมกับแนบหลักฐานที่เกี่ยวข้องไปพร้อมกับใบสมัครงาน หากผู้ประกอบกิจการ (นายจ้าง) พิจารณาแล้วรับ
ผู้สมัครงาน (ลูกจ้าง) เข้าทำงานก็จะนำไปสู่การทำสัญญาจ้างแรงงานกันต่อไป หากไม่รับ นายจ้างโดยฝ่ายบุคคล
มักจะคืนข้อมูลส่วนบุคคลของผู้สมัครงานให้กับผู้สมัครงาน หรือทำลายข้อมูลดังกล่าวทิ้งไป แนวทางการปฏิบัติ
เช่นนี้จะต้องเปลี่ยนไป เมื่อกฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลมีผลใช้บังคับแล้ว เพราะก่อนที่นายจ้างจะได้พิจารณา
ข้อมูลส่วนบุคคลเหล่านี้ นายจ้างจะต้องขอความยินยอมจากผู้สมัครงาน (ลูกจ้าง) โดยชัดแจ้งก่อนจึงจะกระทำได้
โปรดพิจารณาข้อกฎหมาย ดังนี้

“มาตรา 19 ผู้ควบคุมข้อมูลส่วนบุคคลจะกระทำการเก็บรวบรวม ใช้ หรือเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลไม่ได้หากเจ้าของ
ข้อมูลส่วนบุคคลไม่ได้ให้ความยินยอมไว้ก่อนหรือในขณะนั้น เว้นแต่บทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัตินี้หรือกฎหมายอื่น
บัญญัติไว้ให้กระทำได้

ในการขอความยินยอมจากเจ้าของข้อมูลส่วนบุคคลต้องทำโดยชัดแจ้ง เป็นหนังสือหรือผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์
เว้นแต่โดยสภาพไม่อาจขอความยินยอมด้วยวิธีการดังกล่าวได้”

ในการขอความยินยอมจากผู้สมัครงาน (ลูกจ้าง) นั้น นายจ้างอาจจะมอบให้ฝ่ายบุคคลของตนทำหน้าที่แจ้ง
วัตถุประสงค์ในการขอข้อมูลส่วนบุคคลของผู้สมัคร (ลูกจ้าง) ไปใช้พิจารณาด้วยว่า แต่ละข้อมูลส่วนบุคคลนั้น
จะนำไปใช้พิจารณาเกี่ยวกับเรื่องใด โดยฝ่ายบุคคลจะต้องจัดทำแบบการให้ความยินยอมที่อ่านเข้าใจง่ายให้
ผู้สมัครงาน (ลูกจ้าง) ลงนามก่อนรับมอบข้อมูลส่วนบุคคลนั้น โปรดพิจารณาข้อกฎหมาย ดังนี้

มาตรา 19 วรรคสาม ในการขอความยินยอมจากเจ้าของข้อมูลส่วนบุคคล ผู้ควบคุมข้อมูลส่วนบุคคลจะต้องแจ้ง
วัตถุประสงค์การเก็บรวบรวม ใช้ หรือเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลไปด้วย และการขอความยินยอมนั้นต้องแยกส่วนออก
จากข้อความอื่นอย่างชัดเจน มีแบบหรือข้อความที่เข้าถึงได้ง่ายและเข้าใจได้ และไม่เป็นการหลอกลวงหรือทำให้
เจ้าของข้อมูลส่วนบุคคลเข้าใจผิดในวัตถุประสงค์ดังกล่าว ทั้งนี้ คณะกรรมการจะให้ผู้ควบคุมข้อมูลส่วนบุคคลขอ
ความยินยอมจากเจ้าของข้อมูลส่วนบุคคลตามแบบและข้อความที่คณะกรรมการประกาศกำหนดก็ได้”

การขอความยินยอมจากผู้สมัครงาน (ลูกจ้าง) ฝ่ายบุคคลของนายจ้างอาจจำต้องจัดสถานที่ให้ผู้สมัครงาน (ลูกจ้าง)
มีอิสระในการตัดสินใจว่า จะยินยอมเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลของตนให้กับนายจ้างใช้พิจารณาได้หรือไม่ โดย
ผู้สมัครงาน (ลูกจ้าง) มีสิทธิปรึกษาหารือที่ปรึกษากฎหมายหรือทนายความด้วยก็ได้ ทั้งนี้ บรรดาข้อมูลใดๆ ที่ไม่
จำเป็นหรือไม่เกี่ยวข้องกับการทำสัญญาจ้างแรงงาน นายจ้างจะไม่มีสิทธิรวบรวม ใช้ หรือเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลนั้น
ได้ โปรดพิจารณาข้อกฎหมาย ดังนี้

“มาตรา 19 วรรคสี่ ในการขอความยินยอมจากเจ้าของข้อมูลส่วนบุคคล ผู้ควบคุมข้อมูลส่วนบุคคลต้องคำนึง
อย่างถึงที่สุดในความอิสระของเจ้าของข้อมูลส่วนบุคคลในการให้ความยินยอม ทั้งนี้ ในการเข้าทำสัญญาซึ่งรวมถึง
การให้บริการใดๆ ต้องไม่มีเงื่อนไขในการให้ความยินยอมเพื่อเก็บรวบรวม ใช้ หรือเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลที่ไม่มี
ความจำเป็นหรือเกี่ยวข้องสำหรับการเข้าทำสัญญาซึ่งรวมถึงการให้บริการนั้นๆ”

ผู้สมัครงาน (ลูกจ้าง) มีสิทธิขอถอนความยินยอมในการเก็บรวบรวม ใช้ หรือเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลเมื่อใดก็ได้
เว้นแต่มีกฎหมายหรือข้อตกลงพิเศษที่ให้ประโยชน์แก่ผู้สมัครงาน (ลูกจ้าง) จากนายจ้าง โปรดพิจารณาข้อกฎหมาย
ดังนี้

มาตรา 19 วรรคห้า เจ้าของข้อมูลส่วนบุคคลจะถอนความยินยอมเสียเมื่อใดก็ได้โดยจะต้องถอนความยินยอม
ได้ง่ายเช่นเดียวกับการให้ความยินยอม เว้นแต่มีข้อจำกัดสิทธิในการถอนความยินยอมโดยกฎหมายหรือสัญญาที่ให้
ประโยชน์แก่เจ้าของข้อมูลส่วนบุคคล ทั้งนี้ การถอนความยินยอมไม่ส่งผลกระทบต่อการเก็บรวบรวม ใช้ หรือ
เปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลที่เจ้าของข้อมูลส่วนบุคคลได้ให้ความยินยอมไปแล้วโดยชอบตามที่กำหนดไว้ในหมวดนี้”

  บางส่วนจากบทความ  “กฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลกับการจ้างแรงงาน (ตอนที่ 1)” 
  อ่านบทความเต็มได้ใน... วารสาร HR Society magazine ปีที่ 17 ฉบับที่ 203 เดือนพฤศจิกายน 2562

กฎหมายแรงงาน : เรื่องข้น คน HR : วรเศรษฐ์  เผือกสกนธ์
วารสาร : HR Society Magazine พฤศจิกายน 2562


FaLang translation system by Faboba