พลังของความเงียบ (The Power of Silence)

โดย

 

 


เราอาศัยอยู่ในโลกที่วุ่นวาย ทุกวินาทีเต็มไปด้วยเสียงอึกทึกจากการเคลื่อนไหวของธรรมชาติ เช่น ฝนตก ฟ้าร้อง
ลมพัด ใบไม้สั่นไหว รวมทั้งกิจกรรมของสรรพสัตว์ทั้งหลาย เช่น เสียงนกร้อง จิ้งจก สัตว์เลี้ยงในบ้านวิ่งเล่น รวมทั้ง
มนุษย์ก็มีส่วนสำคัญที่นำไปสู่การเกิดเสียงในรูปแบบต่างๆ 

ทุกวันนี้อุปกรณ์ไฟฟ้า ระบบสื่อสาร และเครื่องอำนวยความสะดวกมากมายที่เราใช้ในชีวิตประจำวันล้วนทำให้เกิด
ทั้งเสียงที่เป็นที่ต้องการและเสียงรบกวน เทคโนโลยีในยุคดิจิทัลช่วยให้เรารู้สึกผ่อนคลายโดยการฟังเพลงจาก iPods
ส่วนตัว โทรทัศน์เริ่มทำงานในทันทีที่เดินเข้ามาในห้องรับแขก แม้กระทั่งเวลานอนก็ยังมีเสียงเครื่องปรับอากาศ
ทำงานเบาๆ จึงแทบจะเป็นไปไม่ได้ที่เราจะใช้ชีวิตท่ามกลางสภาพแวดล้อมที่ปราศจากเสียง 

พลังของความเงียบเป็นเรื่องที่น่าสนใจและเคยถูกใช้เป็นพล็อตในนวนิยายของ ทอม แคลนซี  เรื่อง  ‘ปฏิบัติการล่า
ตุลาแดง’ หรือ ‘The Hunt for Red October’  เนื้อของนวนิยายเชื่อมโยงกับขีดความสามารถหลัก คือ
ความเงียบและการซ่อนพรางที่เหนือชั้นของเรือดำน้ำนิวเคลียร์ของสหภาพโซเวียตจนไม่สามารถตรวจพบด้วยระบบ
โซน่าร์ทั่วไป เนื่องจากใช้ระบบขับเคลื่อนที่ออกแบบเป็นพิเศษสามารถลดเสียงฟองอากาศที่เกิดจากใบพัดของเรือ
จนถูกขนานนามว่าเป็น ‘หลุมดำแห่งห้วงมหาสมุทร’

ผู้ที่ทำสมาธิเชื่อว่าความเงียบเป็นส่วนหนึ่งของจิตวิญญาณ เมื่อใจเริ่มสงบ จิตจะเข้าสู่ภวังค์และจมดิ่งลงสู่ความเงียบ
สภาวะที่จิตมีสมาธิทำให้เกิดญาณ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าใช้เวลาหลายปีในความเงียบสงบ ทำสมาธิ จนกระทั่งตรัสรู้ 
รวมทั้ง มหาตมะคานธี ผู้นำทางวิญญาณของอินเดีย ที่นำการต่อสู้กับจักรวรรดิอังกฤษจนประเทศอินเดียได้รับเอกราช
ก็เช่นเดียวกัน ท่านงดพูดเมื่อจำเป็น เพราะเชื่อว่าความเงียบทำให้เกิดความสงบภายใน และมีความคิดอ่านที่ดีขึ้น
ท่าน ติช นัท ฮันห์  พระภิกษุชาวเวียดนาม ผู้เขียนหนังสือ ‘Silence’ กล่าวถึงความเงียบว่า คือ ประตูบานเเรกสู่
ความสงบ สันติ ดังนั้น ความเงียบไม่ใช่เพียงภาวะไร้เสียงจากภายนอกเท่านั้น แต่ความหมายที่แท้จริงของความเงียบ
คือ การหยุดเสียงที่คอยรบกวนจิตใจของตนเองนั่นเอง

ความเงียบเป็นภาษาในตัวเอง แต่ก็เป็นโหมดการสื่อสารที่ไม่ง่ายในการปฏิบัติ ต้องอาศัยความเข้มแข็งภายในเพื่อ
ช่วยให้เรารักษาความนิ่งสงบ ท่ามกลางสถานการณ์ความขัดแย้งรุนแรงและการใช้วาจาที่ไม่สุภาพ ในแง่มุมของ
การสื่อสาร ความเงียบเป็นหนึ่งในศิลปะของการสนทนาที่ยิ่งใหญ่ ผู้ที่สามารถใช้ความเงียบเพื่อสร้างความเข้าใจใน
สิ่งที่ต้องการก่อนจะสื่อให้คนอื่นได้ทราบ ถือว่าเข้าใจวิธีการใช้ความเงียบในการสื่อสารได้อย่างมีประสิทธิภาพ
การที่จะเป็นผู้ที่สามารถสื่อสารได้ดี ผู้นำจำเป็นต้องเริ่มต้นด้วยการเป็นผู้ฟังที่ดีก่อน เรียนรู้และฝึกฝนศิลปของ
ความเงียบ  ในการประชุมจะพบว่าผู้นำที่มีประสิทธิภาพในการสรุปประเด็นจะใช้เวลาส่วนใหญ่ถึง 70% ในการฟัง
แต่ใช้เวลาเพียงแค่ 30% ในการพูด ความเงียบยังช่วยให้เราเป็นคนที่สามารถเก็บความลับ กล่าวกันว่าคนยิ่งพูด
มากขึ้นเท่าไหร่ ยิ่งมีความจริงในสิ่งที่พูดน้อยลงเท่านั้น  

ในสถานการณ์ที่ดูเลวร้ายที่สุด เครื่องมือที่กลับทรงพลังที่สุด ก็คือ “ความเงียบ”  ซึ่งเป็นสิ่งที่ทุกคนสามารถฝึกฝน
นำมาใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยการพูดให้น้อยและฟังให้มาก

  บางส่วนจากบทความ  “พลังของความเงียบ (The Power of Silence)” 
  อ่านบทความเต็มได้ใน... วารสาร HR Society magazine ปีที่ 17 ฉบับที่ 203 เดือนพฤศจิกายน 2562

HR Trends : ดร.ณัฐวุฒิ พงศ์สิริ 
วารสาร : HR Society Magazine พฤศจิกายน 2562


FaLang translation system by Faboba