Promotion สินค้าทดลองใช้ เสีย VAT หรือไม่

โดย

 

การให้สินค้าให้ลูกค้าทดลองใช้งานก่อนซื้อต้องพิจารณาภาระภาษีมูลค่าเพิ่มและจัดการให้ถูกต้อง  มิฉะนั้น
อาจเจอปัญหาว่าเมื่อเจ้าพนักงานประเมินตรวจพบและมีประเด็นที่ชี้ว่าผู้ประกอบการดังกล่าวปฏิบัติไม่ถูกต้อง
ทำให้ต้องรับผิดย้อนหลังและต้องเสียเบี้ยปรับและเงินเพิ่มได้และบางกรณีสินค้าทดลองใช้เป็นการส่งเสริม
การขายที่ไม่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มได้

การให้สินค้าทดลองใช้แก่ลูกค้ามีกฎหมายที่เกี่ยวข้องตามประมวลรัษฎากร ดังนี้

1. มาตรา 77/2 การกระทำกิจการดังต่อไปนี้ในราชอาณาจักร ให้อยู่ในบังคับต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มตาม
บทบัญญัติในหมวดนี้
(1) การขายสินค้าหรือการให้บริการโดยผู้ประกอบการ.....

2. มาตรา 77/1 ในหมวดนี้ เว้นแต่ข้อความจะแสดงให้เห็นเป็นอย่างอื่น.....
(8) "ขาย" หมายความว่า จำหน่าย จ่าย โอนสินค้า ไม่ว่าจะมีประโยชน์หรือค่าตอบแทนหรือไม่ และให้
หมายความรวมถึง....”
(9) “สินค้า” หมายความว่า ทรัพย์สินที่มีรูปร่างและไม่มีรูปร่าง ที่อาจมีราคาและถือเอาได้ไม่ว่าจะมีไว้เพื่อขาย
เพื่อใช้ หรือเพื่อการใดๆ และให้หมายความรวมถึงสิ่งของทุกชนิดที่นำเข้า

3. มาตรา 77/1 (10)  " บริการ " หมายความว่า การกระทำใดๆ อันอาจหาประโยชน์อันมีมูลค่าซึ่งมิใช่เป็น
การขายสินค้า และให้หมายความรวมถึงการใช้บริการของตนเอง ไม่ว่าประการใดๆ แต่ทั้งนี้ไม่รวมถึง....”

จะเห็นได้ว่าตามกฎหมายภาษีมูลค่าเพิ่มจะจัดเก็บจากกิจกรรมในประเทศคือ การขายสินค้าและการให้บริการ
ซึ่งความหมายตามกฎหมายของคำว่า “สินค้า” ก็ดี ความหมายของคำว่า “ขาย” ก็ดี มุ่งประสงค์ที่จะกำหนดให้
ผู้ประกอบการที่มีการจำหน่ายจ่ายโอนสินค้า (ซึ่งรวมทรัพย์สินทุกกรณีด้วย ไม่ว่าจะมีไว้เพื่อขาย เพื่อใช้ หรือ
เพื่อการใดๆ) ไม่ว่าจะมีประโยชน์หรือค่าตอบแทน มีภาระภาษีมูลค่าเพิ่มจากการกระทำกิจกรรมดังกล่าว กล่าวคือ
ต้องมีภาระนำภาษีขายที่คำนวณได้มารวมคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มในเดือนดังกล่าวด้วย

ปัญหาก็คือว่า การส่งมอบสินค้าตัวอย่างให้ลูกค้าทดลองใช้จะถือเป็นการขายสินค้าหรือไม่ ปัญหาดังกล่าวต้อง
กลับไปพิจารณาจากนโยบายของผู้ประกอบการก่อนว่า การส่งมอบสินค้าตัวอย่างดังกล่าวมุ่งประสงค์ให้โอนให้
ลูกค้าหรือไม่ ถ้ามุ่งจะโอนให้ลูกค้าก็ต้องถือเป็นการขายสินค้าไม่ว่าจะโอนทันทีในขณะที่ให้ลูกค้าทดลองใช้ หรือ
จะโอนเมื่อลูกค้าจะซื้อ ดังนั้นเมื่อเป็นการขายสินค้าจึงต้องคำนวณหาจำนวนภาษีขาย อันเกิดจากการโอนสินค้า
ดังกล่าวเพื่อนำไปคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มของเดือนนั้น ซึ่งเดือนที่ต้องนำภาษีขายมาคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มจะเป็น
เดือนที่ส่งมอบสินค้าให้ลูกค้าทดลองใช้ เนื่องจากจุดความรับผิดในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับการขายสินค้า
จะเกิดขึ้นเมื่อส่งมอบสินค้าตามมาตรา 78 (1) แห่งประมวลรัษฎากร โดยมูลค่าของสินค้าที่ต้องนำมาคำนวณ
ภาษีขายได้แก่มูลค่าสินค้าตามราคาตลาดที่ขายเป็นปกติ

กรณีศึกษา บริษัทฯ ประกอบกิจการขายยา ได้มีการแจกตัวอย่างยาให้กับโรงพยาบาลและคลีนิกต่างๆ เพื่อเป็น
การทดลองใช้ บริษัทฯ ได้หารือว่า การแจกยาตัวอย่างต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มหรือไม่ และจะต้องหักภาษี
เงินได้ ณ ที่จ่าย หรือไม่

แนววินิจฉัย การแจกยาตัวอย่างตามข้อเท็จจริงข้างต้น เข้าลักษณะเป็นการขายสินค้าตามมาตรา 77/1 (8) แห่ง
ประมวลรัษฎากร บริษัทฯ มีหน้าที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 77/2 (1)

กรณีการขายสินค้าตามมาตรา 77/1 (8) แห่งประมวลรัษฎากร ไม่อยู่ในบังคับต้องถูกหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย
ตามคำสั่งกรมสรรพากรที่ ท.ป.4/2528 (หนังสือกรมสรรพากรที่ กค 0811 (กม.07) /916 
ลงวันที่ 27 มิถุนายน 2545)

จากกรณีศึกษาดังกล่าว  การมอบสินค้าตัวอย่างให้ลูกค้าทดลองใช้ถือเป็นการขายสินค้าต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม 
แต่อย่างไรก็ดี ถ้าการมอบสินค้าดังกล่าวเข้าเงื่อนไขตามข้อ 2 (7) ของประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับ
ภาษีมูลค่าเพิ่มฯ (ฉบับที่ 40)ฯ กำหนดไว้ว่า

ข้อ 2  ค่าตอบแทนที่ได้รับหรือพึงได้รับจากการขายสินค้าหรือการให้บริการดังต่อไปนี้ ไม่ต้องนำมารวมคำนวณ
เป็นมูลค่าของฐานภาษี ....  (7) มูลค่าของสินค้าตัวอย่างที่แจก เนื่องจากการจัดกิจกรรมส่งเสริมการขาย”

จะเห็นได้ว่า สินค้าตัวอย่างที่แจก หากเป็นสินค้าตัวอย่างเนื่องจากกิจกรรมส่งเสริมการขาย มูลค่าของสินค้า
ตัวอย่างดังกล่าวไม่มีมูลค่าที่ต้องนำมารวมคำนวณมูลค่าของฐานภาษี กล่าวคือไม่มีภาระภาษีมูลค่าเพิ่มที่ต้องนำ
มาคำนวณเป็นภาษีขายที่เป็นตัวเงินแต่อย่างใด และปัญหาที่อาจมีผู้ประกอบการฯ บางรายเข้าใจว่าการแจกสินค้า
ให้ลูกค้าไปทดลองใช้ก่อนซื้อไม่น่าที่จะมีภาระภาษีมูลค่าเพิ่ม ก็เนื่องมาจากเป็นการให้ฟรีไม่คิดเงินและหวังผลใน
ทางธุรกิจซึ่งเป็นการส่งเสริมการขายอย่างหนึ่ง แต่ในการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มเมื่อเข้านิยามความหมายของคำว่า
“สินค้า” และ “คำว่า “ขาย” ซึ่งเป็นการขายสินค้าจึงต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม เว้นแต่จะทำกิจกรรมส่งเสริมการขาย
และจากสินค้าตัวอย่าง (ซึ่งไม่ใช่สินค้าที่มีไว้ขายเป็นปกติ) และแจกในกิจกรรมส่งเสริมการขายนั้นก็จะไม่มีมูลค่า
ของฐานภาษีที่ต้องนำมารวมคำนวณเพื่อเสียภาษีมูลค่าเพิ่มแต่อย่างใด เช่น ผลิตภัณฑ์ยาสีฟันบางยี่ห้อได้
ผลิตยาสีฟันตัวใหม่ และทำสินค้าตัวอย่างเป็นหลอดขนาดเล็กไปแจกให้ลูกค้าทดลองใช้โดยแจกตามชุมชน
ห้างสรรพสินค้า เช่นนี้แม้จะเป็นการขายสินค้าแต่ไม่มีภาระภาษีมูลค่าเพิ่มที่จะต้องยื่นเป็นยอดขาย ภาษีขาย
แต่อย่างใด

   
      บางส่วนจากบทความ “Promotion สินค้าทดลองใช้ เสีย VAT หรือไม่”
      อ่านบทความฉบับเต็มได้ใน... วารสารเอกสารภาษีอากร ปีที่ 38 ฉบับที่ 457  เดือนตุลาคม 2562





Tax Talk : ภาษีสรรพากร : ชุมพร เสนไสย
วารสาร : เอกสารภาษีอากร ตุลาคม 2562



FaLang translation system by Faboba