กรมสรรพากรจับมือตลาดหลักทรัพย์ฯ ดันตราสารอิเล็กทรอนิกส์เต็มรูปแบบ

โดย

 


กรมสรรพากรมุ่งผลักดันการทำตราสารอิเล็กทรอนิกส์เต็มรูปแบบ สนับสนุน e-Business เพื่อตอบสนองนโยบาย
“Thailand 4.0” ยกระดับบริการทางอิเล็กทรอนิกส์ของกรมสรรพากร และอำนวยความสะดวกให้กับผู้ประกอบธุรกิจ
โดยมีตลาดหลักทรัพย์ฯ เป็นผู้ให้บริการรายแรกของประเทศ

ดร.เอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ อธิบดีกรมสรรพากร กล่าวว่า “เพื่อผลักดันการทำตราสารอิเล็กทรอนิกส์อย่างเต็มรูปแบบ
และสนับสนุน e-Business ของประเทศไทย กรมสรรพากรจึงได้เพิ่มการให้บริการ ชำระอากรแสตมป์ทาง
อิเล็กทรอนิกส์สำหรับตราสารอิเล็กทรอนิกส์ จำนวน 5 ตราสาร ได้แก่ 1. จ้างทำของ 2. กู้ยืมเงินหรือการตกลงให้
เบิกเงินเกินบัญชีจากธนาคาร 3. ใบมอบอำนาจ 4.ใบมอบฉันทะสำหรับให้ลงมติในที่ประชุมของบริษัท 5. ค้ำประกัน
ตราสารอิเล็กทรอนิกส์

ทั้ง 5 ประเภท สามารถยื่นขอชำระอากรได้ทางเว็บไซต์ของกรมสรรพากร และ ทาง Application Programming
Interface (API) ผู้เสียอากรสามารถยื่นขอชำระอากรด้วยตนเอง หรือผ่านผู้ให้บริการ (Service Provider)
ให้เป็นผู้ชำระอากรแทนก็ได้ โดยได้เปิดให้บริการชำระอากรแสตมป์ทางอิเล็กทรอนิกส์สำหรับตราสารอิเล็กทรอนิกส์
ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2562 เป็นต้นไป ซึ่งจะสามารถชำระอากรได้อย่างสะดวก รวดเร็ว ลดขั้นตอนการจัดทำ
เอกสารด้วยกระดาษ ลดปัญหาการคำนวณมูลค่าอากรแสตมป์ผิดพลาด ส่งเสริมให้การทำธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์
เป็นไปอย่างสมบูรณ์ครบวงจร 

ส่วนการชำระผ่านผู้ให้บริการ กรมสรรพากรได้จับมือกับตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ซึ่งเป็นผู้ให้
บริการรับชำระอากรแสตมป์ทางอิเล็กทรอนิกส์สำหรับตราสารอิเล็กทรอนิกส์เป็นรายแรก โดยร่วมพัฒนาเชื่อมต่อ
ระบบการนำส่งข้อมูลตราสารอิเล็กทรอนิกส์ทาง API ที่มีปริมาณข้อมูลจำนวนมาก เพื่อให้ใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพ” 

ดร. ภากร ปีตธวัชชัย กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า “ตลาดหลักทรัพย์ฯ
มุ่งพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานสำหรับตลาดทุนยุคดิจิทัล โดยบริษัท ฟินเน็ต อินโนเวชั่น เน็ตเวิร์ค จำกัด (FinNet)
ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของตลาดหลักทรัพย์ฯ เปิดให้บริการชำระอากรแสตมป์เป็นตัวเงินสำหรับตราสารอิเล็กทรอนิกส์
เป็นรายแรก ชำระอากรแสตมป์ได้โดยเรียกใช้ชุดคำสั่งคอมพิวเตอร์ที่เป็นมาตรฐาน (Application Programming
Interface) โดยความร่วมมือครั้งนี้เป็นต้นแบบของการเป็นพันธมิตรระหว่างภาครัฐและเอกชน (public private
partnership) เพื่ออำนวยความสะดวกทางธุรกิจ (ease of doing business) โดยตลาดหลักทรัพย์ฯ จะขยาย
ความร่วมมือไปยังหน่วยงานราชการอื่น เพื่อเป็นสะพานเชื่อมให้เป็นประโยชน์แก่ทุกภาคส่วน ตามวิสัยทัศน์ “To Make
the Capital Market ‘Work’ for Everyone”



Happening : บรรณาธิการ
วารสาร : CPD&ACCOUNT กันยายน 2562


FaLang translation system by Faboba