รู้เท่า ตามทัน อากรแสตมป์สำหรับตราสารอิเล็กทรอนิกส์

โดย

 



การชำระอากรแสตมป์เป็นตัวเงิน สำหรับตราสารอิเล็กทรอนิกส์


เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2562 กรมสรรพากรได้ออกประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับอากรแสตมป์ฯ (ฉบับที่ 58)
และแก้ไขเพิ่มเติมตามประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับอากรแสตมป์ฯ (ฉบับที่ 59) ลงวันที่ 18 กรกฎาคม 2562
โดยประกาศอธิบดีกรมสรรพากรฉบับดังกล่าวมีสาระสำคัญเกี่ยวกับการชำระอากรเป็นตัวเงินสำหรับ
ตราสารอิเล็กทรอนิกส์ โดยกฎหมายได้กำหนดความหมายของคำว่า “ตราสารอิเล็กทรอนิกส์” ว่าหมายถึง “ตราสาร
แห่งบัญชีอัตราอากรแสตมป์ ท้ายหมวด 6 ในลักษณะ 2 แห่งประมวลรัษฎากร ที่จัดทำข้อความขึ้นเป็นข้อมูล
อิเล็กทรอนิกส์ตามกฎหมายว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์” 

ข้อความที่เป็นข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ตามกฎหมายว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ คืออะไร หากเรา
พิจารณามาตรา 4 และมาตรา 8 แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2544 และที่แก้ไขเพิ่มเติม
จะเห็นได้ว่า พระราชบัญญัติฉบับดังกล่าวได้กำหนดนิยามความหมายของ “ข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์” ว่าหมายถึง
“ข้อความที่ได้สร้าง ส่ง รับ เก็บรักษา หรือ ประมวลผลด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ เช่น วิธีการแลกเปลี่ยนข้อมูลทาง
อิเล็กทรอนิกส์ จดหมายอิเล็กทรอนิกส์ โทรเลข โทรพิมพ์ หรือโทรสาร” โดยข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์นั้นสามารถเข้าถึง
และนำกลับมาใช้ได้โดยความหมายไม่เปลี่ยนแปลง ซึ่งข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์จะมีผลผูกพันคู่สัญญาได้นั้น จะต้องมี
การลงลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์ตามมาตรา 9 แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งศาลไม่สามารถ
ปฏิเสธการรับฟังข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์เป็นพยานหลักฐานในกระบวนการพิจารณาตามกฎหมายทั้งในคดีแพ่ง คดีอาญา
หรือคดีอื่นใด เพียงเพราะเหตุว่าเป็นข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์เท่านั้น ทั้งนี้ ตามมาตรา 11 แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วย
ธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ฯ ดังนั้น ข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์จึงมีค่าเทียบเท่ากับข้อมูลที่อยู่ในรูปของกระดาษ 

คำถามที่ตามมา คือ ตราสารอิเล็กทรอนิกส์ที่คู่สัญญาจัดทำขึ้นต้องเสียอากรแสตมป์หรือไม่ หากพิจารณา
มาตรา 8 วรรค 2 แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ฯ กำหนดว่า ในการทำตราสารอิเล็กทรอนิกส์
หากตราสารต้องเสียอากรแสตมป์ตามประมวลรัษฎากรแล้ว ให้ผู้มีหน้าที่เสียอากรแสตมป์เป็นตัวเงิน ซึ่งในช่วงเวลา
ที่ผ่านมา (ก่อนประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับอากรแสตมป์ (ฉบับที่ 58)ฯ มีผลใช้บังคับ) คู่สัญญาบางรายได้
จัดทำตราสารอิเล็กทรอนิกส์และได้เสียอากรแสตมป์เป็นตัวเงินในรูปแบบของตราสารที่เป็นกระดาษ โดยการพิมพ์
ออกมาจากเครื่องคอมพิวเตอร์ และชำระอากรเป็นตัวเงินด้วยแบบ อ.ส. 4 ณ สำนักงานสรรพากรพื้นที่สาขา ซึ่งวิธีการ
ดังกล่าวเป็นการสร้างภาระให้ผู้มีหน้าที่เสียอากรและไม่สอดคล้องกับรูปแบบของตราสารที่มีลักษณะเป็น
อิเล็กทรอนิกส์ เพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว กรมสรรพากรจึงได้กำหนดวิธีการชำระอากรแสตมป์เป็นตัวเงินสำหรับตราสาร
อิเล็กทรอนิกส์บางประเภทให้ผู้มีหน้าที่เสียอากรให้สามารถชำระอากรแสตมป์ผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ได้ตามแบบ
อ.ส. 9  ตามประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับอากรแสตมป์ (ฉบับที่ 58)ฯ 

ปัจจุบัน ตราสารอิเล็กทรอนิกส์ที่กำหนดให้ชำระเป็นตัวเงิน ตามประกาศอธิบดีกรมสรรพากรฉบับดังกล่าว มีเพียง
5 ประเภทเท่านั้น ได้แก่ 
1. สัญญาจ้างทำของ
2. สัญญากู้ยืมเงิน หรือทำการตกลงให้เบิกเงินเกินบัญชีจากธนาคาร
3. ใบมอบอำนาจ
4. ใบมอบฉันทะสำหรับให้ลงมติในที่ประชุมบริษัท และ
5. สัญญาค้ำประกัน

สาเหตุที่เลือกตราสาร 5 ประเภทนี้เป็นลำดับแรก มีเหตุผลอันเนื่องมาจากความนิยมหรือจำนวนผู้ใช้ตราสารดังกล่าว
ในการทำธุรกรรมกับหน่วยงานต่าง ๆ เช่น ธนาคารพาณิชย์ สำนักงานคณะกรรมการหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์
(ก.ล.ต.) เป็นต้น มีเป็นจำนวนมาก การใช้ตราสารในรูปของกระดาษในการชำระอากรเป็นตัวเงินด้วยแบบ อ.ส. 4
จึงไม่อำนวยความสะดวกให้ผู้มีหน้าที่เสียอากรและไม่สร้างความสมัครใจในการเสียอากรเป็นอย่างยิ่ง


   
      บางส่วนจากบทความ “รู้เท่า ตามทัน อากรแสตมป์สำหรับตราสารอิเล็กทรอนิกส์”
      อ่านบทความฉบับเต็มได้ใน... วารสารเอกสารภาษีอากร ปีที่ 38 ฉบับที่ ฉบับที่ 456  เดือนกันยายน 2562




Tax Talk : Tax How To : ดร. เพชรรัตน์ ศุภนิมิตรกุลกิจ
วารสาร : เอกสารภาษีอากร กันยายน 2562



FaLang translation system by Faboba