5 เรื่องต้องใส่ใจ! เพื่อรักษาสิทธิให้คงอยู่ของผู้ประกันตนตามมาตรา 39

โดย

 


แนวทางบางประการที่พระราชบัญญัติประกันสังคม (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2558 กำหนดไว้ เพื่อรักษาสิทธิการเป็น
ผู้ประกันตนให้คงอยู่ตลอดไป มีดังนี้ 

ปะการแรก กฎหมายประกันสังคมกำหนดการสิ้นสุดความเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 39 กรณีผู้ประกันตนขาด
ส่งเงินสมทบไว้ 2 ประการ คือ (1) ตามมาตรา 41 (4) คือ ขาดส่งเงินสมทบ 3 เดือน ติดต่อกันซึ่งจะทำให้ความเป็น
ผู้ประกันตนสิ้นสุดลงในเดือนแรกที่ไม่ส่งเงินสมทบ (2) ตามมาตรา 41 (5) คือ ส่งเงินสมทบไม่ครบ 9 เดือนภายใน
ระยะเวลา 12 เดือน
ซึ่งความเป็นผู้ประกันตนจะสิ้นสุดลงในเดือนที่ส่งเงินสมทบไม่ครบ 9 เดือน

ประการที่สอง ต้องไม่ลืมนำส่งเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคม เพราะการลืมนำส่งเงินสมทบในงวดเดือนใด
จะถือว่าผู้ประกันตนขาดส่งเงินสมทบ (ค้างชำระ) ในงวดเดือนนั้นและหากผู้ประกันตนประสงค์ จะรักษาสิทธิการเป็น
ผู้ประกันตน ต้องจ่ายเงินสมทบในงวดที่ขาดส่งหรือค้างชำระและรับผิดในการจ่ายเงินเพิ่มในอัตราร้อยละ 2 ของเงิน
สมทบที่ค้างชำระ หรือหากไม่ส่งเงินสมทบเลยจะต้องสิ้นสุดความเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 39 ตามมาตรา 41 (4)
หรือ (5) แล้วแต่กรณี

ประการที่สาม ไม่มีกฎหมายหรือระเบียบใดที่กำหนดให้สำนักงานประกันสังคมมีหนังสือเตือนหรือสอบถามเหตุผล
ความจำเป็น
ในกรณีที่ผู้ประกันตนขาดส่งเงินสมทบในเดือนใดเดือนหนึ่ง
เรื่องนี้มีคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5955/2557 วินิจฉัยไว้ว่า พระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. 2533 มาตรา 39 วรรคสาม บัญญัติให้เป็นหน้าที่ของผู้ประกันตนนำส่งเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมทุกเดือนภายในวันที่ 15 ของเดือนถัดไป
และมาตรา 41 (5) บัญญัติให้ความเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 39 สิ้นสุดลงเมื่อภายในระยะเวลา 12 เดือน ส่งเงิน
สมทบมาแล้วไม่ครบ 9 เดือน โดยมีผลให้ความเป็นผู้ประกันตนสิ้นสุดลงในเดือนที่ส่งเงินสมทบไม่ครบ 9 เดือน 
บทกฎหมายดังกล่าวไม่ได้บัญญัติให้เป็นหน้าที่ของสำนักงานประกันสังคม ในการแจ้งเตือนให้ผู้ประกันตนที่ไม่ส่งเงิน
สมทบหรือส่งเงินสมทบไม่ครบถ้วน ให้ส่งเงินสมทบและเงินเพิ่มหรือสอบถามเหตุผลความจำเป็นที่ขาดส่งเงินสมทบ
จากผู้ประกันตนก่อน ผู้ประกันตนจึงไม่มีสิทธิอ้างว่าไม่ได้รับการแจ้งเตือนการขาดส่งเงินสมทบ หรือไม่มีการสอบถาม
เหตุผลความจำเป็นที่ขาดส่งเงินสมทบภายใน 12 เดือน ผู้ประกันตนขาดส่งเงินสมทบ 4 งวดเดือนและส่งเงินสมทบ
8 งวดเดือน ความเป็นผู้ประกันตนจึงสิ้นสุดลง ตามมาตรา 41 (5) แห่งพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. 2533

ประการที่สี่ กรณีผู้ประกันตนตามมาตรา 39 มี “เหตุแห่งความจำเป็น” ไม่อาจนำส่งเงินสมทบได้ทันภายใน
วันที่ 15 ของเดือนถัดไป ผู้ประกันตนสามารถยื่นคำขอขยายเวลาการส่งเงินสมทบออกไปได้ เพื่อไม่ให้ถูกตัดสิทธิ
การเป็นผู้ประกันตน
เนื่องจากพระราชบัญญัติประกันสังคม (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2558 มาตรา 84/1 บัญญัติว่า “กำหนดเวลาตามที่บัญญัติไว้
ในมาตรา 39 มาตรา 45 มาตรา 47 และมาตรา 47 ทวิ ถ้าผู้มีหน้าที่ปฏิบัติตามกำหนดเวลานั้นมีเหตุจำเป็นอันมิอาจ
ก้าวล่วงได้ และได้ยื่นคำร้องเพื่อขอขยายหรือเลื่อนกำหนดเวลาโดยแสดงเหตุแห่งความจำเป็นนั้น ถ้าเลขาธิการ
เห็นสมควร จะขยายหรือเลื่อนกำหนดเวลาออกไปก็ได้ ทั้งนี้ ต้องยื่นคำร้องภายใน 15 วันนับแต่เหตุจำเป็นนั้นสิ้นสุดลง

ประการที่ห้า การที่ผู้ประกันตนขาดส่งเงินสมทบและเจ้าหน้าที่มีคำสั่งให้สิ้นสภาพการเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 39
บุคคลดังกล่าวมีสิทธิอุทธรณ์คำสั่งต่อคณะกรรมการอุทธรณ์และฟ้องคดีต่อศาลแรงงาน 
โดยยื่นอุทธรณ์คำสั่งต่อเจ้าหน้าที่ภายใน 30 วันนับแต่วันที่ได้รับแจ้งคำสั่ง เพื่อให้คณะกรรมการอุทธรณ์ได้พิจารณา
ทบทวนคำสั่งของเจ้าหน้าที่ชั้นต้น หากไม่พอใจผลคำวินิจฉัยก็มีสิทธิฟ้องคดีต่อศาลแรงงานได้ภายใน 30 วันนับแต่
วันที่ได้รับแจ้งคำวินิจฉัย และหากไม่เห็นด้วยก็สามารถอุทธรณ์คำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลแรงงานเฉพาะใน
ปัญหาข้อกฎหมายไปยังศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษภายใน 15 วันนับแต่วันที่ได้อ่านคำพิพากษาหรือคำสั่งนั้นและยื่น
ฎีกาต่อศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานภายในกำหนด 1 เดือน นับแต่วันที่ได้อ่านคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาล แต่หาก
ผู้ประกันตนไม่ฟ้องคดีต่อศาลแรงงานภายในกำหนด จะถือว่าคำวินิจฉัยของคณะกรรมการอุทธรณ์เป็นที่สุด (มาตรา 85
และ มาตรา 87 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. 2533 และมาตรา 54 และมาตรา 57/1
แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 และที่แก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติ
จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2558 และประมวลกฎหมายกฎหมายวิธีพิจารณา
ความแพ่ง) 

อย่างไรก็ตาม เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาข้อโต้แย้งขึ้นไม่ว่าในขั้นตอนใด ผู้ประกันตนจึงสมควรอย่างยิ่ง ที่จะต้องใส่ใจทั้ง
การส่งเงินสมทบเป็นประจำทุกงวดเดือน การตรวจสอบเงินในบัญชีกรณีให้ธนาคารหักเงินในบัญชี หรือ
การใช้สิทธิอุทธรณ์หรือฟ้องคดีต่อศาล
ตามขั้นตอนที่กฎหมายกำหนด เพราะผู้ประกันตนตามมาตรา 39 ได้รับความ
คุ้มครองเช่นเดียวกับผู้ประกันตนตามมาตรา 33 ยกเว้นกรณีว่างงาน


  บางส่วนจากบทความ  “5 เรื่องต้องใส่ใจ! เพื่อรักษาสิทธิให้คงอยู่ของผู้ประกันตนตามมาตรา 39” 
  อ่านบทความเต็มได้ใน... วารสาร HR Society magazine ปีที่ 17 ฉบับที่ 199 เดือนกรกฎาคม 2562

กฎหมายแรงงาน : ประกันสังคม : ปรานี สุขศรี
วารสาร : HR Society Magazine กรกฎาคม 2562


FaLang translation system by Faboba