หลักเกณฑ์ในการพิจารณาจัดเก็บภาษีสรรพสามิต และหลักการภาษีสรรพสามิตที่ดี

โดย

 


6 หลักการของภาษีสรรพสามิตที่ดี


ภาษีสรรพสามิตเป็นภาษีประเภทหนึ่งในระบบภาษีอากร ดังนั้น การบริหารจัดเก็บภาษีสรรพสามิตให้เกิดประสิทธิภาพ
และได้ประโยชน์สูงสุดจึงต้องอาศัย “หลักการของภาษีอากรที่ดี” ซึ่งเมื่อพิจารณาภาษีอากรที่ดีในมิติหรือแง่มุมของ
ภาษีสรรพสามิตแล้ว ผู้เขียนเห็นว่า “ภาษีสรรพสามิตที่ดี” ควรมีลักษณะดังต่อไปนี้ 

(1) “ความเป็นธรรม” (Equity) ในที่นี้อาจหมายถึงความยุติธรรมด้านราคาที่ใช้เป็นฐาน (Base) ในการคำนวณภาษี
ความยุติธรรมเรื่องการกำหนดชนิด ประเภท และลักษณะของสินค้าหรือบริการที่ทำให้สินค้าหรือบริการหนึ่งต้องเสียภาษี
ในอัตราที่มากกว่าสินค้าหรือบริการอื่นๆ โดยพิจารณาจากเจตนารมณ์หรือหลักการทางทฤษฎีอันเป็นพื้นฐานของภาษี
สรรพสามิต ความยุติธรรมเป็นเรื่องหลักในการจัดเก็บภาษีอากรทุกชนิดว่าควรที่จะยึดหลักจัดเก็บภาษีอากรจากผู้ที่ได้รับประโยชน์ (Beneficiary - Pays Principle) หรือจัดเก็บภาษีจากความสามารถในการจ่ายภาษี (Ability – to -
Pay Principal) ความเป็นธรรมในทางทฤษฎีเป็นแนวคิดที่นำไปใช้ร่างกฎหมายเพื่อให้ได้กฎหมายภาษีอากรที่มีความ
เป็นธรรม ส่วนความเป็นธรรมในทางปฏิบัติจะเกี่ยวข้องกับการบริหารจัดเก็บภาษีที่มีประสิทธิภาพ และมีการบังคับใช้
กฎหมายอย่างทั่วถึงและเป็นธรรมด้วย

(2) “ความมีประสิทธิภาพ” (Efficiency) กล่าวคือ อัตราภาษีที่จัดเก็บจะต้องอยู่ในระดับที่เหมาะสม ไม่ก่อให้เกิด
การหยุดชะงักของระบบเศรษฐกิจและสามารถบรรลุวัตถุประสงค์ของการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตนั้นๆ ได้ เช่น ภาษีบุหรี่
ที่ช่วยทำให้ปริมาณการสูบบุหรี่ลดลงถือเป็นภาษีที่มีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ การกำหนดส่วนต่างของอัตราภาษีภายใน
สินค้าหรือบริการประเภทเดียวกันแต่ต่างชนิดกัน เช่น เบียร์กับเหล้า ก็อาจส่งผลต่อความมีประสิทธิภาพของภาษี
ถ้าส่วนต่างของอัตราภาษีมีค่าน้อยเกินไป ก็อาจจะทำให้ผู้บริโภคไม่มีแรงจูงใจที่จะปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภค
ไปสู่สินค้าหรือบริการชนิดที่มีภาษีที่ต่ำกว่าในขณะเดียวกันถ้าส่วนต่างของภาษีมีมากเกินไปก็อาจจะทำให้ผู้ผลิตสินค้า
หรือบริการเกิดความเสียเปรียบทางการค้ากับสินค้าหรือบริการที่เป็นคู่แข่งขันทางการค้าได้

(3) “ความเอื้ออำนวยในการจัดเก็บภาษี” (Collectability) กล่าวคือ จะต้องสามารถนำไปบังคับใช้ได้จริง
สามารถเข้าใจได้ง่ายไม่ซับซ้อนจนเกินไป โดยบทบัญญัติตามกฎหมายจะต้องเข้าใจง่ายไม่ซับซ้อน ข้อปฏิบัติต่างๆ
ต้องไม่มากเกินความจำเป็น แต่ก็ต้องทำให้ยากต่อการหลีกเลี่ยงภาษีหรือหนีภาษี ทั้งนี้ควรมีต้นทุนในการจัดเก็บ
ตลอดจนการควบคุมดูแลที่ต่ำ

(4) “ส่งผลกระทบเชิงพฤติกรรม” (Behavioral Effects) เจตนารมณ์หลักสำคัญประการหนึ่งของภาษี
สรรพสามิตคือ การควบคุมการบริโภคสินค้าหรือบริการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพและศีลธรรมอันดี ดังนั้น อัตราภาษี
สรรพสามิตที่ดีจะต้องสามารถก่อให้เกิดการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภคได้ในระดับหนึ่งซึ่งเป็นระดับที่เหมาะสม
ทั้งต่อผู้ผลิตสินค้าและผู้บริโภค กล่าวคือ จะต้องไม่ก่อให้เกิดการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภคที่เอื้อประโยชน์ให้กับ
ผู้ผลิตกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งมากจนเกินไป

(5) “ความยืดหยุ่น” (Elasticity) อัตราภาษีสรรพสามิตที่ดีต้องสามารถรองรับการเปลี่ยนแปลงของสภาวะตลาดได้
เช่น อัตราดอกเบี้ยที่เพิ่มสูงขึ้น ความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน อัตราเงินเฟ้อ สามารถรองรับการเปลี่ยนแปลงไปของ
สภาวะทางสังคมได้ เช่น การคำนึงถึงความสำคัญของการประหยัดพลังงานในสภาวะที่ราคาน้ำมันในตลาดโลกมีราคาสูง
ซึ่งหากต้องการที่จะปรับเปลี่ยนอัตราภาษีก็สามารถทำได้โดยมีค่าใช้จ่ายน้อยหรือค่าเสียโอกาสในระดับต่ำ

(6) “ความสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาล” (Compatibility) กล่าวคือ อัตราภาษีสรรพสามิตที่ดีจะต้อง
สอดคล้องกับการจัดเก็บภาษีอากรอื่นๆ และสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลในช่วงนั้น ตลอดจนสอดคล้องกับ
ความต้องการของสังคม อย่างไรก็ตามรัฐบาลก็จะต้องมีนโยบายที่แน่นอนในการจัดเก็บภาษี เพราะการที่รัฐเปลี่ยนแปลง
นโยบายบ่อยๆ ก็อาจกระทบถึงการวางแผนธุรกิจของเอกชนด้วย

นอกจากภาษีสรรพสามิตจะต้องมีลักษณะของภาษีอากรที่ดีดังกล่าวข้างต้นแล้ว นโยบายหรือหลักการในการจัดเก็บ
ภาษีจะต้องมีความเป็น “Accountability” ด้วย กล่าวคือ การจัดเก็บภาษีจะต้องมีความโปร่งใส (Transparency)
สามารถตอบคำถามประชาชนผู้มีหน้าที่เสียภาษี เหตุผลในการจัดเก็บมีความสอดคล้องกับเจตนารมณ์ของกฎหมาย (Answerable) และในขณะเดียวกันก็จะต้องมีองค์กรทำหน้าที่เป็นกลไกในการตรวจสอบและควบคุม (Institutional
Checks or control mechanisms) เมื่อนโยบายหรือหลักการในการจัดเก็บภาษีมีความเป็น Accountability ดังกล่าว
แล้ว ก็จะส่งผลให้ประชาชนเสียภาษีด้วยความสมัครใจ (Voluntary) มากขึ้น รัฐบาลก็จะสามารถจัดเก็บภาษีได้โดย
ไม่มีความขัดแย้ง ไม่มีความจำเป็นต้องใช้มาตรการบังคับให้ประชาชนเสียภาษีและส่งผลให้ต้นทุนในการจัดเก็บลดลง
ในที่สุด ซึ่งการจัดเก็บภาษีที่ประชาชนเสียภาษีด้วยความสมัครใจภายใต้กระบวนการจัดเก็บที่มีประสิทธิภาพนั้น
ยังสะท้อนให้เห็นถึงความเจริญรุ่งเรืองและความมีอารยะของสังคมประเทศนั้นด้วย


   
      บางส่วนจากบทความ “หลักเกณฑ์ในการพิจารณาจัดเก็บภาษีสรรพสามิต และหลักการภาษีสรรพสามิตที่ดี”
      อ่านบทความฉบับเต็มได้ใน... วารสารเอกสารภาษีอากร ปีที่ 38 ฉบับที่ 454  เดือนกรกฎาคม  2562




Tax Talk : Excise Tax : ประพันธ์ คงเอียด
วารสาร : เอกสารภาษีอากร กรกฎาคม 2562



FaLang translation system by Faboba