คดีใดเป็นคดีผู้บริโภค

โดย

 


หลายคนเมื่อจะฟ้องคดีผู้บริโภคมักสับสนถึงจำนวนทุนทรัพย์ที่ฟ้องคดี โดยทุนทรัพย์ของคดีที่ยื่นฟ้อง หากไม่เกิน
300,000 บาท จะไม่อยู่ในเขตอำนาจของศาลจังหวัด ทำให้เกิดความเข้าใจผิดไป ว่าคดีดังกล่าวเป็นคดีผู้บริโภคหรือไม่
ความจริงแล้ว จำนวนทุนทรัพย์ไม่ใช่ประเด็นในการที่จะนำมาพิจารณาว่าคดีดังกล่าวเป็นคดีผู้บริโภคหรือไม่ เพราะเหตุว่า
การยื่นฟ้องคดีต่อศาล หากจำนวนทุนทรัพย์ไม่เกิน 300,000 บาท ก็ยื่นฟ้องต่อศาลแขวงในเขตท้องที่นั้น
ส่วนกรณีท้องที่นั้นไม่มีศาลแขวง แต่ปรากฏว่าจำนวนทุนทรัพย์เกิน 300,000 บาท จึงต้องยื่นฟ้องต่อศาลจังหวัดใน
เขตท้องที่ตามกฎหมาย ซึ่งไม่ว่ากรณีใดก็ตามศาลแขวงหรือศาลจังหวัดต้องพิจารณาคดี ตามพระราชบัญญัติวิธี
พิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ. 2551 และข้อกำหนดของศาลประธานศาลฎีกา

บุคคลจะทราบได้ว่าคดีที่ตนจะใช้สิทธิในการฟ้องคดีเป็นคดีผู้บริโภคหรือไม่ โดยพิจารณาจากมาตรา 3 ของ
พระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ. 2551 ได้บัญญัติว่า “คดีผู้บริโภค” หมายความว่า 

กรณีที่ 1 คดีแพ่งระหว่างผู้บริโภคหรือผู้มีอำนาจฟ้องคดีแทนผู้บริโภคตามมาตรา 19 หรือกฎหมายอื่น
กับผู้ประกอบธุรกิจ ซึ่งพิพาทกันเกี่ยวกับสิทธิหรือหน้าที่ตามกฎหมายอันเนื่องมาจากการบริโภคสินค้าหรือ
บริการ
ในเบื้องต้นต้องทำความเข้าใจความหมายของผู้บริโภคก่อนว่าหมายถึงใครบ้าง  ความจริงแล้วคำว่า
“ผู้บริโภค” หมายถึงผู้ได้รับความเสียหายจากกฎหมายต่างๆ ที่บัญญัติถึงผู้บริโภคไว้ เช่น พระราชบัญญัติความรับผิด
ต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นจากสินค้าที่ไม่ปลอดภัย พ.ศ.2551,พระราชบัญญัติการแข่งขันทางการค้า พ.ศ.2542,
พระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2522 เป็นต้น แต่ความหมายของผู้บริโภคตามพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดี
ผู้บริโภค พ.ศ. 2551 ให้นำนิยามความหมายของผู้บริโภค ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภคมาพิจารณา ซึ่งได้แก่
ผู้ซื้อ ผู้ได้รับบริการจากผู้ประกอบธุรกิจ ผู้ซึ่งได้รับการเสนอหรือชักชวนจากผู้ประกอบธุรกิจ เพื่อให้ซื้อสินค้าหรือบริการ
ผู้ใช้สินค้าหรือผู้ได้รับบริการจากผู้ประกอบธุรกิจแม้ไม่ได้เป็นผู้เสียค่าตอบแทน

นอกจากนี้ยังต้องพิจารณาคำว่า “ซื้อ” หมายถึง เช่า เช่าซื้อหรือได้มาไม่ว่าด้วยประการใดๆ โดยให้ค่าตอบแทน
เป็นเงินหรือผลประโยชน์อย่างอื่น คำว่า “ ขาย” ให้รวมถึงให้เช่า เช่าซื้อหรือจัดหาให้ไม่ว่าด้วยประการใดๆ โดยเรียก
ค่าตอบแทนเป็นเงินหรือผลประโยชน์อย่างอื่น ตลอดจนการเสนอหรือชักชวนเพื่อการดังกล่าวด้วย คำว่า “ สินค้า”
หมายถึงสิ่งของที่ผลิตหรือมีไว้เพื่อขาย หากผลิตหรือมีไว้ แต่ไม่เป็นการขายก็ไม่เข้าหลักเกณฑ์นี้ ซึ่งการซื้อขายที่เห็น
ชัดเจนในชีวิตประจำวันของท่านผู้อ่าน ส่วนมากถือเป็นการซื้อขายสินค้าตามความหมายของพระราชบัญญัติวิธี
พิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ. 2551 ส่วนคำว่า  “บริการ” หมายถึง การรับจัดทำการงาน การให้สิทธิใดๆ หรือการให้ใช้หรือ
ให้ประโยชน์ในทรัพย์สินหรือกิจการใดๆ โดยเรียกค่าตอบแทนเป็นเงินหรือผลประโยชน์อื่น แต่ไม่รวมถึงการจ้างแรงงาน
ตามกฎหมายแรงงาน เช่น การให้กู้ยืมเงิน ว่าจ้างให้ว่าความ รับทำบัญชี รับตรวจสอบบัญชี การเช่า เช่าซื้อรถยนต์ 
เหล่านี้ก็ถือเป็นการให้บริการ  ส่วนคำว่า “ ผู้ประกอบธุรกิจ” หมายถึง ผู้ขาย ผู้ผลิตเพื่อขาย ผู้สั่งหรือนำเข้ามาในราชอาณาจักร เพื่อขายหรือผู้ซื้อเพื่อขายต่อ ซึ่งสินค้า หรือผู้ให้บริการ และหมายความรวมถึงผู้ประกอบกิจการโฆษณาด้วย 

กรณีที่ 2 คดีแพ่งตามกฎหมายเกี่ยวกับความรับผิดต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นจากสินค้าที่ไม่ปลอดภัย
คดีดังกล่าวเป็นคดีที่ฟ้องเรียกค่าเสียหายเกิดจากการละเมิด โดยผู้เสียหายเป็นโจทก์และผู้ประกอบการเป็นจำเลย
และผู้เสียหายไม่จำเป็นต้องเป็นผู้ใช้สินค้านั้น ประการสำคัญสินค้านั้นไม่เป็นอสังหาริมทรัพย์ แต่เป็นสังหาริมทรัพย์
เท่านั้น อีกทั้งการบริการไม่เข้าลักษณะตามกฎหมายว่าด้วยความรับผิดต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นจากสินค้า
ที่ไม่ปลอดภัย ต้องเป็นการซื้อขายสินค้าเท่านั้น

กรณีที่ 3 คดีแพ่งที่เกี่ยวพันกับคดีตามข้อ 1 หรือข้อ 2 กล่าวคือ เป็นคดีผู้บริโภคที่ไม่ใช่ตามข้อ 1 ถึงข้อ 2 แต่
เกี่ยวพันกัน เช่น คดีฟ้องตามสัญญากู้ยืมเงินและผู้ค้ำประกัน การฟ้องผู้ค้ำประกัน ฟ้องแย้งหรือร้องสอด จึงเป็นคดีแพ่ง
ที่เกี่ยวพันกับถือเป็นคดีผู้บริโภคด้วย

กรณีที่ 4 คดีแพ่งอื่นที่มีกฎหมายบัญญัติให้ใช้วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภคนี้ ซึ่งกรณีอาจเกิดขึ้นได้โดยกฎหมายนั้นๆ
บัญญัติให้คดีแพ่งเป็นคดีผู้บริโภค ซึ่งสำนักงานศาลยุติธรรมได้กำหนดให้แต่ละศาลแสดงไว้ในรายงานคดีว่าเป็น
คดีผู้บริโภค


   
      บางส่วนจากบทความ “คดีใดเป็นคดีผู้บริโภค”
      อ่านบทความฉบับเต็มได้ใน... วารสารเอกสารภาษีอากร ปีที่ 38 ฉบับที่ 454  เดือนกรกฎาคม  2562





Business Laws : Laws & News : ไพศาล ทองขาว
วารสาร : เอกสารภาษีอากร กรกฎาคม  2562



FaLang translation system by Faboba