5 ปัจจัยต้องรู้! เพื่อรักษา “คนเก่ง” ให้อยู่คู่องค์กร

โดย

 


ทุกองค์กรล้วนต้องการ “คนเก่ง” เข้ามาทำงาน โดยเป้าหมายในการสรรหาคัดเลือกบุคลากรก็คือ หาคนเก่ง
คนดี และคนที่เหมาะสมเข้ามาทำงานกับบริษัท ในช่วงที่บริษัทกำลังหาคนเก่งนั้น ทุกองค์กรมักพยายามที่จะ
หาทุกวิถีทางที่จะได้คนเก่งๆ เข้ามาทำงาน ไม่ว่าจะเป็นการพูดคุยโน้มน้าวถึงข้อดีของการทำงานที่นี่ ค่าจ้าง
เงินเดือนที่ให้สูงกว่าที่เก่าที่เคยทำงานอยู่ สวัสดิการที่ดีกว่า สภาพการทำงาน ความเป็นอยู่ต่างๆ  ฯลฯ รวมไป
ถึงทุกอย่างที่คิดว่า น่าจะดึงดูดคนเก่งคนนั้นได้ ก็ถูกเอามาใช้เป็นเหตุผลเพื่อดึงดูดและจูงใจให้ผู้สมัครเก่งๆ
ตัดสินใจที่จะทำงานกับบริษัทให้จงได้

แต่ทว่า เมื่อได้คนเก่งเข้ามาทำงานแล้ว หลายองค์กรกลับปล่อยปละละเลยคนเหล่านี้ ทั้งที่อุตส่าห์หามาอย่าง
เหนื่อยยาก กระทั่งวันหนึ่ง เมื่อคนเก่งกลุ่มนี้เดินเข้ามาขอลาออก องค์กรจึงค่อยหันมาให้ความสนใจอีกครั้ง
ผู้บริหารเริ่มตกใจว่าเกิดอะไรขึ้น เราดูแลเขาไม่ดีหรือ จากนั้นก็เริ่มเสนอสิ่งที่คนกลุ่มนี้ต้องการ ไม่ว่าจะเป็น
ค่าจ้างเงินเดือน สวัสดิการ การเลื่อนตำแหน่ง หรือการเรียนรู้และพัฒนา ฯลฯ แต่ก็ช้าเกินไป พนักงานกลุ่มนี้เ
ขาหมดความสนใจไปแล้ว เนื่องจากตอนที่ทำงานอยู่ เขาเหนื่อยยากในการทำงานสร้างผลงานให้กับบริษัท
แต่กลับไม่ได้รับความสนใจอะไรเลย ครั้นพอบอกว่าจะไป ถึงค่อยมาสนใจและใส่ใจ แต่เมื่อมาถึงนาทีนี้ Trust
ของคนเก่งก็หมดไปเสียแล้ว

แล้วองค์กรของท่านล่ะ เคยประสบกับเหตุการณ์ข้างต้นบ้างหรือไม่
ด้วยเหตุนี้ นอกจากระบบการสรรหาคัดเลือกที่ดีแล้ว องค์กรยังจะต้องมีระบบการเก็บรักษาพนักงานที่ดีด้วย
เช่นกัน เพื่อไม่ให้พนักงานเก่งๆ ที่เราอุตส่าห์คว้าตัวเขามาได้ ตัดสินใจลาออกไปจากบริษัทของเรา

ปัจจัยพื้นฐานในการเก็บรักษาคนเก่งไว้ทำงานให้นานที่สุด
แม้ว่าจะมีข้อจำกัดในการบริหารจัดการและการเก็บรักษาคนเก่งอยู่บ้าง แต่ไม่ว่าอย่างไร องค์กรก็ยังต้องให้ความ
สำคัญในการเก็บรักษาคนเก่งไว้อยู่ดี เพราะนี่คือทรัพยากรบุคคลที่สำคัญที่สุดที่จะสร้างผลงานชั้นเลิศให้กับองค์กร
จากงานวิจัยของ Ivan Hurtt Strategic HR Evangelist บริษัท BambooHR กับ Mykkah Herner Modern
Compensation Evangelist ทำงานอยู่ที่ PayScale สองคนนี้ได้รวบรวมข้อมูลและทำวิจัยแนวทางในการเก็บรักษา
พนักงาน (Retain) พนักงานที่เก่งๆ (Talent) ในยุคนี้ว่าจะต้องมีปัจจัยอยู่ 5 ปัจจัย ดังต่อไปนี้

1 Pay Fairly ปัจจัยแรกที่คนเก่งมักจะพูดถึงกันในสมัยนี้ก็คือ เรื่องของค่าตอบแทน ซึ่งถ้าเป็นยุคสมัยก่อน เรื่อง
ของค่าตอบแทนมักเป็นปัจจัยท้ายๆ ที่มีผลต่อการเก็บรักษาพนักงาน แต่ปัจจุบันดูเหมือนจะไม่ใช่อีกต่อไป เรื่องของ
ค่าตอบแทนกลับกลายเป็นเรื่องที่พนักงานโดยเฉพาะคนเก่งๆ ให้ความสำคัญมากขึ้นเรื่อยๆ โดยเรื่องของค่าตอบแทน
ที่เป็นธรรมนั้น จะต้องเป็นธรรมบนพื้นฐานของผลงานที่พนักงานทำ ประสบการณ์ และทักษะในการทำงาน นั่นก็คือ
ถ้าพนักงานคนไหนที่สามารถทำงานสร้างผลงานที่โดดเด่นได้ และมีความรู้ทักษะที่โดดเด่นไม่มีใครเหมือน ก็ให้จ่ายค่า
ตอบแทนที่แตกต่างออกไปเลย เพื่อที่จะให้คนกลุ่มนี้อยู่ทำงานกับองค์กรต่อไป

2 Flexibility ปัจจัยที่สองที่คนเก่งในยุคนี้ต้องการมากขึ้นเรื่อยๆ ก็คือ ความยืดหยุ่นในการทำงาน คนเก่งสมัยนี้
ไม่ต้องการกฎระเบียบข้อบังคับในการทำงานที่เคร่งครัดจนเกินไป ไม่ต้องการเวลาการทำงานที่เป๊ะ ฯลฯ แต่สิ่งที่คนเก่ง
ในยุคนี้ต้องการมากๆ ก็คือ ความยืดหยุ่นในการทำงาน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของวันเวลาในการทำงาน ระเบียบข้อบังคับที่
ไม่ยุ่งยาก ต้องการให้ทุกอย่างมีความยืดหยุ่นได้หมด ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของวัน - เวลาในการทำงาน การแต่งกาย
วิธีการทำงาน สถานที่ทำงาน ค่าจ้าง สวัสดิการ ฯลฯ ต้องยืดหยุ่น และสอดคล้องกับความต้องการได้อย่างดี

3 Respect ปัจจัยที่สามนี้ เป็นปัจจัยที่สำคัญในทุกยุคทุกสมัย คนเก่งทุกคนต้องการที่ได้รับการยอมรับนับถือจาก
คนอื่นในองค์กร โดยเฉพาะจากนายของตนเอง ดังนั้น ถ้าหากเราต้องการเก็บรักษาคนเก่งไว้ให้ได้ แปลว่า เราต้องให้
ความรู้ และสนับสนุนให้ผู้จัดการทุกระดับขององค์กรเป็นคนที่สามารถที่จะให้การยอมรับในฝีมือของลูกน้องตนเองได้

4 Offer Interesting work คนเก่งไม่ชอบที่จะทำงานเดิมๆ ซ้ำๆ ไปเรื่อยๆ แต่ชอบที่จะได้รับงานที่ท้าทาย และ
น่าสนใจ ดังนั้น การที่หัวหน้ามอบหมายงานที่ท้าทายให้ หรือมีการหมุนเวียนงาน โยกย้ายงานบ้าง ก็จะทำให้คนเก่ง
รู้สึกดี เพราะเขาจะรู้สึกว่าได้รับการพัฒนาตนเองอยู่ตลอดเวลา

5 Inspire Autonomy ปัจจัยที่ห้าก็คือ การให้อิสระในการทำงาน คนเก่งๆ ย่อมมีวิธีการในการทำงานของตนเอง
รู้จักที่จะคิด และหาทางที่จะได้มาซึ่งผลลัพธ์ที่องค์กรต้องการได้ด้วยตนเอง ดังนั้น องค์กรจึงควรที่จะให้โอกาสแก่
คนกลุ่มนี้ในการคิด สร้างสรรค์วิธีการทำงานของตนเอง ไม่ควรจะบอกและสั่งให้ทำทุกอย่างตามวิธีการเดิมๆ แต่ใช้วิธี
การมอบหมายงานโดยบอกผลลัพธ์ที่องค์กรต้องการ จากนั้นก็ให้เขาไปหาวิธีการด้วยตนเอง และหัวหน้าก็ตรวจสอบ
อยู่ห่างๆ เป็นระยะๆ ก็พอ

ประเด็นที่สำคัญอย่างยิ่งก็คือ เมื่อเราทราบแล้วว่า นี่คือปัจจัยที่จะเก็บรักษาคนเก่งๆ ไว้ได้ แล้วเราจะลงมือสร้างสิ่ง
เหล่านี้ให้เกิดขึ้นในองค์กรของเราได้อย่างไร การที่เราสูญเสียคนเก่งๆ ไปเรื่อยๆ มันคือต้นทุนที่แพงมากขององค์กร
เพราะต้องหาคนเข้ามาทดแทน และยังต้องอบรมพัฒนาเขาให้เก่งให้ได้ ซึ่งล้วนแต่เป็นต้นทุนที่สูงมาก 

เพราะฉะนั้น การที่องค์กรยอมลงทุนในปัจจัยที่จะเก็บรักษาคนเก่งๆ ไว้ ก็น่าจะเป็นสิ่งที่ดีสำหรับการบริหาร
ทรัพยากรบุคคลในยุคอนาคต ที่องค์กรต้องการคนเก่งๆ เข้ามาทำงานเพื่อสร้างอนาคตขององค์กร


  บางส่วนจากบทความ  “5 ปัจจัยต้องรู้! เพื่อรักษา “คนเก่ง” ให้อยู่คู่องค์กร” 
  อ่านบทความเต็มได้ใน...
วารสาร HR Society magazine ปีที่ 17 ฉบับที่ 195 เดือนมีนาคม 2562


HRM/HRD : บทความพิเศษ : อาจารย์ประคัลภ์ ปัณฑพลังกูร 
วารสาร : HR Society Magazine มีนาคม 2562


FaLang translation system by Faboba