ข้อควรระมัดระวังที่สำคัญอื่นๆ ในการปิดบัญชีประจำปีที่นักบัญชีควรต้องทราบ

โดย

 


ประเด็นที่ 1 : ข้อกำหนดทางกฎหมายพื้นฐาน 
คำถาม : นิติบุคคล (ห้างหุ้นส่วนจำกัด/บริษัทจำกัด) ต้องปิดบัญชีประจำปีให้แล้วเสร็จภายในกี่วัน
คำตอบ : นิติบุคคล (ห้างหุ้นส่วนจำกัด/บริษัทจำกัด) ต้องปิดบัญชีประจำปีให้แล้วเสร็จภายใน 60 วัน
นับตั้งแต่วันสิ้นรอบระยะเวลาบัญชี (นักบัญชีหลายท่านมักเข้าใจผิดว่า จะต้องปิดบัญชีให้แล้วเสร็จ
ภายใน 150 วัน) (อ้างอิง : ประกาศกรมทะเบียนการค้า เรื่อง กำหนดชนิดของบัญชีที่ต้องจัดทำ ข้อความและ
รายการที่ต้องมีในบัญชี ระยะเวลาที่ต้องลงรายการในบัญชีและเอกสารที่ต้องใช้ประกอบการลงบัญชี พ.ศ. 2544)
คำถาม : กรณีเป็นบริษัทจำกัด ต้องนำงบการเงินประจำปีนำเสนอเพื่ออนุมัติในที่ประชุมใหญ่สามัญ
ผู้ถือหุ้นภายใน 120 วัน หรือ 4 เดือน

คำตอบ : ภายใน 4 เดือน (อ้างอิง : ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ - หุ้นส่วนและบริษัท มาตรา 1197)
(ข้อสังเกต : โดยส่วนใหญ่ หลายๆ บริษัทมักจะกำหนดวันที่ประชุมใหญ่สามัญผู้ถือหุ้นประจำปี เป็น
วันที่ 30 เมษายน)
คำถาม : กรณีเป็นบริษัทจำกัด ในการประชุมใหญ่สามัญผู้ถือหุ้น ต้องโฆษณาในหนังสือพิมพ์แห่ง
ท้องที่และส่งหนังสือเชิญประชุมทางไปรษณีย์ตอบรับก่อนวันนัดประชุมล่วงหน้ากี่วัน

คำตอบ : ไม่น้อยกว่า 7 วัน (อ้างอิง : ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ - หุ้นส่วนและบริษัท มาตรา 1175)
คำถาม : บริษัทจำกัด ภายหลังจากงบการเงินได้รับการอนุมัติจากที่ประชุมใหญ่สามัญผู้ถือหุ้น
ทางบริษัท จะต้องยื่นงบการเงินต่อกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ ภายใน 30 วัน
หรือ 1 เดือน

คำตอบ : ภายใน 1 เดือน นับแต่วันที่งบการเงิน ได้รับการอนุมัติ (อ้างอิง : พระราชบัญญัติการบัญชี
พ.ศ. 2543 หมวดที่ 2 ผู้มีหน้าที่จัดทำบัญชี มาตรา 11)
คำถาม : ภายหลังจากการประชุมใหญ่ผู้ถือหุ้นประจำปี ทางบริษัทจะต้องนำยื่นสำเนาบัญชีรายชื่อ
ผู้ถือหุ้น ภายในระยะกี่วัน ตามที่กฎหมายกำหนด

คำตอบ : ภายใน 14 วัน นับแต่วันประชุมใหญ่สามัญผู้ถือหุ้น (อ้างอิง : ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
หุ้นส่วนและบริษัท มาตรา 1139, ประกาศกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการยื่นงบการเงิน
ประจำปี, ประกาศกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เรื่อง แนวทางปฏิบัติในการยื่นงบการเงิน ประจำปี) (ข้อสังเกต :
กรณีการยื่นสำเนาบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้นพร้อมการยื่นงบการเงิน ซึ่งอาจจะเกินกว่าระยะเวลาที่กฎหมาย
กำหนดนั้น คงจะต้องติดตามแนวทางปฏิบัติจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้าว่ายังจะอนุโลมให้ยื่นสำเนารายชื่อ
ผู้ถือหุ้นพร้อมงบการเงินได้หรือไม่)

ประเด็นที่ 2 : ข้อควรระมัดระวังในการจัดทำสำเนาบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้น (บอจ.5)
สำหรับประเด็นนี้ Mr.Knowing อยากจะให้ทางนักบัญชีระมัดระวังเป็นกรณีพิเศษ โดยเฉพาะกรณีที่มีบทบาท
เป็นผู้รับจ้างทำบัญชี กล่าวคือ การจัดทำสำเนารายชื่อผู้ถือหุ้น ควรจะมีการตรวจสอบกับสมุดทะเบียนผู้ถือหุ้น
(หลักการตามข้อกฎหมาย อ้างอิง : ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ - หุ้นส่วนและบริษัท มาตรา 1138)
เพื่อให้มั่นใจว่ารายชื่อผู้ถือหุ้นยังคงเป็นข้อมูลปัจจุบันหรือไม่ ไม่ควรปฏิบัติโดยการนำเอาสำเนาบัญชีรายชื่อ
ผู้ถือหุ้นปีก่อนมาพิมพ์ใหม่ ซึ่งอาจจะเป็นข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง (ข้อสังเกต : บริษัทจำกัดโดยส่วนใหญ่ไม่ค่อย
จัดทำสมุดทะเบียนผู้ถือหุ้น และใบหุ้น หากเป็นแบบนี้จะทำอย่างไรดี... โดยความเห็นส่วนตัว ควรคัดสำเนา
บัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้นหลังวันสิ้นงวดและควรนำไปสอบถามกับทางผู้บริหารเพื่อยืนยันข้อมูลก่อนนำมาจัดทำ
สำเนาบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้น (บอจ.5) เป็นลำดับต่อไป)

ประเด็นที่ 3 : ข้อควรระมัดระวัง ทุนจดทะเบียนของบริษัท/ทุนของผู้เป็นหุ้นส่วนจำกัด
ประเด็นนี้ก็คล้ายกับประเด็นที่ 2 ซึ่งมักจะพบข้อผิดพลาดบ่อยๆ เกี่ยวกับทุนจดทะเบียนบริษัท/ทุนของผู้เป็น
หุ้นส่วนจำกัด กล่าวคือ มีการเพิ่มทุนในระหว่างปี (ส่วนใหญ่ที่พบ มักไปเพิ่มทุนตอนสิ้นปี) แต่ข้อมูล
การเพิ่มทุน เอกสารในการเพิ่มทุน มิได้ส่งให้ทางบัญชีทันที บัญชีเองก็นึกว่า ทุนของบริษัท/ห้างหุ้นส่วนจำกัด
ณ วันสิ้นงวดบัญชี คงไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะผู้สอบบัญชีรับอนุญาตที่อาจจะขาดความระมัดระวัง
ในเรื่องดังกล่าว ทำให้ข้อมูลทุนจดทะเบียนที่ปรากฏในงบการเงินไม่ตรงกับทุนจะเบียนที่มีการเปลี่ยนใหม่
ดังนั้น ในหลักการพื้นฐาน โดยเฉพาะนักบัญชีที่ให้บริการรับจ้างทำบัญชี จะต้องตรวจสอบประเด็นดังกล่าว
ด้วยความระมัดระวัง โดยเบื้องต้นควรไปคัดสำเนาหนังสือรับรองบริษัทหลังวันสิ้นงวดบัญชี เพื่อยืนยันว่า
ทุนจดทะเบียนตรงกับที่ปรากฏในงบการเงินหรือไม่

ประเด็นที่ 4 : รายงานความเห็นของผู้สอบบัญชีรับอนุญาต
ประเด็นนี้ก็เป็นประเด็นสำคัญที่ทางบริษัทควรให้ความสำคัญต่อรายงานผู้สอบบัญชีรับอนุญาต ซึ่งหลักการ
พื้นฐาน รายงานผู้สอบบัญชีรับอนุญาตโดยทั่วไป จะแบ่งออกเป็น 4 ลักษณะ ได้แก่
1. รายงานแบบไม่มีเงื่อนไข
2. รายงานแบบมีเงื่อนไข
3. รายงานแบบแสดงความเห็นว่างบการเงินไม่ถูกต้อง
4. รายงานแบบไม่แสดงความเห็น
ดังนั้น เพื่อลดปัญหา/ความไม่เข้าใจที่อาจเกิดขึ้น (โดยเฉพาะรายงานผู้สอบบัญชีรับอนุญาต ในข้อ 2, 3 และ 4)
ผู้มีหน้าที่จัดทำบัญชี (กรรมการผู้มีอำนาจ) และนักบัญชี จึงควรให้ความสำคัญในการอ่านรายงานผู้สอบบัญชีรับ
อนุญาต ว่ามีอะไรที่เป็นข้อสงสัยหรือไม่ และควรพบกับผู้สอบบัญชีรับอนุญาตเพื่อซักถามข้อมูล ผลการตรวจสอบ
รายการปรับปรุง (ถ้ามี) และข้อแนะนำอื่นๆ อันจะเป็นประโยชน์แก่ทางบริษัท

ประเด็นที่ 5 : รายการปรับปรุงที่เสนอโดยผู้สอบบัญชีรับอนุญาต
กรณีที่ผู้สอบบัญชีรับอนุญาตตรวจสอบพบประเด็นข้อผิดพลาดที่เป็นสาระสำคัญต่องบการเงิน ผู้สอบบัญชีรับ
อนุญาตจะเสนอเป็นรายการปรับปรุงเพื่อให้นักบัญชีนำไปปรับปรุงงบการเงิน ซึ่งในความเห็นส่วนตัว นักบัญชี
ควรนำรายการปรับปรุงดังกล่าวเสนอให้ผู้มีหน้าที่จัดทำบัญชีได้รับทราบด้วยว่า รายการปรับปรุงมีผลกระทบกับ
งบการเงินอย่างไร และท่านเห็นด้วยหรือไม่ มีข้อสงสัยอย่างไรกับรายการปรับปรุงหรือไม่ เพื่อไม่ก่อให้เกิด
ความเข้าใจผิดในภายหลัง สรุปง่ายๆ คือ นักบัญชีควรนำรายการปรับปรุงของผู้สอบบัญชีรับอนุญาต นำเสนอให้
ผู้มีหน้าที่จัดทำบัญชีได้พิจารณาและลงนามอนุมัติ ก่อนจะนำไปปรับปรุงในงบการเงินต่อไป


บัญชี : บัญชีสบายๆ กับ Mr.Knowing : Mr.Knowing
วารสาร : CPD&ACCOUNT มีนาคม 2562


FaLang translation system by Faboba