Engagement Survey กับความสุขในการทำงานของพนักงาน

โดย

 

3 ความพร้อมที่สำคัญของผู้บริหารหากคิดจะทำ Engagement Survey


ความสุขในการทำงานของพนักงานนั้นเป็นสิ่งสำคัญ แต่เราจะรู้ได้อย่างไรว่า พนักงานมีความสุขใน
การทำงานหรือไม่?

ปัจจุบันนี้ องค์กรมักจะใช้สิ่งที่เรียกว่า “Engagement Survey” ซึ่งเป็นการสำรวจระดับความผูกพันของพนักงาน
ที่มีต่อองค์กร โดยแนวคิดพื้นฐานก็คือ ถ้าพนักงานมีความพึงพอใจในการทำงาน เขาก็จะรู้สึกมีความสุขในการทำงาน
และจะมีผลต่อความรู้สึกผูกพันของพนักงานต่อองค์กรในระดับที่สูงด้วยเช่นกัน ซึ่งความผูกพันของพนักงานต่อ
องค์กรนั้น ก็มีงานวิจัยหลายๆ แห่งพิสูจน์กันมาอย่างมากมายแล้วว่า เป็นสิ่งที่สามารถสร้างผลิตภาพได้อย่างมาก
กล่าวคือ องค์กรที่มีพนักงานที่มีความสุขในการทำงาน จะมีระดับความผูกพันที่สูง และระดับความผูกพันที่
สูงนั้น ก็จะส่งผลต่อการสร้างผลงานของพนักงานต่อองค์ด้วยเช่นกัน 

อย่างไรก็ดี ในการจะทำ Engagement Survey ให้ประสบผลสำเร็จ ผู้บริหารเองจะต้องมีความพร้อมอย่าง
มากในหลายเรื่องด้วยกัน ดังนี้

• พร้อมที่จะเปิดใจรับฟังความเห็นของพนักงาน ผู้บริหารจะต้องพร้อมที่จะรับฟังเรื่องราวที่ไม่ดีจากพนักงาน
อย่างเปิดใจและจริงใจ เพราะผลการสำรวจที่ออกมาอาจมีประเด็นที่ผู้บริหารโดนเข้าเต็มๆ ก็เป็นได้ ผู้บริหารบางองค์กร
มั่นใจตนเองมากว่า เขาเป็นผู้นำที่ดีและทำให้พนักงานทุกคนมีแรงจูงใจในการทำงาน แต่ผลสำรวจกลับออกมา
ตรงกันข้าม พนักงานส่วนใหญ่กลับมองว่า ผู้บริหารเป็นปัญหามากที่สุดที่ทำให้พนักงานหมดแรงจูงใจในการทำงาน
พอได้ยินผลการสำรวจแบบนี้ ก็บอกว่าผลการสำรวจเชื่อไม่ได้ โดยไม่สนใจเปิดใจรับฟังเหตุผลว่าทำไมพนักงานถึง
รู้สึกแบบนี้ หรือบางองค์กรพนักงาน feedback แทบทุกเรื่องในการบริหารจัดการ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องนโยบาย
การบริหารงาน การบริหารคน เงินเดือน สวัสดิการ การบริหารจัดการของหัวหน้า ฯลฯ เรียกว่าส่วนมากไม่มีอะไรดีเลย
แต่ผู้บริหารเองพอได้เห็นผลแบบนั้นก็ไม่เชื่อไม่ยอมรับอีก และมองว่าต้องมีอะไรที่ผิดปกติจากการสำรวจแน่นอน
ทั้งที่จริงๆ แล้วผลทุกอย่างก็ออกมาจากตัวพนักงานในองค์กรทั้งสิ้น

• พร้อมที่จะไม่สงสัยว่าพนักงานคนไหนที่ให้ข้อมูล อีกประเด็นที่สำคัญมากก็คือ ผู้บริหารพอได้ยินข้อมูลที่ไม่ดี
ก็มักอยากรู้ว่าพนักงานคนไหนที่บอกแบบนั้น ชื่ออะไร เขาเป็นใครอยู่หน่วยงานไหน ฯลฯ ตัวชื่อพนักงานนั้นคงไม่มีใคร
บอกอยู่แล้ว เพราะนี่คือจรรยาบรรณของคนที่ทำการสำรวจ แต่ผู้บริหารระดับสูงก็มักจะชอบมาคุยหลังไมค์ว่า บอกหน่อย
สิว่าใครที่ให้ข้อมูลแบบนั้น อีกทั้งยังบอกกับที่ปรึกษาว่า สัญญาว่าจะไม่ไปทำอะไรพนักงานคนนั้นเลย ซึ่งผมเชื่อว่า
ไม่มีที่ปรึกษารายไหนที่กล้าบอกหรอกครับ เพราะนี่คือจรรยาบรรณในวิชาชีพของเขา และถ้าผู้บริหารเองอยากทำ
การสำรวจเรื่องนี้ก็ต้องพร้อมที่จะรับฟังพนักงาน โดยไม่ต้องไปสนใจว่าใครที่พูดแบบนั้น เพราะผมเชื่อว่าพนักงานคนนั้น
ต้องโดนอะไรบ้างไม่มากก็น้อย ถ้าผู้บริหารทราบชื่อไปเต็มๆ

• 
พร้อมที่จะปรับปรุงสิ่งที่พนักงานให้ความเห็น อีกเรื่องที่สำคัญมากๆ ก็คือ ถ้าเราทำ Engagement Survey
แปลว่า เราต้องพร้อมที่จะปรับปรุงและเปลี่ยนแปลงระบบงานที่พนักงานแจ้งมาว่ายังไม่ดีพอ ปกติผลการสำรวจจะออก
มาว่า ประเด็นไหนบ้างที่ทำให้พนักงานรู้สึกไม่ผูกพัน และต้องการให้ปรับเปลี่ยนอย่างไรบ้าง เมื่อเราไปสอบถามพนักงาน
พนักงานเองก็จะรู้สึกว่า องค์กรกำลังต้องการจะเปลี่ยนแปลง ก็เลยให้คนนอกมาสอบถามความคิดเห็น แต่พอทำเสร็จ
ถ้าองค์กรไม่พร้อมที่จะเปลี่ยนแปลงอะไรเลย ผลที่ตามมาก็คือ พนักงานจะยิ่งไม่ผูกพันกับองค์กรมากขึ้น เพราะรู้สึกว่า
องค์กรกำลังหลอกพวกเขาอยู่ มีคนมาสำรวจพร้อมรับฟังปัญหาไป พนักงานก็ต้องคาดหวังอยู่แล้วว่า ผู้บริหารน่าจะ
ผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงบางอย่างขึ้นมา จึงเริ่มที่จะรอและคาดหวังถึงสิ่งที่ดีกว่า แต่สุดท้ายกลับไม่มีอะไรเกิดขึ้น
แม้สักนิด ซึ่งถ้าเป็นแบบนี้ก็อย่าทำ Engagement Survey เลยดีกว่าครับ เพราะมีแต่จะทำให้พนักงานผิดหวัง
และสร้างปัญหาตามมาอีกมากมาย

  บางส่วนจากบทความ  “Engagement Survey กับความสุขในการทำงานของพนักงาน” 
  อ่านบทความเต็มได้ใน...
วารสาร HR Society magazine ปีที่ 17 ฉบับที่ 194 เดือนกุมภาพันธ์ 2562


HRM/HRD : อาจารย์ประคัลภ์ ปัณฑพลังกูร 
วารสาร : HR Society Magazine กุมภาพันธ์ 2562


FaLang translation system by Faboba