“ชิคุนกุนยา” โรคร้ายที่มากับยุงลาย

โดย

 

 
หากพูดถึง “ยุงลาย” ใครๆ ก็รู้ดีว่ามันคือเจ้าวายร้ายที่พรากชีวิตของผู้คนไปเป็นจำนวนมากด้วยการเป็นพาหะนำ
โรคไข้เลือดออกมาสู่คน แต่รู้หรือไม่ว่า นอกจากโรคไข้เลือดออกแล้ว ยุงลายยังเป็นพาหะของโรคที่มีชื่อแปลกๆ ว่า
“โรคชิคุนกุนยา” (Chikungunya) หรือ “โรคไข้ปวดข้อยุงลาย” อีกด้วย คอลัมน์ Health เดือนนี้ จะขอพา
ทุกท่านไปรู้จักกับโรคดังกล่าวว่ามีอันตรายเพียงใด ต้องป้องกันและรักษาอย่างไร เชิญติดตามกันได้เลยครับ

“โรคชิคุณกุนยา” คืออะไร
มีการพบผู้ป่วยที่ป่วยด้วยโรคนี้เป็นครั้งแรก เมื่อ ปี พ.ศ. 2495 ในประเทศแทนซาเนีย โดยเรียกกันในชื่อโรคชิคุนกุนยา
(Chikungunya) ที่มีความหมายตามภาษาท้องถิ่นในแอฟริกาใต้ว่า “การก้มตัวงอ” ซึ่งสะท้อนมาจากอาการของผู้ป่วย
ที่จะเจ็บจนตัวงอเนื่องจากปวดข้ออย่างรุนแรงนั่นเอง โรคนี้มีสาเหตุมาจากเชื้อไวรัสชิคุนกุนยา (Chikungunya virus)
ซึ่งเป็น RNA Virus จัดอยู่ใน genus alphavirus และ family Togaviridae มียุงลาย (Aedes mosquitoes) เป็นพาหะ
นำโรคที่สำคัญ ซึ่งรวมทั้งยุงลายสวน (Aedes albopictus) และยุงลายบ้าน (Aedes aegypti) การติดต่อเกิดจากการที่
ยุงลายตัวเมียกัดและดูดเลือดของผู้ป่วย และไปกัดผู้อื่นต่อก็จะนำเชื้อไปสู่คนนั้นๆ โรคนี้จะพบมากขึ้นในฤดูฝน เพราะ
เป็นช่วงที่จำนวนประชากรยุงเพิ่มขึ้นและมีการติดเชื้อในยุงลายมากขึ้น โดยพบได้ในทุกกลุ่มอายุ ต่างจาก
โรคไข้เลือดออกและหัดเยอรมันที่ส่วนมากมักพบในผู้อายุน้อยกว่า 15 ปี

ระยะฟักตัวและอาการของโรค
ระยะการฟักตัวของโรคมักจะเกิดขึ้น 3-7 วันหลังจากที่ยุงกัด และอาการอาจเกิดขึ้นได้ตั้งแต่ 2-12 วันหลังยุงกัด
ผู้ที่ได้รับเชื้อดังกล่าวจะมีอาการเกิดไข้ขึ้นสูงอย่างฉับพลัน อาจสูงถึง 40 องศาเซลเซียส มีอาการเจ็บปวดบริเวณข้อ
ส่วนมากจะปวดบริเวณข้อมือ ข้อของนิ้วมือ ข้อเท้า อาการปวดข้อจะพบได้หลายๆ ข้อเปลี่ยนตำแหน่งไปเรื่อยๆ
หลายรายมีอาการตาแดง เกิดผื่นแดงขึ้นตามร่างกายและมีอาการคันร่วมด้วย หรือในบางรายอาจเกิดอาการปวดบวม
ที่ข้อรุนแรงมากจนบางครั้งขยับข้อไม่ได้ ซึ่งอาการมักจะหายภายใน 1-12 สัปดาห์ แต่ผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการปวด
ข้อเกิดขึ้นได้อีกภายใน 2-3 สัปดาห์ต่อมา และบางรายอาการปวดข้ออาจมีอยู่ได้นานเป็นเดือนหรือเป็นปี

การวินิจฉัยโรคชิคุนกุนยา
ในการวินิจฉัยโรคนี้ แพทย์จะต้องแยกความแตกต่างของการติดเชื้อจากโรคที่โดนยุงกัดที่คล้ายๆ กัน เช่น
โรคไข้เลือดออก โรคมาลาเรีย นอกจากนั้นยังต้องแยกโรคออกจากการติดเชื้อแบคทีเรีย เช่น ไข้ฉี่หนู หรือภาวะแพ้ภูมิ
ตนเองที่มีอาการคล้ายๆ กัน เช่น โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์อีกด้วย และต้องทำการตรวจวินิจฉัยในห้องแล็บ (เช่น
การเพาะเชื้อ การตรวจเลือด) เพื่อยืนยันข้อสันนิษฐาน ดังนั้น จึงเป็นเรื่องที่สำคัญมากที่ผู้ป่วยที่มีอาการเข้าข่ายของ
โรคนี้จะต้องแจ้งประวัติแก่แพทย์อย่างละเอียด โดยเฉพาะหากเคยเข้าไปอยู่ในพื้นที่ที่มีการระบาดของโรคหรือพื้นที่
ที่มียุงชุกชุม เพื่อให้แพทย์วินิจฉัยได้อย่างรวดเร็วและถูกต้องมากยิ่งขึ้น

การรักษาโรคชิคุนกุนยา
โรคนี้ยังไม่มีวิธีการรักษาที่จำเพาะเจาะจง (Specific Treatment) การรักษาจึงเป็นการรักษาแบบประคับประคอง
(Supportive Treatment) เพื่อบรรเทาอาการเจ็บปวดจนกว่าเชื้อจะหมดไปจากร่างกาย เช่น ให้ยาลดไข้ ยาลดอาการ
ปวดข้อ และควรให้คนไข้ได้พักผ่อนอย่างเพียงพอ ดื่มน้ำสะอาดมากๆ

วิธีการป้องกัน
เนื่องจากปัจจุบันยังไม่มีวัคซีนป้องกันโรคชิคุนกุนยา ดังนั้นการป้องกันที่ดีที่สุดคือการกำจัดยุงลายให้ได้มากที่สุด และ
ป้องกันร่างกายไม่ให้โดนยุงกัด โดยกำจัดการแพร่พันธุ์ของยุงลาย ด้วยการคว่ำภาชนะทุกชนิดที่มีน้ำขังเพราะจะทำให้
ยุงลายไปวางไข่ได้ นอกจากนี้ยังควรหาวิธีในการป้องกันยุง เช่น การติดมุ้งลวดเพื่อป้องกันไม่ให้ยุงเข้ามาในบ้าน
การสวมเสื้อแขนยาวและทายาป้องกันยุงหากมีความจำเป็นที่จะต้องไปอยู่ในพื้นที่ที่มียุงชุกชุม เป็นต้น



แหล่งข้อมูล :
- https://med.mahidol.ac.th/ramachannel
- http://www.boe.moph.go.th/fact/Chikungunya.htm
- https://www.honestdocs.co/chikungunya/chikungunya-symptom
- http://www.tm.mahidol.ac.th/eng/tropical-medicine-knowledge/chikungunya.htm


Health : SaiFahz
วารสาร : HR Society Magazine กุมภาพันธ์ 2562


FaLang translation system by Faboba