Q&A คำถามยอดฮิต!! ว่าด้วยเรื่องของ“ยา”

โดย

 


ก่อนอื่นใดคงต้องขอกล่าวคำว่า “สวัสดีปีใหม่ 2562” ครับ ขอให้ท่านผู้อ่านทุกท่านมีความสุข ร่ำรวย และสุขภาพ
แข็งแรงนะครับ 

คอลัมน์ Health ประจำเดือนแรกของปีใหม่นี้ กระผมนาย SaiFahz ก็ยังคงสรรหาสาระดีๆ ในการดูแลสุขภาพกาย
และสุขภาพใจมาฝากกันเหมือนเช่นเคย โดยขอเริ่มต้นด้วยเรื่องของ “ยารักษาโรค” ซึ่งทุกคนคงล้วนเคยมี
ประสบการณ์ในการใช้ยาเพื่อบรรเทาอาการเจ็บไข้ได้ป่วยกันมาแล้วทั้งนั้น ทว่าหลายคนก็อาจยังมีข้อสงสัยเกี่ยวกับ
การใช้ยา จะมีคำถามยอดฮิตอะไรบ้าง ไปติดตามกันเลยครับ!

Q: การใช้ยาชนิดเดิมติดต่อกันเป็นเวลานานทำให้เกิดอาการดื้อยาจริงหรือไม่?
A: ต้องบอกก่อนเลยว่าหลายคนเชื่อแบบนี้จริงๆ แต่ในความจริงแล้วการใช้ยาชนิดเดิมติดต่อกันเป็นเวลานานไม่ได้
ทำให้เกิดการดื้อยา แต่สาเหตุของการดื้อยานั้นเกิดจากพฤติกรรมของผู้ป่วยเองที่ไม่กินยาให้ครบตามจำนวนและ
เวลาที่แพทย์สั่ง เช่น กลุ่มยาปฏิชีวนะ มักมีการระบุคำสั่งไว้บนซองยาชัดเจนว่า “เป็นยาปฏิชีวนะรับประทานต่อ
เนื่องทุกวันจนหมด” แต่ผู้ป่วยบางรายกลับหยุดรับประทานยาเองทันทีเมื่อรู้สึกว่าอาการดีขึ้น ซึ่งพฤติกรรมเช่นนี้
ทำให้การรักษาไม่ได้ผลดีเท่าที่ควรเชื้อที่ก่อโรคอาจถูกกำจัดไม่หมดและมีโอกาสแบ่งตัวเพิ่มจำนวนจนทำให้เกิด
โรคซ้ำอีก รวมถึงเชื้อโรคอาจมีการกลายพันธุ์และทำให้เกิดการดื้อยาในที่สุด

Q: การใช้ยาเป็นเวลานานทำให้ตับและไตพังจริงหรือไม่?
A: การใช้ยาไม่ใช่สาเหตุเพียงอย่างเดียวที่จะทำให้เกิดพิษต่อตับและไต แต่ต้องมีองค์ประกอบอื่นมาร่วมด้วย เช่น
ระบบการทำงานของตับและไตของแต่ละบุคคล รวมถึงอายุผู้ป่วย โรคประจำตัว อาการของโรค ตลอดจนวิธีการใช้
ยาว่าถูกต้องตามที่แพทย์สั่งหรือไม่ และปริมาณในการใช้ยาชนิดนั้นๆ

Q: ประสิทธิภาพของยาต่างประเทศดีกว่ายาในประเทศจริงหรือไม่่?
A: ข้อนี้ไม่เป็นความจริงแต่อย่างใดครับ เพราะยาแต่ละชนิดไม่ว่าจะเป็นยาในประเทศหรือยาต่างประเทศ ก่อนที่
จะมีการนำมาใช้หรือวางจำหน่ายล้วนต้องผ่านกระบวนการตรวจสอบอย่างละเอียดและมีใบรับรองว่ามีประสิทธิภาพ
มีคุณภาพเพียงพอในการที่จะนำมาใช้รักษาโรคเพราะฉะนั้น ทั้งยาในประเทศและต่างประเทศต่างก็มีประสิทธิภาพ
ด้วยกันทั้งสิ้นครับ

Q: ยาชนิดฉีดให้ผลการรักษาดีกว่ายาชนิดรับประทาน...จริงหรือไม่?
A: ไม่จริงเสมอไปครับ ยาชนิดรับประทานก็มีคุณภาพในการรักษาเช่นกัน เพียงแต่ยาชนิดฉีดนั้นจะออกฤทธิ์ได้เร็ว
กว่ายาชนิดรับประทาน เนื่องจากไม่ต้องรอการดูดซึมของตัวยา

Q: ยาที่ออกฤทธิ์ “แรงๆ” ให้ผลการรักษาที่ดีกว่า...จริงหรือไม่?
A: ไม่จำเป็นเสมอไป โดยยาที่มีประสิทธิภาพออกฤทธิ์แรงนั้นมีไว้ใช้สำหรับผู้ป่วยที่ร่างกายไม่ตอบสนองต่อการใช้
ยาฤทธิ์อ่อนๆ ซึ่งสาเหตุหลักก็เกิดมาจากการดื้อยา อย่างไรก็ตาม การใช้ยาที่ออกฤทธิ์แรงก็มักต้องแลกมาด้วย
ผลข้างเคียงจากการใช้ยาชนิดนั้นๆ ด้วยรวมไปถึงการเสียค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้น

Q: การบด - หักครึ่งเม็ดยาก่อนรับประทานจะทำให้ประสิทธิภาพของยาลดลง...จริงหรือไม่?
A: ขึ้นอยู่กับชนิดของยาครับ เช่น ยาบางชนิด จะมีการออกแบบให้มีตัวยาเป็นเม็ดเล็กๆ อยู่ภายในเม็ดใหญ่หรือมี
การผลิตเป็นยาเม็ดเคลือบเพื่อควบคุมการปล่อยตัวยาให้สามารถออกฤทธิ์ได้ยาวนานขึ้น หากเราไปบดหรือแบ่งเม็ดยา
จะไปทำลายกลไกการปล่อยตัวยา และอาจทำให้ผู้ป่วยได้รับยาเกินขนาดจนเกิดอันตรายได้หรือยาบางชนิดจะมี
สารเคลือบเม็ดยาเพื่อให้สามารถป้องกันกรดในกระเพาะอาหารและไปถูกดูดซึมที่ลำไส้เล็ก ถ้าเราไปบดยาเหล่านี้
เมื่อรับประทานยาเข้าไป ตัวยาส่วนใหญ่ก็จะถูกทำลายที่กระเพาะอาหาร ทำให้ผลการรักษาไม่ได้ผลดีอย่างที่ควรจะเป็น
ดังนั้น หากไม่จำเป็นก็อย่าไปหัก แบ่ง หรือบดเม็ดยาใดๆ เลยครับ ยกเว้นว่าคุณมีปัญหาในการรับประทานยาจริงๆ
กลืนยาเม็ดใหญ่ไม่ได้ ก็ควรปรึกษาเภสัชกรหรืออาจแจ้งปัญหากับแพทย์ผู้ทำการรักษาแต่เนิ่นๆ เพื่อให้แพทย์สั่งยา
ในรูปแบบอื่นที่เหมาะสม เช่น เปลี่ยนเป็นยาน้ำ เป็นต้น

ทั้งหมดนี้ก็เป็นเพียงสาระเล็กๆ น้อยๆ ว่าด้วยเรื่องของยาครับในการใช้ยารักษาโรคทุกชนิดนั้น หากมีข้อสงสัยใดๆ
ก็ตาม ผู้ใช้ยาควรจะปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรอย่างละเอียด และต้องปฏิบัติตามคำแนะนำอย่างเคร่งครัดด้วยนะครับ
เพราะหากใช้ยาแบบผิดๆนอกจากการรักษาจะไม่ได้ผลดีแล้ว ยังอาจมีผลเสียตามมาอีกมากมายเลยละครับ 


แหล่งข้อมูล :
• https://www.honestdocs.co/tablet-splitting
• https://mgronline.com/goodhealth/detail/9600000004780
• https://med.mahidol.ac.th

Health : SaiFahz
วารสาร : HR Society Magazine มกราคม 2562


FaLang translation system by Faboba