ปฏิบัติการค้นฟ้าคว้าดาว ออกเดินทางแล้ว!

โดย ปรีดิวิชญ์ พนมยงค์
 
 

     เมื่อเช้าวันเสาร์ที่ผ่านมา (7 มี.ค. - ตามเวลาในประเทศไทย) จรวดเดลต้าทู (Delta II) ถูกปล่อยจากฐานในแหลมคานาเวอรัล ฟลอริดา นำส่งยานอวกาศ “เคปเลอร์” (Kepler) มุ่งหน้าสู่อีกมุมหนึ่งของทางช้างเผือก ในภารกิจค้นหาดาวเคราะห์คล้ายโลก (Earth-like Planets) ซึ่งก่อนหน้านี้นักวิทยาศาสตร์เคยออกมาประกาศว่า ในดาราจักรทางช้างเผือกของเราอาจมีดาวเคราะห์ที่มีสิ่งมีชีวิตอาศัยอยู่มากมาย

     ภารกิจมูลค่า 600 ล้านดอลลาร์นี้ตั้งชื่อตาม โยฮันเนส เคปเลอร์ (Yohannes Kepler) นักดาราศาสตร์ชาวเยอรมัน ผู้ค้นพบกฎการเคลื่อนที่ของดาวเคราะห์ในศตวรรษที่ 17 เมื่อนำกฎของเคปเลอร์มารวมกับเทคโนโลยีสมัยใหม่ ก็อาจช่วยตอบคำถามคาใจมนุษย์ได้

     ยาน “เคปเลอร์” ถูกติดตั้งด้วยกล้องโทรทรรศน์ชนิดพิเศษ ซึ่งจะทำหน้าที่จ้องมองดาวนับ 100,000 ดวง ในบริเวณกลุ่มดาวหงส์ – ดาวพิณ (Cygnus – Lyra)  ตลอดระยะเวลา 3 ปี  มันจะคอยดูช่วงเวลาที่ดาวฤกษ์เหล่านั้นส่องแสงริบหรี่ เจือจางลง ซึ่งนั่นหมายความว่าอาจมีดาวเคราะห์กำลังโคจรผ่านหน้าดาวฤกษ์ดวงนั้น หรือที่เรียกว่า "ทรานสิต" (Transit)

     ด้วยกล้องที่มีความไวแสงสูงมาก มันจึงสามารถบันทึกการเปลี่ยนแปลงความสว่างของดาวฤกษ์ที่อยู่ไกลออกไปหลาย พันปีแสง ละเอียดแม่นยำขนาดที่ว่าถ้ามันมองลงมาบนพื้นโลกยามค่ำคืนก็จะสามารถตรวจวัด แสงจางๆ จากไฟฉายที่มีคนเดินผ่านหน้าได้

ดาวเคราะห์เป้าหมายจะต้องมีขนาดใกล้เคียงกับโลก อยู่ห่างจากดาวฤกษ์ในระยะที่อยู่อาศัยได้ (Habitable Zone) ซึ่งเป็นบริเวณที่อุณหภูมิเหมาะสมและอาจมีน้ำซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นต่อการดำรง อยู่ของสิ่งมีชีวิต

     ในปัจจุบัน นักวิทยาศาสตร์ค้นพบดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะ (Exoplanets) แล้วจำนวน 330 ดวง แบ่งออกเป็น 3 ประเภท คือ ดาวเคราะห์ก๊าซยักษ์ (Gas Giants) ดาวเคราะห์ฮ๊อตซูเปอร์เอิร์ธ (Hot Super Earths) และ ดาวเคราะห์น้ำแข็งยักษ์ (Ice Giants) ซึ่งดาวเคราะห์เหล่านี้ไม่มีสภาพที่สามารถเกื้อหนุนสิ่งมีชีวิตอยู่ได้เลย

     เมื่อกล้องเคปเลอร์ตรวจพบดาวเคราะห์เป้าหมายแล้ว นักวิทยาศาสตร์ก็จะคำนวณขนาด มวล รอบโคจร ระยะห่างจากดาวฤกษ์ โดยอาศัยกฎของเคปเลอร์นั่น เอง และจากข้อมูลดังกล่าวทำให้สามารถคำนวณอุณหภูมิพื้นผิวของดาวเคราะห์ ซึ่งจะบอกได้ว่าเป็นดาวเคราะห์ที่มีความเหมาะสมต่อการอยู่อาศัยหรือไม่

     หลังจากที่กล้องเคปเลอร์ค้นพบดาวเคราะห์หินเหมือนโลกที่อยู่ในโซนอยู่อาศัย ได้ ว่ามีอยู่มากน้อยเพียงใดแล้ว ก้าวต่อไปคือปฏิบัติการส่งกล้องถ่ายภาพดาวอย่างละเอียด เพื่อหาร่องรอยที่เป็นหลักฐานสนับสนุนการดำรงอยู่ของสิ่งมีชีวิตต่อไป

     อลัน บอส นักดาราศาสตร์ที่ปรึกษาโครงการเคปเลอร์ เชื่อว่าอาจมีดาวเคราะห์คล้ายโลกอยู่ถึง 1 แสนล้านดวงในดาราจักรทางช้างเผือก หรือมีดาวเคราะห์อย่างน้อย 1 ดวงต่อ 1 ดาวฤกษ์ (ดวงอาทิตย์) อย่างไรก็ตามเราก็จะรู้กันในปี 2013 ว่าในจักรวาลของเรามีสิ่งมีชีวิตอาศัยอยู่อย่างกว้างขวางหรือไม่

ติดตามรายละเอียดความคืบหน้าของภารกิจนี้ได้ที่ NASA -  http://kepler.nasa.gov

 

 

FaLang translation system by Faboba