กทม. พร้อมเปลี่ยนเป็นเมืองสีเขียว อย่างมหานครทั่วโลกหรือยัง?

โดย ปรีดิวิชญ์ พนมยงค์

 


     ในยุคที่เศรษฐกิจโลกกำลังเข้าสู่ภาวะถดถอย เมืองใหญ่ทั่วโลกต่างมองหาหนทางลดค่าใช้จ่ายและฟื้นฟูสภาพแวดล้อม...     


     นิวยอร์ค เป็นอีกมหานครตัวอย่าง ที่ได้มีการวางแผนและกำหนดมาตรการต่างๆต่อเรื่องนี้อย่างจริงจังก่อนที่ วิกฤตการเงินจะเกิดขึ้นเสียอีก ด้วยความคิดริเริ่มของนาย มิเชล บลูมเบิร์ก ผู้ว่าการนครนิวยอร์ค ที่จัดให้มีแผนรองรับการขยายเมืองในอีก 20 ปีข้างหน้า เรียกว่า “แพลนวายซี” (PlaNYC) ซึ่งเป็นแผนดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรมและยั่งยืน ที่ช่วยให้นครนิวยอร์คปรับตัวเข้ากับการไหลบ่าเข้ามาอยู่อาศัยของประชากร ในปี 2030 นอกจากนี้ยังมีการจัดนิทรรศการ Growing and Greening  New York เพื่อให้ประชาชนได้เข้าใจถึงสภาพปัญหา ความจำเป็น และกระบวนการเปลี่ยนแปลงต่างๆ อีกด้วย


     หากอยากพิสูจน์สภาพมลพิษที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ก็ไม่จำเป็นต้องไปถึงใจกลางเขตแมนฮัตตัน เพียงแค่เข้าไปดูใน Hasecam (www.hazecam.net) ก็จะมีรายงานมลภาวะทางอากาศพร้อมภาพถ่ายแบบเรียลไทม์ให้เราดู

     จุดมุ่งหมายของ “แพลนวายซี” จึงมุ่งเน้นไปที่การสร้างที่อยู่อาศัยให้พอเพียงต่อประชากร การทำความสะอาด กำจัดมลพิษทั้งบนดินและอากาศ การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงาน และลดการปล่อยพลังงานที่ทำให้เกิดภาวะโลกร้อนลง 30%

     แผนฟื้นฟูเมืองสีเขียวนี้ ได้รับแรงบันดาลใจจากแนวทางแก้ปัญหาของเมืองอื่นๆทั่วโลก อย่างเมืองมัลโม่ ที่เคยเป็นแหล่งผลิตรถยนต์รายใหญ่ที่สุดของประเทศสวีเดน จนขึ้นชื่อว่าเป็นเมืองแห่งรถซ้าบ (Saab City) บัดนี้โรงงานเหล่านั้นได้ถูกย้ายไปอยู่ในเขตปฏิรูปอุตสาหกรรมใหม่ ที่เรียกว่า “Bo01” เรียบร้อยแล้ว ที่ซึ่งขยะของเสียทั้งหลายถูกนำกลับมาใช้ใหม่อย่างสร้างสรรค์ รถวิ่งด้วยก๊าซชีวภาพจากขยะอินทรีย์ พลาสติคทุกชนิดถูกนำมารีไซเคิล และใช้พลังงานที่ไม่มีวันหมด (ใช้พลังงานลมเป็นส่วนใหญ่)

     ประเทศขนาดเล็กอย่างสิงคโปร์ มาเลเซีย ประสบปัญหาการจราจร รัฐบาลจึงได้ออกมาตรการเก็บเงินเพื่อลดความแออัด (Congestion Pricing) ซึ่งก็ได้ผลดีทำให้การจราจรลดลง 30%

     ในขณะที่การพัฒนาพื้นที่ขนาดใหญ่ของประเทศเกาหลีใต้ กำลังทำให้เมืองซองดูกลายเป็นเมืองธุรกิจนานาชาติแห่งแรกของโลก ที่ได้รับการออกแบบให้มีความเป็นมิตรต่อโลกด้วยพื้นที่สีเขียวถึง 40% และที่น่าสนใจคือ รถเก็บขยะจะไม่มีความจำเป็นอีกต่อไป ด้วยระบบท่อลมดูดขยะ ที่จะปัดกวาดขยะไปสู่โรงกำจัดขยะโดยอัตโนมัติ

FaLang translation system by Faboba