นักวิจัยชี้ชัด "ไขมัน" มีส่วนเร่งกระจายเชื้อมะเร็ง

โดย ปรีดิวิชญ์ พนมยงค์

    

 

     นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยเพอร์ดู (Purdue University) สหรัฐอเมริกา สร้างชื่ออีกครั้ง หลังจากได้ทำการทดลองอย่างละเอียดเกี่ยวกับผลกระทบของอาหารที่มีไขมันสูงต่อ การแพร่กระจายเชื้อมะเร็ง พบว่าการบริโภคอาหารที่มีไขมันมากเกินความจำเป็น ทำให้การแพร่กระจายของเชื้อร้ายในเซลล์เนื้องอกของสัตว์ทดลองเพิ่มขึ้นถึง 300% โดยใช้เทคนิคด้านภาพ (Imaging Technique) ร่วมกับเทคนิคอื่นๆ ในการบันทึกการเปลี่ยนแปลงของเซลล์ และการตรวจนับจำนวนเซลล์มะเร็งในกระแสโลหิต

     ผศ. จี้ ซิน เฉิง แห่งภาควิชาเคมี มหาวิทยาลัยเพอร์ดู เผยว่าการผสมผสานเทคนิคดังกล่าว นับเป็นเทคนิควินิจฉัยโรคแบบใหม่ที่สามารถชี้ชัดได้ว่า เชื้อมะเร็งในผู้ป่วยกำลังกระจายตัวหรือไม่ นักวิจัยยังให้ความเห็นอีกว่า เซลล์เนื้องอกต้องการสารไขมันมากกว่าเนื้อเยื้อทั่วไป เพื่อใช้เป็นแหล่งพลังงานเสริมสร้างความเจริญเติบโตและการแพร่กระจายของ เนื้อร้าย

     นักวิจัยได้ทำการปลูกฝังเนื้องอกที่มีเชื้อมะเร็งในปอดของหนูทดลอง โดยแบ่งเป็นสองกลุ่ม คือ กลุ่มที่ถูกเลี้ยงด้วยอาหารไขมันสูง กับ กลุ่มที่เลี้ยงด้วยอาหารไขมันต่ำ จากนั้นก็ใช้เทคนิคด้านภาพที่เรียกว่า “Coherent Anti-Stroke Raman Scattering” หรือ CARS เพื่อบันทึกว่า สารไขมันจากการบริโภคไขมันนั้น เร่งปฏิกริยาอย่างไรต่อการเปลี่ยนแปลงเยื่อหุ้มเซลล์มะเร็ง การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวรวมถึงกระบวนการที่เรียกว่า ระยะแบ่งตัวและเปลี่ยนรูปกลมของเยื่อหุ้มเซลล์

     “ถ้าเซลล์มะเร็งไม่ได้รับสารไขมันมากพอ พวกมันจะเกาะกลุ่มกันอย่างแน่นหนาภายในเนื้องอก แต่ถ้าได้รับสารไขมันเพิ่มขึ้นพวกมันก็จะเริ่มเปลี่ยนเป็นรูปกลมแล้วแยกตัว ออกจากกัน” นักวิจัยกล่าว การเปลี่ยนรูปร่างเป็นสิ่งจำเป็นต่อความสามารถในการกระจายตัวของเซลล์มะเร็ง ทางกระแสเลือด

     จากนั้นนักวิจัยก็ใช้เทคนิคการตรวจนับและแยกเซลล์ที่เรียกว่า “Intravital Flow Cytometry” เพื่อที่จะนับจำนวนเซลล์มะเร็งในกระแสโลหิตของหนูทดลอง โดยใช้แสงเลเซอร์ส่องผ่านผิวหนังเข้าไปในเส้นโลหิต เพื่อให้มองเห็นเซลล์มะเร็งที่ถูกย้อมไว้ด้วยสารเรืองแสง

     ผลการทดลองปรากฎออกมาว่า การเพิ่มขึ้นของสารไขมัน ไม่ส่งผลกระทบใดๆ ต่อเนื้องอกเดิมที่ปลูกถ่ายในหนูทดลอง อย่างไรก็ตาม อัตราการแพร่กระจายของเชื้อมะเร็ง กลับพุ่งสูงขึ้นถึง 300% เนื่องจาก “กรดไลโนเลอิค” (Linoleic Acid) ที่อยู่ในไขมันไม่อิ่มตัวสูง (Polyunsaturated Fat) เป็นตัวเร่งระยะแยกตัวของเยื้อหุ้มเซลล์ส่งผลให้เชื้อมะเร็งกระจายตัวออกไป ไกล ในขณะที่กรดโอเลอิค (Oleic Acid) ที่พบในไขมันไม่อิ่มตัวต่ำ (Monounsaturated Fat) ไม่ทำให้เป็นเช่นนั้น

     การค้นพบครั้งนี้จึงสนับสนุนงานวิจัยชิ้นอื่นๆก่อนหน้านี้ที่ว่า การบริโภคไขมันไม่อิ่มตัวสูงมากๆ อาจเพิ่มความเสี่ยงในการกระจายเชื้อมะเร็ง นับเป็นข่าวร้ายที่น้ำมันพืชที่เราใช้กันอยู่ เช่น น้ำมันถั่วเหลือง น้ำมันข้าวโพด น้ำมันดอกคำฝอย ต่างมีไขมันไม่อิ่มตัวสูงอยู่มาก ดังนั้นจึงควรลดการบริโภคลงบ้าง

     เมื่อหลายสิบปีก่อน ไขมันไม่อิ่มตัวสูงกลายเป็นพระเอก เนื่องจากเชื่อว่าการบริโภคไขมันอิ่มตัว (Saturated Fat) อย่างเช่นไขมันจากสัตว์ มากเกินไปจะทำให้เสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด น้ำมันพืชที่มีกรดไขมันไม่อิ่มตัวสูง อย่างน้ำมันถั่วเหลือง น้ำมันเมล็ดทานตะวัน น้ำมันดอกคำฝอย น้ำมันข้าวโพด จึงได้รับความนิยมมาก

     ต่อมานักวิทยาศาสตร์พบว่า การบริโภคไขมันไม่อิ่มตัวสูงมากเกินไปอาจทำให้เสี่ยงต่อโรคอื่นๆ เช่น โรคมะเร็ง ต้อกระจก โรคหัวใจ เป็นต้น ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะไขมันไม่อิ่มตัวสูง ถูกทำลายด้วยปฏิกริยาอ็อกซิเดชั่นได้ง่าย ทำให้เกิดอนุมูลอิสระ ส่วนไขมันที่มีประโยชน์คือ “ไขมันไม่อิ่มตัวต่ำ” ประกอบด้วยกรดโอเลอิก หรือ “โอเลอีน”  ซึ่งช่วยลดความเสี่ยงจากโรคหัวใจได้

     แหล่งที่ดีที่สุดของไขมันไม่อิ่มตัวต่ำคือ “น้ำมันมะกอก”  ที่มีกรดโอเลอิกสูงถึง 75% ส่วนน้ำมันรำข้าว น้ำมันปาล์มโอเลอิน น้ำมันงา น้ำมันถั่วลิสง ก็จัดว่าเป็นแหล่งที่มีไขมันอิ่มตัวต่ำอยู่ไม่น้อย นอกเหนือจากน้ำมันพืชแล้วก็มีบรรดาถั่วเปลือกแข็งทั้งหลาย เช่น อัลมอนด์ พิสตาชิโอ แมคคาเดเมีย มะม่วงหิมพานต์ หรือแม้กระทั่งเกาลัด

     งานวิจัยดังกล่าวได้รับการสนับสนุนโดยศูนย์โรคมะเร็งเพอร์ดูและสถาบันสุขภาพ แห่งชาติ ซึ่งมีรายละเอียดตีพิมพ์ในวารสาร BMC Cancer ฉบับวันที่ 30 มกราคม 2552

     ดู กันชัดๆ เซลล์มะเร็งที่อุดมไปด้วยสารไขมัน (วัตถุกลมๆ 2 ก้อน) จับตัวเข้ากับเส้นใยคอลลาเจนก่อนที่จะแพร่กระจายไปยังอวัยวะต่างๆทั่วร่าง กาย

FaLang translation system by Faboba