CAC โครงการแนวร่วมปฏิบัติของภาคเอกชนไทยในการต่อต้านการทุจริต (Thailand’s Private Sector Collective Action Coalition Against Corruption)

โดย

 


โครงการการสร้างแนวร่วมปฏิบัติของภาคเอกชนไทยในการต่อต้านการทุจริต หรือเรียกสั้นๆ ว่า CAC  ซึ่งย่อมาจากคำว่า Collective Action Coalition Against Corruption เป็นโครงการที่ได้รับการสนับสนุนการจัดตั้งโดยรัฐบาล และสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ตั้งแต่ปี 2553 และดำเนินการจัดตั้งโดยความร่วมมือของ 8 องค์กรชั้นนำในภาคเอกชนไทย ได้แก่ สมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย (IOD), สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย, หอการค้าต่างประเทศ, สมาคมบริษัทจดทะเบียนไทย, สมาคมธนาคารไทย, สภาธุรกิจตลาดทุนไทย, สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย

โดยเป้าหมายหลักของ CAC คือการสนับสนุนให้องค์กรธุรกิจในภาคเอกชนกำหนดนโยบายต่อต้านการทุจริตอย่างเป็นรูปธรรม และนำกลไกป้องกันการจ่ายหรือรับสินบนมาใช้งาน เพื่อสร้างและขยายเครือข่ายของธุรกิจสะอาดให้กว้างขวางและแข็งแกร่ง และนิติบุคคลภาคเอกชนทุกแห่งสามารถเข้าร่วมประกาศเจตนารมณ์กับโครงการ CAC ได้ด้วยความสมัครใจ เพื่อแสดงจุดยืนของนิติบุคคลนั้นว่า จะร่วมกันต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่น ทั้งนี้การประกาศเจตนารมณ์ดังกล่าว ยังไม่ถือว่า CAC ให้การรับรองการเป็นสมาชิกของนิติบุคคลนั้น เนื่องจากผู้ประกาศเจตนารมณ์จะต้องทำแบบประเมินตนเองเกี่ยวกับมาตรการต่อต้านคอร์รัปชั่น (Self-Evaluation Tool for Countering Bribery) จำนวน 71 ข้อ เพื่อยื่นต่อคณะกรรมการพิจารณาภายในระยะเวลา 18 เดือน นับแต่วันที่นิติบุคคลนั้นได้ลงนามประกาศเจตนารมณ์ อันเป็นส่วนหนึ่งของพันธสัญญา ที่ระบุไว้ในคำประกาศเจตนารมณ์

การขอรับการรับรองจะต้องดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้
1. ให้คณะกรรมการตรวจสอบ สอบทานข้อมูลในแบบประเมินตนเอง และรับรองโดยประธานคณะกรรมการตรวจสอบ หรือ
2. ให้ผู้สอบบัญชีของบริษัททำการประเมินแบบประเมินตนเอง และออกรายงานเพื่อนำส่งประธานคณะกรรมการบริษัท หรือ
3. แต่งตั้งผู้สอบบัญชีอื่นทำการประเมินแบบประเมินตนเอง และออกรายงานเพื่อนำส่งประธานคณะกรรมการบริษัท ทั้งนี้ ผู้สอบบัญชีที่แต่งตั้งนี้ ต้องเป็นผู้ที่ได้รับการขึ้นทะเบียนจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์

การพิจารณาอนุมัติการรับรองเป็นสมาชิกโครงการ CAC โดยคณะกรรมการพิจารณารับรองของ CAC นั้น จะพิจารณาตามข้อเท็จจริง บนพื้นฐานของความถูกต้อง ครบถ้วนของแบบประเมิน และเอกสารอ้างอิงต่าง ๆ และการรับรองของโครงการ CAC นี้ เป็นการรับรองให้แก่ระบบการต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่นของนิติบุคคล ซึ่งมิได้เป็นการรับรองพฤติกรรมของบุคคลใด บุคคลหนึ่งในนิติบุคคล หากนิติบุคคลหรือบุคคลที่เกี่ยวข้องกับนิติบุคคลใด ถูกกล่าวหาว่าพัวพันกับการทุจริตคอร์รัปชั่น นิติบุคคลนั้นต้องชี้แจงถึงสิ่งที่เกิดขึ้นต่อสาธารณะ และ/หรือแก้ไขสิ่งที่เกิดขึ้นนั้นด้วยตนเอง ข้อมูลหลักฐานอ้างอิงทั้งหมดที่บริษัทยื่นประกอบการพิจารณาขอรับรองจาก CAC นั้นจะถูกจัดเก็บไว้เป็นความลับ และ CAC จะใช้พิจารณาเพื่อใช้ในการรับรองเท่านั้น โดยจะไม่นำไปเปิดเผยต่อบุคคลภายนอก เว้นแต่จะได้รับความยินยอมเป็นลายลักษณ์อักษรจากบริษัทก่อน

ค่าธรรมเนียมการยื่นขอรับรอง เป็นจำนวนเงิน 8,000 บาท (ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) โดยค่าธรรมเนียมดังกล่าวจะเก็บจากบริษัทที่ยื่นเอกสารขอรับรองกับทาง CAC เป็นครั้งแรก หรือบริษัทที่ยื่นขอต่ออายุการรับรองหลังครบกำหนด 3 ปีแล้ว สำหรับบริษัทที่ประกาศเจตนารมณ์ยังไม่ต้องชำระค่าธรรมเนียมนี้ จนกว่าบริษัทจะยื่นเอกสารขอรับรองแล้วเท่านั้น ปัจจุบันมีบริษัทที่ได้รับการรับรองตามโครงการ CAC นี้จำนวนทั้งสิ้น 284 บริษัท (ข้อมูล ณ วันที่ 30 พฤศจิกายน 2560)

ที่มา: www.thai-cac.com


สันติ ประพันธ์ : CLASSIFIED : LIFESTYLE
วารสาร : CPD&ACCOUNT มกราคม 2561


FaLang translation system by Faboba