เคลียร์ทุกประเด็น!! ภาษีหัก ณ ที่จ่าย กับการจ่ายค่าแรงให้กับลูกจ้าง

โดย

 


“ภาษีหัก ณ ที่จ่ายกับการจ่ายค่าแรงให้ลูกจ้าง” เป็นอีกเรื่องที่มีความสับสนและชวนมึนงงสงสัยอยู่เสมอ ตั้งแต่การหักภาษี ณ ที่จ่ายว่าหักอย่างไรแบบไหน ไปจนถึงต้องส่งข้อมูลอะไรให้สรรพากรบ้าง
กลับมาพบกันอีกแล้วครับ กับผม TAXBugnoms และคอลัมน์ “Tax Knowledge” ประจำวารสาร CPD & Account ฉบับเดือนพฤศจิกายนนี้ ที่จะมาอธิบายและไขข้องใจเรื่องของการหักภาษี ณ ที่จ่าย และจ่ายค่าแรงให้กับลูกจ้าง ว่าจริงๆ แล้วต้องทำแบบไหน อะไรยังไงบ้าง อธิบายกันด้วยหลักของกฎหมายพร้อมกับแนวปฏิบัติที่ควรทำให้ฟังกันครับ
ก่อนอื่น ขออนุญาตใช้คำแทนว่า "นายจ้าง" และ "ลูกจ้าง" เพื่อให้ง่ายต่อความเข้าใจของทุกคนนะครับ โดยนายจ้างจะหมายถึงทั้งบุคคลธรรมดาและนิติบุคคลครับ ส่วนลูกจ้างนั้นหมายถึงบุคคลธรรมดาทั่วไปครับ

ปรับทัศนคติในเรื่องภาษีหัก ณ ที่จ่ายก่อน
ลำดับแรก ผมขอเริ่มปรับทัศนคติ โดยการอธิบายหลักการของกฎหมายภาษีบ้านเราก่อนว่า ภาษีหัก ณ ที่จ่ายนั้น กำหนดให้ผู้จ่ายทำหน้าที่หักภาษีไว้ล่วงหน้าสำหรับการจ่ายเงินได้บางประเภท และนำส่งเงินดังกล่าวให้กับกรมสรรพากร ส่วนผู้รับเงินนั้น ถือว่ามีรายได้ โดยนำข้อมูลดังกล่าวไปใช้เป็นหลักฐานในการยื่นภาษีปลายปี โดยจำนวนภาษีที่ถูกหักไว้สามารถนำไป “เครดิต” ลบออกจากเงินภาษีที่ต้องเสีย หรือ ถ้าหักไว้เกินก็สามารถขอคืนได้ครับ
โดยการจ่ายค่าแรง เงินเดือน ค่าจ้าง ต่างนั้น อยู่ในบังคับของกฎหมายที่ต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายไว้ ตามมาตรา 50 (1) ดังนี้ครับ


 กำหนดในกรณีเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (1) และ (2) ให้คูณเงินได้พึงประเมินที่จ่ายด้วยจำนวนคราวที่จะต้องจ่ายเพื่อ
 ให้ได้จำนวนเงินเสมือนหนึ่งว่าได้จ่ายทั้งปี แล้วคำนวณภาษีตามเกณฑ์ในมาตรา 48 เป็นเงินภาษีทั้งสิ้นเท่าใดให้หารด้วย
 จำนวนคราวที่จะต้องจ่าย ได้ผลลัพธ์เป็นเงินเท่าใดให้หักเป็นเงินภาษีไว้เท่านั้น


  ถ้าการหารด้วยจำนวนคราวที่จะต้องจ่ายตามความในวรรคก่อนไม่ลงตัว เหลือเศษเท่าใดให้เพิ่มเงินเท่าจำนวนที่เหลือเศษนั้น
  รวมเข้ากับเงินภาษีที่จะต้องหักไว้ครั้งสุดท้ายในปีนั้น เพื่อให้ยอดเงินภาษีที่หักรวมทั้งปีเท่าจำนวนภาษีที่จะต้องเสียทั้งปี


  ในกรณีเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (1) และ (2) ซึ่งเป็นเงินที่นายจ้างจ่ายให้ครั้งเดียวเพราะเหตุออกจากงาน ซึ่งได้
  คำนวณจ่ายจากระยะเวลาที่ทำงาน และได้จ่ายตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีกำหนด ให้คำนวณภาษีตาม
  เกณฑ์ในมาตรา 48 (5) เป็นเงินภาษีทั้งสิ้นเท่าใด ให้หักเป็นเงินภาษีไว้เท่านั้น


   ในกรณีเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (2) นอกจากที่ระบุไว้ในวรรคสาม ที่จ่ายให้แก่ผู้รับซึ่งมิได้เป็นผู้อยู่ในประเทศไทย
   ให้คำนวณหักในอัตราร้อยละ 15.0 ของเงินได้



สรุปง่ายๆ ความหมายของข้อกฎหมายนี้ คือ ให้นายจ้างคำนวณหักไว้ตามอัตราก้าวหน้า หรือ อัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา โดยนายจ้างต้องคำนวณภาษีให้ลูกจ้างตามวิธีปกติแล้วค่อยมาคิดว่าต้องหักภาษีไว้เท่าไรให้เรียบร้อยนั่นเองครับ ซึ่งใช้สำหรับเงินได้ตามมาตรา 40 (1) และ (2) ซึ่งครอบคลุมทุกการจ่ายเงินให้กับลูกจ้างทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็น เงินเดือน ค่าแรง ค่าจ้าง ฯลฯ

หน้าที่ที่แท้จริงของนายจ้างและลูกจ้าง
ถ้าหากอ้างอิงวิธีการคำนวณภาษีตามการปรับโครงสร้างภาษีในปี 2560 โดยที่ลูกจ้างไม่ได้มีค่าลดหย่อนตัวอื่นๆ รายได้ประมาณ 310,000 บาทต่อปี จะเริ่มถูกนายจ้างหักภาษีเอาไว้ตามวิธีคำนวณในมาตรา 50 (1) 
หลังจากที่คำนวณเสร็จ นายหน้าจะต้องนำส่งสรุปข้อมูลการหักภาษี ณ ที่จ่ายสำหรับเงินได้ตามมาตรา 40 (1) และ (2) ทุกเดือนด้วยแบบที่ชื่อว่า ภ.ง.ด.1 ภายในวันที่ 7 ของเดือนถัดไป ดังนั้นถ้านายจ้างคิดแล้วว่า ทั้งปีฉันจะจ่ายให้ลูกจ้างไม่เกิน 310,000 บาท ก็แปลว่าไม่ต้องหักภาษีเอาไว้ และไม่ต้องส่งสรรพากรในแต่ละเดือนนั่นเองครับ
แต่ต่อให้ไม่ส่ง ภ.ง.ด. 1 ก็ไม่ได้แปลว่าการจ่ายเงินให้กับลูกจ้างทั้งหลายจะไม่ต้องส่งข้อมูลให้กับสรรพากรนะครับ เพราะว่านายจ้างยังมีหน้าที่สรุปรายการจ่ายเงินได้ประเภทที่ 1 และ 2 ทั้งปี ทั้งที่ถูกหักภาษี ณ ที่จ่ายในแต่ละเดือน และไม่ถูกหักภาษี ณ ที่จ่ายในแต่ละเดือน ยื่นเป็นรายการสรุป ปีละ 1 ครั้ง ภายในเดือนกุมภาพันธ์ของปีถัดไป ด้วยแบบที่ชื่อว่า ภ.ง.ด. 1ก นั่นเองครับ
ซึ่งถ้าหากนายจ้างหักไว้และนำส่งครบถ้วน ลูกจ้างมีข้อมูลครบ ก็นำยอดเงินที่ได้รับไปยื่นภาษี ข้อมูลทั้งหมดก็ตรงกันเป็นอันเสร็จสิ้นพิธี นายจ้างถือว่าการจ้างนั้นเป็นค่าใช้จ่าย ส่วนลูกจ้างก็ถือเป็นรายได้โดยที่ไม่มีปัญหากับสรรพากรครับ
เมื่ออ้างอิงตามกฎหมายทั้งหมดที่ว่ามา จะเห็นว่าหลักการและแนวคิดมีเพียงเท่านี้ครับ หากจะปฏิบัติตามกฎหมายจริงๆ ควรจะเลือกใช้วิธีการคำนวณหักตามอัตราภาษีก้าวหน้าที่ยึดตามมาตรา 50 (1) เพียงหลักการเดียวครับ ส่วนวิธีอื่น เช่น การหักในอัตรา 3% กรณีที่จ่ายค่าจ้าง อาจจะเป็นเพียงการเลือกใช้ เพื่อความสะดวกในการจ่ายและคำนวณภาษีซึ่งถือปฏิบัติกันมานานแล้วนั่นเองครับ
อ่านมาถึงตรงนี้ เชื่อว่าทุกท่านคงมีความเข้าใจในเรื่องการหักภาษี ณ ที่จ่ายกับการจ่ายค่าแรงให้ลูกจ้างมากขึ้นแล้วนะครับ สำหรับบทความในตอนนี้ก็ขอจบแต่เพียงเท่านี้ และอย่าลืมนะครับว่า หากท่านผู้อ่านมีคำถามหรือข้อสงสัยใดๆ หรือมีเรื่องอะไรให้ผมช่วยได้ สามารถส่งข้อความมาที่ Facebook Fanpage TAXBugnoms ได้ตลอดเวลาครับผม


ภาษี : TAX KNOWLEDGE : บล็อกภาษีข้างถนน
วารสาร : CPD&ACCOUNT พฤศจิกายน 2560

                       สนใจสมัครสมาชิกคลิก
                      

 

FaLang translation system by Faboba