เจาะใจ HR แห่งอนาคต

โดย

 


อนาคตเป็นสิ่งที่ยังมาไม่ถึง แต่ละคนก็คาดก็คิดไปต่างๆ ผิดบ้างถูกบ้าง โดยยกให้เวลาเป็นเครื่องพิสูจน์ อัตราส่วนความถูกผิดอะไรจะมากน้อยกว่ากัน ไม่ค่อยมีคนพูดถึง แต่กระนั้นคนที่ชอบทำนายอนาคตมักจะเป็นที่ชื่นชมของคนทั่วไป เมื่อสองพันกว่าปีมาแล้ว นอสตราดามุสทำนายโลกไว้ว่าอย่างไร ยังมีคนกล่าวถึงอยู่ มาวันนี้มีหลายประเด็นที่พิสูจน์แล้วว่า ถูกหรือใกล้เคียงตรงไหนบ้าง

มีโอกาสไปฟังหนุ่มคนหนึ่งชื่อ Chris Riddell ซึ่งเรียกตัวเองว่าเป็น Futurist มาปาฐกบนเวทีในฮอลล์ใหญ่ของ Convention Center ที่นครซิดนีย์ ออสเตรเลีย ท่ามกลางคนฟังเกือบพันคน เขาสะท้อนภาพของคนยุคใหม่ได้ชัดเจน เริ่มตั้งแต่การแต่งกายที่สบายสุดๆ ใส่ยีนส์ เสื้อทีเชิร์ต รองเท้าผ้าใบ บนหัวคาดคลิปไมค์ มือถือรีโมท สามารถสะกดคนฟังให้จดจ่ออยู่กับเขาตลอดสามสิบนาทีพร้อมเสียงหัวเราะ เขาไม่ใช่ดาราตลก แต่สิ่งที่เขานำเสนอบนจอมีแง่มุมที่เรานึกไม่ถึง เป็นเรื่องของอนาคต เช่น สามีช่วยภรรยาทำสตูว์ สามีหั่นผัก ภรรยาปรุงน้ำซุปเสร็จก็บอกให้เอาผักมาใส่ ยกมาทั้งเขียงเลย เทผักใส่หม้อจนหมด เผยให้เห็นว่าเขียงคือแล็บท็อปที่เลิกใช้แล้ว วันคริสต์มาสเด็กๆ จะแขวนถุงเท้าไว้รอซานต้าเอาของขวัญมาหย่อนให้ แต่ในอนาคตจะไม่มีเซอร์ไพรส์แล้ว เพราะเด็กๆ จะสื่อสารกับซานต้าล่วงหน้าว่าจะเอาอะไร ไม่มีกวางลากเลื่อนแล้ว แต่ใช้รถพลังไฟฟ้าแทน แม้แต่ชีวิตสมรส สามีภรรยานอนหันหลังให้แก่กัน ห่มผ้า แต่ต่างคนต่างแอบเปิดโทรศัพท์ แสงก็ไม่รบกวนกัน เห็นแล้วเกิดคำถามว่า เราๆ ท่านๆ จะมีอายุยืนยาวทันเห็นไหมนะ แต่อุ่นใจว่า พ่อหนุ่มบอกคนจะอายุยืนกว่าร้อยปีกันเป็นแถวๆ

พอกล่าวถึงงาน เขาบอกเลยว่าอาชีพแรกในอนาคตอันใกล้นี้ที่จะหายไปคือ คนขับรถ คนขับแท็กซี่ คนงานในโรงงานผลิตจะมี Robot มาแทนที่ ผนังกำแพงตึกจะใช้เป็นจอ Touch screen ได้เลย ฟังดูแล้วชวนให้คิดว่า แล้วคนจะไปทำอะไรกันเล่า ประเทศไทยที่บอกจะเป็น 4.0 นั้น จะก้าวทันตรงนี้ไหม เมื่อไหร่ นี่เป็นตัวอย่างน้ำจิ้มสำหรับฟังเอาสนุกๆ แต่เก็บเอาไปคิดแล้วใจรอนๆ เหมือนกันนะ

มีอีกคนที่ขึ้นมาพูดแบบมีสาระมากๆ สำหรับนัก HR ชื่อ Lyn Goodear ผู้หญิงเก่งคนหนึ่งในแวดวง HR ระดับสากล เธอเป็นประธานสถาบันทรัพยากรบุคคลของออสเตรเลีย (เหมือน PMAT) ได้สาระที่ต้องจดจำมามากมาย ประโยคที่ถูกใจมากที่สุดคือ We have to plant the seeds of Awareness เราต้องปลูกเมล็ดพันธ์ของการตื่นรู้ หมายความว่า ที่เคยอยู่เฉยเพราะเป็นน้ำเต็มแก้ว เห็นว่ายังห่างไกลตัว ฉันคงตายก่อน ทำนองนี้ ซึ่งไม่จริงเลย บอกได้เลยว่า อนาคตมันมาเร็วมาก ดังนั้นจึงต้องเตรียมตัวให้พร้อม ต้องยอมรับที่จะเรียนรู้มากขึ้น อย่ายอมเป็นคนตกยุค ตกโลก เทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทสำคัญแทบทุกเรื่อง ต้องพัฒนาทักษะให้ทัน

ประเด็นที่อยากแชร์ให้เพื่อนร่วมอาชีพได้ทราบนั้น เป็นการผสมผสานจากหลายหัวข้อ ต่างวิทยากร ไม่ได้แยกว่าใครพูดอะไรตรงไหน แต่จะเล่ารวมๆ และเน้นเฉพาะจุดสำคัญเท่านั้น เรื่องแรกที่ขอเล่า เป็นข้อเตือนใจสำหรับ HR ทั้งหลาย คือ นักบริหารบุคคล ต้องไม่โดดเดี่ยว ไม่แยกตัวออกจากสังคมเพื่อนร่วมอาชีพ การสร้าง Connection เป็นสิ่งจำเป็น ใครก้าวไปสร้างสายสัมพันธ์นอกประเทศได้ยิ่งดี ไม่ต้องเคยพบตัวเป็นๆ เคยสนทนากันก็ได้ อาจเห็นชื่อเสียงเรียงนามเพราะบินมาบรรยายในบ้านเรา อาจเคยฟังการสอนของเขา หรืออาจได้ชื่อจากหน้าเว็บ ก็สามารถสร้างสายสัมพันธ์ได้

เมื่อมีการติดต่อสัมพันธ์กัน ต้องสร้างหรือรักษาความสัมพันธ์ให้ยั่งยืน เราอาจมุ่งเน้นการสร้าง Engagement กับพนักงาน กับองค์การ คราวนี้ต้องสร้างสายใยของความร่วมอาชีพ เพื่อแลกเปลี่ยน แบ่งปันซึ่งกันและกัน นำประสบการณ์มาแชร์กันอย่างเปิดอก ถึงนำมาใช้ทั้งดุ้นไม่ได้ แต่อาจหยิบบางส่วนมาประยุกต์ใช้ เป็นประโยชน์ทางวิชาชีพได้

อีกข้อหนึ่งที่สำคัญมากคือ การเตรียมความพร้อม ยอมรับการปรับเปลี่ยน จะเรียกว่าปฏิรูปก็น่าจะได้ Transformation เป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ จะปรับเฉพาะจุดน่าจะยากกว่าการแปลงโฉมทั้งองค์การ เพราะจะทิ้งจุดใดจุดหนึ่งไม่ได้ ต้องก้าวไปพร้อมกัน และก้าวให้ทันกันด้วย HR ต้องเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงด้วยซ้ำไป

ในการเตรียมรับการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงนั้น มีการวิเคราะห์หรือดูใจของ HR ว่า มีทั้ง “ความคาดหวัง” และ “ความหวาดเกรง” ไปพร้อมๆ กัน (Hope & Fear) ซึ่งน่าจะเป็นปกติวิสัยของปุถุชน เมื่อต้องนำการเปลี่ยนแปลงนั้น ย่อมมองในแง่ดี หวังความสำเร็จ คิดว่าจะทำโน่นทำนี่ คนนั้นต้องเป็นอย่างนั้น คนนี้ต้องทำอย่างนี้ มองโลกสวยไปหมด โดยให้ตนเองไม่ต้องเปลี่ยนหรือเปลี่ยนน้อยที่สุด นั่นคือซีกของความหวัง ส่วนในซีกของความหวาดเกรงนั้น ย่อมกลัวความล้มเหลว ไม่กล้าเปลี่ยน เพราะไม่เคยทำมาก่อน กลัวคนไม่เชื่อ กลัวคนไม่ฟัง กลัวผลกระทบที่อาจเกิดทั้งกับตนเองและบางคน ข้อสำคัญเมื่อเข้าสู่โหมดการเปลี่ยนแปลง HR ไม่น้อยกลัวการตกงาน ไม่มีงานทำ เพราะอาจอาศัยหุ่นยนต์ อาศัยเทคโนโลยีหรืองานบางอย่างใช้ AI (Artificial Intelligent) ทำแทนได้ เช่น เคยใช้เจ้าหน้าที่สรรหา นั่งรับสมัครงาน ทำการทดสอบผู้สมัคร ต่อไป AI อาจสามารถทำหน้าที่แทนได้ เจ้าหน้าที่สรรหาไม่มีงานทำแล้ว นี่คือความหวาดเกรง

เพื่อบรรเทาความหวาดกลัว ลดอาการวิตกจริต มีการแนะนำสรุปว่า พฤติกรรมใดที่ HR มืออาชีพจะต้องมีสำหรับอนาคต
1. Critical & Enquiring Thinker ต้องเป็นคนที่ช่างวิเคราะห์วิจารณ์ เป็นนักคิด เพื่อจะได้หาข้อสรุปที่ดีที่สุด
2. Solution Driven นี่ก็คือคิดแล้วต้องชักจูงให้ได้บทสรุปให้ได้ ไม่ควรปล่อยให้พูดเพ้อเจ้อไป หาเนื้อหาไม่ได้
3. Courageous ต้องใจกล้าๆ แม้ไม่เคยทำแต่ก็ต้องกล้าทำ หากมัวแต่แหยง จะทำไม่ได้
4. Collaboration การร่วมมือ การประสานงาน ไม่ใช่ประสานธรรมดานะ ต้องเป็นนักประสานสิบทิศเลย เพราะเราต้องการเปลี่ยนทั้งหมด ไม่ใช่แค่จุดใดจุดหนึ่ง ต้องพร้อมยกมือไหว้แม้ใจจะไม่อยากไหว้ แต่เราทำเพื่องาน
5. Understand นี่เป็นสิ่งที่ HR ต้องมีต้องทำอยู่แล้ว ทำงานกับคนแล้วไม่เข้าใจคนได้อย่างไร นอกจากนี้ต้องเข้าใจงานด้วย อย่ารู้แต่งานของเรา เพราะเราต้อง Knowing the Business อยู่แล้ว
6. Resolve Issues ต้องเป็นนักแก้ปัญหา อย่าปล่อยค้างคาไว้ เพราะเป็นอุปสรรคในการทำงานต่อไป ระดมสมองคนอื่น ฟังคนอื่นด้วยหากคิดไม่ออก ปัญหามีไว้แก้ ไม่ได้มีไว้เก็บใต้พรม ตั้งสติ อย่าตกใจ แล้วค่อยๆ คิด สติมาปัญญาเกิดแน่นอน
7. Credible ต้องสร้าง สะสมเครดิต ความไว้วางใจ ความน่าเชื่อถือไว้ หากเขาเชื่อ เขาไว้ใจ จะทำอะไรย่อมง่าย
8. Care ตัวนี้ก็เช่นกัน คนเรานั้นหากลองได้รับน้ำใจ ความเอาใจใส่ แสดงออกให้เขารู้ว่า เขามีความหมายกับเรา การตอบสนองให้ความร่วมมือย่อมตามมา โดยเฉพาะคนไทย มีสำนึกนี้อยู่ในใจทุกคน
9. Future Oriented ต้องมีวิสัยทัศน์ นี่พูดให้ฟังดูโก้ ที่จริงคือ ต้องหัดคิดยาวๆ คิดไกลๆ คิดให้ตลอด อย่าเป็นคนสายตาสั้นที่มองอะไรไม่เคยพ้นขอบโต๊ะทำงานตัวเอง แต่ต้องกวาดตาให้รอบ มองให้ทะลุ ถ้าทำอย่างนี้แล้วจะเป็นอย่างไร จะพบปัญหาไหม จะแก้หรือป้องกันได้ไหม อย่างไร
10. Influencer การเป็นผู้มีอิทธิพลทางความคิด สามารถชักจูง ดูดดึงให้คนคล้อยตาม หากคนใดสามารถมีพฤติกรรมข้อนี้ได้ เชื่อได้เลยว่า งานจะราบรื่นวิ่งฉิว บอกอะไรไป ตั้งแต่ CEO ลงมาเห็นด้วย สนับสนุนช่วยผลักดัน แล้วผลสำเร็จจะไปไหนเสีย

ทั้งสิบข้อ เป็นพฤติกรรมที่องค์การคาดหวังให้ HR มืออาชีพมีและเป็น เพื่อสนับสนุนให้งานของ HR บรรลุเป้าหมายได้โดยง่าย

อนาคตนั้น ในยุคที่อะไรก็เกิดขึ้นได้ อะไรที่ไม่คิดว่าจะได้เห็น ได้รู้ ก็ได้รับได้รู้ มันมาถึงโดยไม่รู้ตัว วันดีคืนร้าย เดินตามถนน อาจได้สนทนาพบปะกับอมนุษย์ Inhuman โดยไม่รู้ตัวก็ได้ คนรุ่นใหม่อย่าง Gen Z กลายเป็นของธรรมดา คนรุ่นใหม่กว่าจะเป็นพวก Gen Alpha, Touch Screen Generation แตะสัมผัสหรือลูบเบาๆ เท่านั้น เห็นอะไรต่อมิอะไรได้หมด จะเป็นอย่างนี้ได้ต้องอาศัยตัวสำคัญคือ Data เท่านั้น เรารู้ว่าน้ำมันกำลังจะหมดโลก พลังงานไฟฟ้า พลังงานลมกำลังเข้ามาทดแทน Data จะมีความสำคัญแค่ไหน เพียงใด ไม่ทราบ แต่มีการยกย่องหรือขนานนาม Data ว่า Data is the new Oil คิดว่า เป็นไปได้ไหมเอ่ย

ที่กล่าวมา เป็นสิ่งละอันพันละน้อยที่อยากแชร์กับเพื่อนร่วมอาชีพ จะทำได้แค่ไหน อย่างไร ขึ้นอยู่กับองค์การ ผู้บริหาร สภาพแวดล้อมของธุรกิจ บทบาทของ HR แต่อย่าลืมว่า โลกของการเปลี่ยนแปลงหมุนเร็วกว่าที่เราคิด หากแรงเหวี่ยงมาถึงตัว แต่เราไม่พร้อมรับหรือรับไม่ไหว มีหวังล้มลุกคลุกคลาน อาจโดนพัดตกโลกไปเลยก็ได้ เพราะงานในอนาคตคงเปลี่ยนไป กว่าเราจะลุกขึ้นได้ อาจสายเกินไปจนไม่มีอนาคตให้เราอีกต่อไป


HR TREND : สนทนาประสา HR : สุชาดา สุขสวัสดิ์ ณ อยุธยา
วารสาร : HR Society Magazine ตุลาคม 2560
FaLang translation system by Faboba