สังคมไร้เงินสดและผลกระทบด้านภาษีต่อนักบัญชี

โดย

 



ลองจินตนาการว่า เช้าวันหนึ่งเราเดินออกมาจากบ้านไปซื้อก๋วยเตี๋ยวหน้าปากซอย แม่ค้าส่งก๋วยเตี๋ยวให้ พร้อมกับยื่นคิวอาร์โค้ดให้เราแสกนจ่ายเงินทันที คิดว่าเรื่องแบบนี้จะเกิดขึ้นในประเทศไทยได้ไหมครับ…?

สวัสดีครับ กลับมาพบกับผม TAXBugnoms กับคอลัมน์ “บล็อกภาษีข้างถนน” ประจำเดือนตุลาคม ส่วนสาเหตุที่เริ่มต้นด้วยคำถามแบบนี้ ก็เพราะว่ามันเป็นเรื่องที่หน่วยงานต่างๆ กำลังพัฒนาให้เกิดเรื่องราวดีๆ แบบนี้อยู่ครับ
หลายคนเมื่ออ่านมาถึงตรงนี้อาจจะคิดว่า เฮ้ย! ไม่จ่ริงหรอก เป็นไปไม่ได้ แต่ผมอยากให้ลองคิดว่า ถ้าหากมันเป็นเรื่องจริงขึ้นมา หน้าที่ของผู้ประกอบการวิชาชีพบัญชีจะเป็นอย่างไร มันจะเพิ่มงานขึ้นไหม หรือว่ามันจะสบายขึ้นหรือเปล่า ลองมาคิดกันต่อครับ

1. หน้าที่ของนักบัญชีจะง่ายขึ้น แม้ว่าดูเหมือนว่างานจะหนักในช่วงที่ต้องเปลี่ยนแปลง แต่ถ้าทแยงมุมมองอีกด้าน ทุกรายการที่เกิดขึ้นนั้นจะสามารถตรวจสอบได้หมด เพราะมีหลักฐานการจ่าย ซึ่งเป็นสาเหตุให้ผู้ประกอบการทั้งหลายต้องเตรียมพร้อมเรื่องเอกสาร ดังนั้น ถ้าใครจะจ่ายแบบไม่มีหลักฐานก็ลำบากละครับ งานนี้

2. ภาษีจะถูกเก็บมากขึ้น หลายคนบอกว่าสังคมไร้เงินสดนี่ละ มีวัตถุประสงค์หลักคือการจัดเก็บภาษี ซึ่งตรงนี้ผมเองก็คิดว่าเป็นอีกส่วนหนึ่งที่สำคัญ แต่ในแง่หนึ่งคือ มันจะทำให้ภาษีถูกจัดเก็บอย่างมีที่มาที่ไปมากขึ้น ไม่ใช่แค่เก็บจากการประเมิน หรือประมาณการแบบไม่มีหลักฐานเหมือนแต่เก่า เพราะทุกอย่างถูกบันทึกไว้หมดแล้วครับผม

โอเค ทีนี้มาต่อกันในอีกมุมหนึ่งบ้าง ไม่มีอะไรที่จะมีข้อดีได้ทั้งหมด แต่ข้อเสียใหญ่ที่ผมมองว่ามันน่าจะเป็นปัญหาในตอนนี้ก็คือ แล้วเราทุกคนพร้อมที่จะเปลี่ยนมันหรือยัง ในแง่ของนักบัญชีเอง และในแง่ของผู้ประกอบการ ซึ่งตรงนี้มันต้องใช้เวลาเนิ่นนานสักระยะหนึ่งกันเลยล่ะครับ

ปัญหาตรงนี้ย่อมเกิดกับนักบัญชีแน่นอนครับ เพราะนักบัญชีคือทุกอย่างที่ต้องรู้ ต้องเห็น และต้องเข้าใจ เพื่อที่จะทำให้ผู้ประกอบการที่ไม่รู้เรื่องบัญชีเตรียมตัวรับมือเรื่องเหล่านี้ได้ง่ายขึ้น ราวกับมันเป็นภารกิจที่ยิ่งใหญ่ในชีวิตที่ต้องพิชิตให้ได้เลยละครับ และสิ่งที่ผมคิดว่านักบัญชีต้องรู้นั้น มีอยู่ 2 กลุ่มใหญ่ๆ ดังนี้คือ

1. ระบบการชำระเงินแบบไร้เงินสดทั้งหลาย ตั้งแต่พร้อมเพย์ไปจนถึง QR Code รวมถึงการจ่ายผ่านช่องทางต่างๆ อย่างเครื่อง EDC ก็ถือว่าเป็นสิ่งที่ต้องรู้และทำความเข้าใจ เพื่อให้การบันทึกบัญชีเป็นไปอย่างราบรื่นครับ

2. ระบบการจัดการด้านเอกสารภาษีต่างๆ อย่างเช่น ระบบ E-Withholding Tax ที่ให้ธนาคารกลายเป็นผู้มีหน้าที่หักภาษีและนำส่งแทนผู้ประกอบการ หรือระบบ E-Tax invoice ที่กำลังจะมาเปลี่ยนแปลงการออกใบกำกับภาษีและการจัดทำเอกสารต่างๆ ให้ลดน้อยลง ซึ่งตรงนี้จะมีผลต่องานของนักบัญชีด้วยครับ บางทีแล้วรายงานต่างๆ อาจไม่ต้องทำเลยด้วยซ้ำครับผม

เห็นมั้ยครับว่า สังคมไร้เงินสดนั้นไม่ได้เริ่มต้นแค่การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม แต่มันจะส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางด้านอื่นโดยเฉพาะงานของนักบัญชีทั้งหลายด้วย ซึ่งตรงนี้อาจกลายเป็นโอกาสของนักบัญชีที่รู้ก่อนและเข้าใจเรื่องพวกนี้ก่อน เพราะจะได้เปรียบและเป็นที่ต้องการของตลาดมากขึ้นครับ
กลับมาที่ภาพแรกที่ผมถามเกี่ยวกับการซื้อก๋วยเตี๋ยวหน้าปากซอยและจ่ายผ่าน QR Code หลายคนอาจจะได้คำตอบแล้วว่า ไม่ว่าจะจ่ายเงินแบบไหน แต่นักบัญชีอย่างเรามีหน้าที่ต้องลงบัญชีต่อไปให้ถูกต้อง ใช่มั้ยล่ะครับ

เอาละครับ สำหรับคอลัมน์ในตอนนี้ก็ต้องลาไปแต่เพียงเท่านี้ครับ สุดท้ายนี้ ถ้าหากท่านผู้อ่านมีคำถามสงสัยใดๆ หรือมีเรื่องอะไรให้ผมช่วยได้บ้างนั้น สามารถส่งข้อความมาที่ Facebook Fanpage TAXBugnoms ได้ตลอดเวลาครับผม


ภาษี : TAX KNOWLEDGE : บล็อกภาษีข้างถนน
วารสาร : CPD&ACCOUNT ตุลาคม 2560
FaLang translation system by Faboba