ข้อบังคับการทำงานในยุค Digital Economy

โดย

 



กฎหมายคุ้มครองแรงงานกำหนดให้สถานประกอบการที่มีลูกจ้างตั้งแต่สิบคนขึ้นไปจะต้องจัดให้มีข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน โดยทั่วไปจะครอบคลุมวัน-เวลาทำงาน วันหยุดและหลักเกณฑ์การหยุด การทำงานล่วงเวลาและในวันหยุด วันลาและหลักเกณฑ์การลา วินัยและโทษทางวินัย การร้องทุกข์ การเลิกจ้าง  รวมทั้งค่าชดเชยและค่าชดเชยพิเศษ  นอกจากข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานแล้ว แต่ละองค์กรยังมีกฎระเบียบในการปฏิบัติงานซึ่งนายจ้างกำหนดให้ลูกจ้างต้องยึดถือปฏิบัติอีกด้วย

ยุคเศรษฐกิจดิจิทัล (Digital Economy) ธุรกิจมีแนวโน้มใช้จำนวนพนักงานน้อยลง ทุกคนสามารถทำงานในเวลาใดก็ได้ จากสถานที่ใดก็ได้ ผ่านเทคโนโลยีการสื่อสารแบบไร้สาย การทำงานมีรูปแบบของทีมเสมือน (Virtual Team) มากขึ้น  เศรษฐกิจดิจิทัลไม่เพียงสร้างผลกระทบในเรื่องความสัมพันธ์ของคนกับสถานที่ทำงานเท่านั้น แต่ยังรวมถึงความสัมพันธ์ระหว่างนายจ้างและลูกจ้าง ข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานและระเบียบการปฏิบัติงานแม้จะยังคงมีความจำเป็นแต่ก็มีหลายประเด็นที่ต้องใช้มุมมองใหม่ ซึ่งอาจนำไปสู่การแก้ไขปรับปรุงให้สอดคล้องกับรูปแบบการทำงานที่เปลี่ยนไป ประเด็นดังกล่าวที่ต้องพิจารณาอย่างจริงจัง เช่น

1. ข้อบังคับเกี่ยวกับลักษณะการจ้างพนักงาน
การจ้างงานภายใต้ข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานในปัจจุบัน จะแบ่งพนักงานเป็น 4 ลักษณะ คือ พนักงานรายวัน พนักงานทดลองปฏิบัติงาน พนักงานประจำ และพนักงานสัญญาจ้าง อย่างไรก็ตาม เทคโนโลยีสมัยใหม่ได้เปลี่ยนรูปแบบการทำงานไปจากเดิม คนรุ่นใหม่มีทัศนคติไม่ต้องการทำงานอยู่กับที่ใดที่หนึ่ง อยากเป็นมืออาชีพมีอิสระในการทำงานที่เรียกว่า “ฟรีแลนซ์เซอร์ (Freelancer)” ซึ่งการทำงานจะไม่ขึ้นตรงต่อหน่วยงานหรือองค์กรใดๆ สามารถจัดตารางเวลาการทำงานของตนเอง และอาจทำงานพร้อมกันหลายที่ก็ได้ ปรากฏการณ์ฟรีแลนซ์กำลังส่งผลต่อตลาดแรงงานทั่วโลก การศึกษาของบริษัทวิจัย CloudPeeps พบว่า ปัจจุบันมีฟรีแลนซ์เซอร์ประมาณ 53 ล้านคนในอเมริกา และคาดว่าภายในปี ค.ศ. 2020 ฟรีแลนซ์เซอร์จะกลายเป็นแรงงานกลุ่มสำคัญและมีสัดส่วนมากถึง 40%  การบริหารพนักงานมืออาชีพที่ไร้สังกัด ซึ่งกำลังมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น จะไม่มีประเด็นเรื่องตำแหน่งงาน เส้นทางอาชีพ การพัฒนาทักษะ รวมทั้งการจัดหาสวัสดิการต่างๆ  ดังนั้นข้อบังคับและระเบียบปฏิบัติที่เกี่ยวข้องดังกล่าวจะลดความสำคัญลงเมื่อมีการจ้างงานในรูปแบบฟรีแลนซ์มากขึ้น

2. ข้อบังคับเกี่ยวกับเวลาทำงาน การลา และการหยุดพักผ่อน
กฎหมายคุ้มครองแรงงานกำหนดให้นายจ้างต้องจัดให้ลูกจ้างมีวันหยุดอย่างน้อย 3 ประเภท ได้แก่ วันหยุดประจำสัปดาห์ วันหยุดตามประเพณี และวันหยุดพักผ่อนประจำปี เพื่อให้ลูกจ้างมีโอกาสพักผ่อนร่างกายและจิตใจจากภาระงาน ในยุคเศรษฐกิจดิจิทัลมีพนักงานประเภทใหม่เกิดขึ้นเรียกว่าดิจิทัลนอแมด (Digital Nomad) หรือกลุ่มคนที่ท่องเที่ยวไปตามที่ต่างๆ พร้อมกับทำงานไปด้วยโดยอาศัยเทคโนโลยีสารสนเทศ ทำให้การทำงานสามารถเกิดขึ้นได้ทั้งที่บ้าน ร้านกาแฟ หรือสถานที่สาธารณะ ปีเตอร์ เลเวลส์ (Pieter Levels) สตาร์ทอัพ โปรแกรมเมอร์ ชาวเนเธอร์แลนด์ ผู้ก่อตั้งเว็บไซต์ nomadlist.com กล่าวว่าภายในปี 2035  จะมีคนทำงานที่เป็นดิจิทัลนอแมด ถึงหนึ่งพันล้านคน การทำงานในลักษณะนี้จะช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายของบริษัท ตั้งแต่ค่าเช่าสถานที่ทำงาน ค่าเฟอร์นิเจอร์ ในอีกแง่มุมหนึ่ง ข้อบังคับเกี่ยวกับเวลาทำงาน การลา และการหยุดพักผ่อนเป็นเรื่องที่ไม่จำเป็นอีกต่อไป เช่น  บริษัท Toptal ซึ่งทำธุรกิจจัดหาฟรีแลนซ์ มีนโยบายสนับสนุนให้พนักงานทำงานตามที่ต่างๆ ได้ตามความพอใจ และยกเลิกข้อบังคับเรื่องชั่วโมงการทำงานและการลาหยุด คงไว้แค่ระเบียบวัดผลการทำงานและการจ่ายค่าตอบแทนเท่านั้น

3. ข้อบังคับเกี่ยวกับการพ้นจากงานเนื่องจากเกษียณอายุ
พระราชบัญญัติบำเหน็จบำนาญข้าราชการ พ.ศ. 2494  กำหนดให้พนักงานของรัฐต้องพ้นจากหน้าที่เมื่ออายุครบ 60  ปีบริบูรณ์ ซึ่งภายหลังได้กลายเป็นธรรมเนียมปฏิบัติที่ยึดอายุ 60 ปี เป็นตัวกำหนดการพ้นจากงาน ส่วนภาคเอกชนยังไม่มีกฎหมายกำหนดอายุเกษียณอย่างเป็นทางการ ส่วนใหญ่ขึ้นอยู่กับการตกลงกันระหว่างนายจ้างและลูกจ้าง แต่เนื่องจากกฎหมายกำหนดเกณฑ์อายุในการรับสิทธิประโยชน์จากประกันสังคมกรณีชราภาพ รวมทั้งการได้รับยกเว้นภาษีจากเงินหรือผลประโยชน์ใดๆ ที่ได้รับจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพไว้ที่อายุครบ 55 ปี จุดนี้จึงมักถูกนำมาใช้อ้างอิงเป็นอายุเกษียณสำหรับแรงงานในภาคเอกชน อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยกำลังก้าวสู่สังคมผู้สูงอายุ ประชากรอายุเกิน 60 ปีมีมากกว่า 10% ปัญหาด้านโครงสร้างประชากร ทั้งการขาดแคลนแรงงานที่มีทักษะ และการเข้าสู่สังคมวัยชราอย่างรวดเร็ว ถือเป็นข้อจำกัดต่อการขยายตัวผลผลิตมวลรวมของประเทศ จากปัญหาดังกล่าวจึงมีแนวคิดว่า ถ้าคนที่อายุเลย 60 ปี แล้วยังมีกำลังในการทำงาน การเกษียณอายุไป เป็นการสูญเสียทรัพยากร รัฐมีภาระต้องจ่ายเงิน 2 ทาง คือ ต้องจ่ายทั้งบำเหน็จ/บำนาญ และจ่ายเงินเดือนในการจ้างคนใหม่มาทดแทน  นอกจากนั้นการอยู่ทำงานต่อยังทำให้รัฐสามารถจัดเก็บภาษีเงินได้เพิ่มขึ้น ประเทศในยุโรป รวมทั้งสหรัฐอเมริกาได้มีการขยายเวลาเกษียณอายุมาระยะหนึ่งแล้ว จนกลายเป็นบรรทัดฐานใหม่ เช่น สหรัฐฯ ขยายเวลาเกษียณอายุเป็น 62–67 ปี การเกษียณอายุของฝรั่งเศสคือ 62 ปี อังกฤษและเยอรมนี 65 ปี นอร์เวย์ 67 ปี ส่วนเดนมาร์กและเนเธอร์แลนด์เกษียณอายุที่ 65–67 ปี ทุกประเทศในยุโรปล้วนเกษียณอายุเกิน 60 ปีทั้งสิ้น ประเทศในเอเชียเริ่มมีการขยายเวลาการเกษียณอายุไปบ้างแล้ว เช่น  ญี่ปุ่นขยายเกษียณอายุไปถึง 65 ปี เช่นเดียวกับสิงคโปร์  สำหรับประเทศไทย รัฐบาลได้ตราพระราชกฤษฎีกา พ.ศ. 2560 กำหนดให้ยกเว้นภาษีเงินได้ถ้าภาคเอกชนรับผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไปเข้าทำงาน คณะกรรมาธิการปฏิรูปก็เคยจัดทำข้อเสนอให้รัฐบาลขยายเวลาเกษียณอายุของข้าราชการออกไปเป็น 65–70 ปี ปัจจัยที่เป็นตัวเร่งคือ ความก้าวหน้าของวิทยาการทางการแพทย์ทำให้ชีวิตคนยืนยาวขึ้น ปัญหาการขาดแคลนคนที่มีคุณภาพ หรือสร้างคนไม่ทัน โดยที่ผ่านมามีการต่ออายุอยู่บ้างแล้วในบางวิชาชีพ เช่น แพทย์ ผู้พิพากษา และอัยการ การขยายอายุเกษียณทั้งระบบจะช่วยเพิ่มผลผลิตต่อหัว แต่ประสิทธิภาพการผลิตอาจลดลง และมีปัญหาอื่นตามมา เช่น ความไม่ชัดเจนของการสืบทอดตำแหน่ง (Succession)  ค่าใช้จ่ายสวัสดิการรักษาพยาบาลที่เพิ่มขึ้น และการสรรหาพนักงานใหม่ลดลง เป็นต้น ในอนาคตทั้งภาครัฐและเอกชนคงหนีไม่พ้นที่ต้องยกเลิกการกำหนดอายุเกษียณไว้ในข้อบังคับการทำงาน

4. ระเบียบการสรรหาบุคลากร
ระเบียบการสรรหาบุคลากรโดยทั่วไปจะให้ความสำคัญกับวุฒิการศึกษาเป็นปัจจัยสำคัญ และการกำหนดค่าตอบแทนหลายองค์กรก็อิงกับพื้นฐานการศึกษา หรือยึดติดกับสถาบันที่สำเร็จการศึกษาของผู้สมัครงาน แต่ปัจจุบัน ความเห็นเรื่องการศึกษาในระบบกับศักยภาพในการทำงานของคนมีความเชื่อมโยงกันน้อยลง โดยเฉพาะบริษัทด้านเทคโนโลยีขั้นสูง จะให้ความสำคัญกับผู้สมัครงานที่มีผลงานและมีประสบการณ์ด้วยตัวเองมากกว่าวุฒิบัตร เพราะเป็นการพิสูจน์ถึงทักษะและประสบการณ์ในด้านนั้นจริงๆ เช่น  การเข้าทำงานที่ Google  วุฒิการศึกษาไม่ใช่ข้อจำกัดแต่อย่างใด เนื่องจากผู้บริหารของ Google ยอมรับว่า ทุกวันนี้มีการเรียนรู้นอกสถานศึกษามากขึ้นเรื่อยๆ เช่น ระบบจัดการการเรียนการสอนแบบออนไลน์ (Massive Open Online Courses หรือ MOOCs) เป็นระบบ “เปิด” ที่ทุกคนที่อยากเรียนสามารถเรียนโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ มีคนจำนวนมากที่สามารถเรียนรู้พร้อมกับพัฒนาทักษะของตัวเองเพื่อจะสามารถทำงานกับบริษัทที่มีชื่อเสียงได้ ทุกวันนี้การสรรหาพนักงานของหลายองค์กรชั้นนำ เช่น PwC และ Ernst & Young ก็ได้ยกเลิกการกำหนดวุฒิการศึกษาที่ต้องมีปริญญาบัตรไว้ในระเบียบการสรรหาพนักงานของบริษัทแล้ว

5. ระเบียบการติดต่องานนอกเวลาทำการ
ความก้าวหน้าของระบบสารสนเทศและการสื่อสารในปัจจุบันทำให้การประสานงานทางธุรกิจสามารถเกิดขึ้นได้ทั้งในและนอกเวลาทำงาน พนักงานจะได้รับข้อมูลข่าวสารอยู่ตลอดเวลา อย่างไรก็ตาม รัฐบาลหลายประเทศเริ่มให้ความสำคัญกับการสร้างสมดุลระหว่างชีวิตและการทำงาน (Work-Life Balance) มากขึ้น รัฐบาลฝรั่งเศสกำลังออกกฎหมายห้ามมิให้บริษัทติดต่อเรื่องงานผ่านอีเมล์หรือข้อความอิเล็กทรอนิกส์ใดๆ ที่เกี่ยวกับเรื่องงานถึงพนักงานหลังเวลาเลิกงาน เช่นเดียวกับ รัฐบาลเกาหลีใต้และเยอรมนีก็เตรียมผลักดันให้รัฐสภาผ่านความเห็นชอบต่อร่างกฎหมายด้านแรงงานฉบับใหม่ ที่มีเนื้อหาหลักในการปกป้องสิทธิและความเป็นส่วนตัวของบรรดาลูกจ้างทั่วประเทศ หลังได้รับการร้องเรียนจากลูกจ้างจำนวนหลายล้านคนที่ยังคงต้องคอยรับโทรศัพท์หรือตอบอีเมล์ของผู้บังคับบัญชา-หัวหน้างานของตนหลังเวลาเลิกงาน ร่างกฎหมายฉบับใหม่นี้จะช่วยสร้างเส้นแบ่งที่ชัดเจนระหว่างเวลาทำงานและเวลาหลังเลิกงาน บริษัทผลิตรถยนต์ “โฟล์คสวาเกน” และ “เดมเลอร์” ได้เริ่มทยอยออกระเบียบเป็นการภายในให้พนักงานในองค์กรของตนสามารถลบอีเมล์ที่ถูกส่งมาจากหัวหน้างานทิ้งได้ หากพนักงานอยู่ระหว่างลาพักร้อน พร้อมขอความร่วมมือบรรดาผู้บังคับบัญชาระดับต่างๆ ให้งดเว้นการติดต่อลูกน้องของตนนอกเวลางาน

ในปัจจุบัน โลกกำลังก้าวเข้าสู่ยุคเศรษฐกิจดิจิทัล การขับเคลื่อนองค์กรด้วยการทำงานประเภทจ้างงานชั่วคราวมีมากขึ้น ส่งผลให้รูปแบบการทำงานเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม ข้อบังคับและระเบียบเกี่ยวกับการพนักงานต้องมีการทบทวนใหม่ให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ยังคงไม่เปลี่ยนแปลงสำหรับการบริหารจัดการในยุคเศรษฐกิจดิจิทัล คือ ทุกองค์กรยังคงต้องคำนึงถึงบุคลากร เนื่องจากเป็นสินทรัพย์สำคัญในการทำให้องค์กรคงความสามารถในการแข่งขันไว้ได้


HR TREND : HR Champion : บทความ ดร. ณัฐวุฒิ พงศ์สิริ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายทรัพยากรบุคคลและพัฒนาองค์กรธนาคารแห่งประเทศไทย, นายกสมาคมการจัดการงานบุคคลแห่งประเทศไทย [email protected]
วารสาร : 
HR Society Magazine กันยายน 2560
FaLang translation system by Faboba