HR Best Practices

โดย


สำนักพิมพ์ The Guardian โดยการสนับสนุนของ The Corporate Research Foundation (CRF) ได้จัดพิมพ์หนังสือชื่อ Britain’s Top Employers - Best Examples of HR Management ซึ่งเป็นการเก็บรวบรวมข้อมูลการบริหารจัดการด้าน HR ของบริษัทเอกชนชั้นนำที่มีชื่อเสียง 100 บริษัทในประเทศอังกฤษ นักวิจัยที่รวบรวมข้อมูลได้ทำการวิเคราะห์และให้คะแนนความสำเร็จของแต่ละบริษัทในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับงาน HR ใน 4 หัวข้อหลัก คือ การบริหารค่าตอบแทนและผลประโยชน์ (Pay and Benefits) การเลื่อนตำแหน่งและพัฒนาบุคลากร (Promotion and Development) การฝึกอบรม (Training) และความสัมพันธ์ระหว่างวัฒนธรรมและรูปแบบองค์กรกับตัวพนักงาน (People: Company Culture and Style) จากการศึกษาวิธีการที่ดีที่สุดที่บริษัทชั้นนำดังกล่าวได้ริเริ่มและนำมาปฏิบัติจนเห็นผลเป็นรูปธรรม (Best Practices) สามารถสรุปประเด็นที่น่าสนใจโดยสังเขป และอาจจะเป็นประโยชน์ต่อการนำมาประยุกต์ใช้สำหรับองค์กรในประเทศไทยได้ดังนี้
ด้านการบริหารค่าตอบแทนและผลประโยชน์  (Pay and Benefits)

1. ด้านการบริหารค่าตอบแทนและผลประโยชน์  (Pay and Benefits)
บริษัทที่ได้รับคะแนนประเมินสูงสุดในด้านนี้คือ บริษัท Bucknall Austin (Consultant) บริษัท GlaxoSmithKline (Pharmaceuticals) และบริษัท Reuters Group (Global Information Provider)   Best Practices ที่บริษัทเหล่านี้นำมาใช้ และช่วยให้องค์กรได้รับการชื่นชม ประกอบด้วย

  • การรักษาระดับผลตอบแทนที่จัดให้พนักงานให้อยู่ในระดับเดียวกับกลุ่มนำ (Top-quartile) ในธุรกิจเดียวกัน โดยมีการสำรวจผลตอบแทนเปรียบเทียบกับคู่แข่งทุกปี
  • การรักษากรอบเงินเดือนในแต่ละขั้นให้สามารถปรับได้อย่างยืดหยุ่นตามสภาพการแข่งขันของตลาด
  • การจ่ายผลตอบแทนพิเศษให้กับพนักงาน เช่น โบนัส ส่วนแบ่งกำไร หุ้นบริษัท โดยให้ตามความสามารถและผลลัพธ์ที่ได้จากการปฏิบัติงาน ถ้าผลงานดีก็จะได้รับผลตอบแทนพิเศษเพิ่ม
  • มีโปรแกรมการรักษาพยาบาลที่ดี รวมทั้งวงเงินประกันชีวิตให้กับพนักงานทุกคน
  • มีเงินสวัสดิการสะสมหลังเกษียณ รวมทั้งทางเลือกในการออมเงินดังกล่าว
  • จัดโปรแกรมผลประโยชน์ให้มีความหลากหลาย (Flexible Benefits Programs) พนักงานสามารถเลือกได้ตามความต้องการของตนเอง เช่น การเลื่อนวันลา การเลือกเวลาทำงาน การลาคลอดที่ยาวขึ้น ช่วยเหลือค่าสมาชิกศูนย์ออกกำลังกาย ส่วนลดในการซื้อสินค้าของบริษัท เงินกู้ยืมปลอดดอกเบี้ยสำหรับการซื้อคอมพิวเตอร์ที่บ้าน อุปกรณ์กีฬา เป็นต้น
  • จัดหาบริการให้คำปรึกษาปัญหาส่วนตัวของพนักงานและครอบครัว โดยผู้เชี่ยวชาญภายนอก (Employee Assistant Program)
  • การให้รางวัลและคำชมเชย ในรูปแบบต่างๆ เช่นเช็คของขวัญ ตั๋วเดินทางท่องเที่ยว Gift Vouchers เป็นต้น

2. ด้านการเลื่อนตำแหน่งและพัฒนาบุคลากร (Promotion and Development)
บริษัทที่ได้รับคะแนนประเมินสูงสุดในด้านนี้คือ บริษัท GlaxoSmithKline (Pharmaceuticals) บริษัท Motorola (Wireless Communications) และบริษัท Atomic Weapons Establishment (Nuclear Warhead Design) โดยที่ตัวอย่าง Best Practices ที่องค์กรอื่นสามารถพิจารณานำไปปฏิบัติได้เช่นกัน คือ

  • การเปิดโอกาสให้คนในองค์กรได้รับการพิจารณาก่อน เมื่อมีตำแหน่งว่าง
  • มีแผนพัฒนาบุคลากรเฉพาะตัวบุคคล โดยมีหัวหน้างานเข้ามามีส่วนเกี่ยวข้องในการจัดการแผนพัฒนาอบรมร่วมกับฝ่าย HR ซึ่งรวมถึงระบบการสอนงาน (Coaching) และการมอบหมายความรับผิดชอบ เช่น ให้ทดลองเป็นหัวหน้าบริหารโครงการขนาดเล็ก
  • มุ่งพัฒนาสมรรถนะของพนักงานอย่างเป็นระบบและต่อเนื่อง มีการประเมินและคัดเลือกพนักงานกลุ่มพิเศษซึ่งมีความสามารถ (Talent) และผลงานที่โดดเด่น (High-Potential Employees) ให้มีโอกาสได้รับการพัฒนาเป็นพิเศษและรับผิดชอบงานสำคัญ เพื่อให้มีความก้าวหน้าในงานเร็วขึ้น
  • พนักงานมีโอกาสโยกย้ายข้ามไปทำงานในหน่วยงานต่างๆ หรือหน่วยธุรกิจอื่น (Mobility) เพื่อให้สามารถเรียนรู้งานได้ในวงกว้าง 
  • มีระบบ Mentoring ช่วยสอนงานและให้คำแนะนำตามความเหมาะสม
  • สนับสนุนให้เป็นสมาชิกสมาคมวิชาชีพต่างๆ เพื่อเพิ่มพูนความรู้ ทักษะ และสร้างเครือข่าย

3. ด้านการฝึกอบรม (Training)
บริษัทที่ได้รับคะแนนประเมินสูงสุดในด้านนี้คือ บริษัท Hydrogen (Recruitment) บริษัท Morgan Stanley และบริษัท Sj Berwin (Law Firm) ซึ่ง Best Practices ที่นำมาใช้และช่วยให้ประสบความสำเร็จ คือ

  • มีการฝึกอบรมพนักงานเข้าใหม่อย่างเป็นระบบ (On-Boarding Program)
  • ออกแบบการฝึกอบรมให้เหมาะกับตัวพนักงานในสายงานที่รับผิดชอบอย่างเป็นระบบ เพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับการเป็นหัวหน้างานในอนาคต
  • จัดหาและออกแบบระบบการเรียนรู้ด้วยตนเองสำหรับพนักงานผ่านทางสื่อต่างๆในบริษัท เช่น Video, e-Learning Courses, Self-paced Courses เป็นต้น
  • สนับสนุนให้มีการเข้ารับการฝึกอบรมจากภายนอก รวมทั้งการเข้าร่วมงานอบรมสัมมนาต่างๆ 

4. ด้านความสัมพันธ์ระหว่างวัฒนธรรมและรูปแบบองค์กรกับตัวพนักงาน (People: Company Culture and Style)
บริษัทที่ได้รับคะแนนประเมินสูงสุดในด้านนี้คือ บริษัท John Lewis (Department Store) บริษัท IRWELL Valley Housing (Real Estate) และ บริษัท Norwich Union Insurance โดย Best Practices ที่นำมาปฏิบัติคือ 

  • เน้นการทำงานเป็นทีม รวมทั้งสร้างบรรยากาศการทำงานที่ทำให้พนักงานรู้สึกสนุกกับงาน และเอื้อให้พนักงานอยากนำศักยภาพของตนเองออกมาใช้ให้มากที่สุด
  • ตระหนักถึงความต้องการที่แตกต่างกันในแต่ละบุคคล ยอมรับในคุณค่าและความหลากหลาย มีการมอบหมายงานให้ตรงกับความสามารถ ให้คำชมเชยและรางวัลตามความเหมาะสม ยอมรับความคิดเห็นที่แตกต่าง เปิดโอกาสให้พนักงานจัดเวลาทำงานให้ยืดหยุ่นสอดคล้องกับความจำเป็นของตนเองและครอบครัว
  • มีระบบที่ช่วยให้การประเมินผลงานประจำปีของพนักงานเป็นไปอย่างโปร่งใสและยุติธรรม
  • ปลูกฝังความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันและทำให้พนักงานรู้สึกว่าตนเองเป็นส่วนหนึ่งของความสำเร็จขององค์กร
  • สนับสนุนกิจกรรมต่างๆ ของพนักงาน เช่น จัดหาสถานที่เล่นกีฬาร่วมกัน ให้จัดตั้งชมรมต่างๆ และ Internet café เป็นต้น

งานวิจัยชิ้นนี้สรุปว่า พนักงานคือทรัพยากรที่มีค่าที่สุด องค์กรจะประสบความสำเร็จได้ต้องทำให้พนักงานรู้สึกพอใจกับสิ่งที่จัดหาให้ ซึ่งประกอบด้วยการให้ผลตอบแทนและผลประโยชน์ที่สูง (High Rate of Pay and Superior Benefits) มีการฝึกอบรมที่ดีและเป็นระบบ (Superb Training) มีโอกาสก้าวหน้าในอาชีพ (Excellent Career Prospects) และ มีสภาพแวดล้อมการทำงานที่ผ่อนคลายและเป็นกันเอง (Relaxed Working Environment)

ในการนำ Best Practices การบริหารงาน HR ในองค์กรชั้นนำดังกล่าวมาประยุกต์ใช้ จะต้องเชื่อมโยงเข้ากับค่านิยมร่วม (Common Value) และ พฤติกรรมหลัก (Key Behavior) ขององค์กรนั้นๆ จัดเป็นแผนการทำงาน (Roadmap) และเน้นการขับเคลื่อนให้รอบด้าน โดยสามารถสรุปได้เป็น 9 ขั้นตอน ดังนี้ 

  1. Broadening the talent poolvia accessibility
    เพิ่มจำนวนผู้สมัครที่มีคุณภาพ ผ่านภาคีเครือข่ายด้านการศึกษา สรรหาเน้นที่ Aptitude และพฤติกรรมหลัก (Key Behavior) ที่องค์กรต้องการ มากกว่าผลการศึกษา 

  2. Attracting talentwith purpose
    เน้นงานที่ใช่และท้าทายสำหรับคนรุ่นใหม่ ตั้งคำถามว่า “จะเรียนรู้อะไร... ถ้าเลือกมาทำงานที่นี่”

  3. Recruitingwith new technology
    ปรับขั้นตอนการสรรหาให้รวดเร็วและใช้ Technology เช่น VDO Clip และเทคนิคการสัมภาษณ์ที่ช่วยผู้สมัครได้แสดงออกถึงตัวตนที่สอดคล้องกับพฤติกรรมหลักขององค์กร

  4. Onboardingwith mentors 
    มีระบบพี่เลี้ยง (Mentorship) สำหรับพนักงานเข้าใหม่ เน้นการปลูกฝังค่านิยมร่วม (Common Value) และการปฏิบัติตามพฤติกรรมหลัก มากกว่าให้การอบรมหน้าที่และความรับผิดชอบ

  5. Performance Managementbeyond paperwork
    ให้ Constructive Feedback ทันการณ์สอดคล้องกับพฤติกรรมหลัก ควบคู่กับการประเมินผลงานที่กระจายเกรดตามผลการปฏิบัติงาน (Distribution-Curve Ratings)

  6. Engagement and well-beingto unlock productivity
    สร้างองค์ประกอบที่เหมาะสมทั้งในด้าน Physical Mental Financial และ Social Well-being ลดการประพฤติที่ไม่เป็นไปตามกรอบพฤติกรรมหลักของหัวหน้างาน เพิ่มกิจกรรมสร้างความผูกพันระหว่างพนักงานกับองค์กร

  7. Developmentlike you mean it
    สนับสนุนให้พนักงานมีการหมุนเวียนงานภายในและปฏิบัติงานภายนอก เพิ่มโอกาสก้าวหน้าในอาชีพ มีการมอบหมายงานที่มีความสำคัญ รวมทั้งพัฒนาพฤติกรรมหลักที่จะช่วยให้ทำงานได้ดีขึ้น

  8. Rewards Optimizationbecause it’s deserved
    ให้รางวัลจากผลของงานและการปฏิบัติตามพฤติกรรมหลัก ไม่ใช่ตามตำแหน่งงาน และเพิ่ม Spot Awards แทนที่จะให้ความสำคัญเฉพาะ Variable Pay เช่น Bonus ปลายปี

  9. Collaborationthat harnesses talent by balancing needs 
    เข้าใจความต้องการ พฤติกรรม และแรงกระตุ้นที่จะนำมาสร้างพลังและความสามารถที่ความหลากหลายของพนักงานใน Generations ต่างๆ  



ข้อมูลจาก : วารสาร HR Society Magazine ฉบับเดือนกุมภาพันธ์ 2560
HR TREND: HR Champion บทความ ดร. ณัฐวุฒิ พงศ์สิริ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายทรัพยากรบุคคลและพัฒนาองค์กร ธนาคารแห่งประเทศไทย, นายกสมาคมการจัดการงานบุคคลแห่งประเทศไทย [email protected]

FaLang translation system by Faboba