กรมสรรพสามิตเพิ่มเติมหลักเกณฑ์การผลิตเพื่อชดเชยการนำเข้า

โดย

 


 
กรมสรรพสามิตเพิ่มเติมหลักเกณฑ์การผลิตเพื่อชดเชยการนำเข้า

 

      ในช่วงเดือนพฤศจิกายนและเดือนธันวาคม 2566 อธิบดีกรมสรรพสามิตจึงได้มีการออกประกาศกรมสรรพสามิตฯ (ฉบับที่ 2) และประกาศกรมสรรพสามิตฯ (ฉบับที่ 3) เพื่อแก้ไขเพิ่มเติมประกาศกรมสรรพสามิตฯ ดังกล่าว จึงขอนำเสนอ 1 ประเด็นสำคัญ ดังนี้
      
1. กรณีนำเข้ารถยนต์นั่งหรือรถยนต์โดยสารที่มีที่นั่งไม่เกิน 10 คน แบบพลังงานไฟฟ้าจากแบตเตอรี่ (Battery Electric Vehicle : BEV) ที่มีราคาขายปลีกแนะนำไม่เกิน 2 ล้านบาท และมีขนาดความจุแบตเตอรี่ตั้งแต่ 10 กิโลวัตต์ชั่วโมง (kWh) ขึ้นไป ซึ่งประกาศกรมสรรพสามิตฯ กำหนดให้ต้องผลิตชดเชยจนครบตามจำนวนการนำเข้ามาในประเทศในแบบสำเร็จรูปทั้งคัน ในอัตราส่วน 1 : 1 เท่า (นำเข้า 1 คัน ผลิต 1 คัน) ของจำนวนที่นำเข้ามาทั้งหมด ภายในวันที่ 31 ธันวาคม 2567 หากจำเป็นต้องขยายระยะเวลาการผลิตชดเชยจนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2568 ต้องผลิตชดเชยการนำเข้าในอัตราส่วน 1 : 5 เท่า (นำเข้า 1 คัน ผลิต 1.5 คัน) ของจำนวนที่นำเข้ามาทั้งหมด ทั้งนี้ เดิมสามารถผลิตชดเชยได้เฉพาะรถยนต์นั่งหรือรถยนต์โดยสารที่มีที่นั่งไม่เกิน 10 คน แบบพลังงานไฟฟ้าจากแบตเตอรี่ได้เท่านั้น กล่าวคือ นำเข้ารถยนต์นั่งหรือรถยนต์โดยสารฯ การผลิตเพื่อชดเชยการนำเข้าก็สามารถผลิตได้เฉพาะรถยนต์นั่งหรือรถยนต์โดยสารฯ เท่านั้น แต่ปัจจุบันได้มีการแก้ไขเพิ่มเติมประกาศกรมสรรพสามิตฯ ทำให้สามารถผลิต “รถยนต์กระบะ” แบบพลังงานไฟฟ้าจากแบตเตอรี่

      เพื่อชดเชยการนำเข้ารถยนต์นั่งและรถยนต์โดยสารฯ ดังกล่าวได้

      สำหรับเหตุผลที่กำหนดให้สามารถผลิต “รถยนต์กระบะ” แบบพลังงานไฟฟ้าจากแบตเตอรี่เพื่อชดเชยการนำเข้ารถยนต์นั่งหรือรถยนต์โดยสารที่มีที่นั่งไม่เกิน 10 คน แบบพลังงานไฟฟ้าจากแบตเตอรี่ที่มีราคาขายปลีกแนะนำไม่เกิน 2 ล้านบาท และมีขนาดความจุแบตเตอรี่ตั้งแต่ 10 กิโลวัตต์ชั่วโมง (kWh) ขึ้นไปได้นั้น เนื่องจากผู้ประกอบอุตสาหกรรมบางรายมีความประสงค์จะผลิตรถยนต์กระบะแบบพลังงานไฟฟ้าจากแบตเตอรี่เพื่อชดเชยการนำเข้า ประกอบกับตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน รถยนต์กระบะถือเป็น Product Champion อันเกิดจากการที่ภาครัฐมีนโยบายส่งเสริมขีดความสามารถในการแข่งขันของรถยนต์กระบะและอนุพันธ์ของรถยนต์กระบะ เพื่อให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตและการส่งออกรถยนต์กระบะในระดับโลก นอกจากนี้ ในบริบทแห่งสถานการณ์ปัจจุบันมีความจำเป็นที่ประเทศไทยจะต้องสร้าง Product Champion ที่สามารถตอบโจทย์กระแสของยานยนต์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมได้ เพื่อรักษาฐานการผลิตยานยนต์ของประเทศไทยให้สอดรับกับทิศทางการพัฒนาเทคโนโลยียานยนต์แห่งอนาคตในอันที่จะส่งเสริมให้เกิดการลงทุนในการพัฒนาอุตสาหกรรมการผลิตรถยนต์กระบะแบบพลังงานไฟฟ้าจากแบตเตอรี่และชิ้นส่วนสำคัญของยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศต่อไป ด้วยเหตุนี้ หากกำหนดให้สามารถผลิตรถยนต์กระบะแบบพลังงานไฟฟ้าจากแบตเตอรี่เพื่อชดเชยการนำเข้ารถยนต์นั่งหรือรถยนต์โดยสารที่มีที่นั่งไม่เกิน 10 คน แบบพลังงานไฟฟ้าจากแบตเตอรี่ ก็ย่อมจะเป็นการส่งเสริมให้เกิดการลงทุนในกิจการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าอันเป็นปัจจัยผลักดันในด้านอุปทาน (Supply) ตามเป้าประสงค์อันเป็นนโยบายของรัฐดังกล่าวได้

  1. กรณีนำเข้ารถยนต์นั่งหรือรถยนต์โดยสารที่มีที่นั่งไม่เกิน 10 คน แบบพลังงานไฟฟ้าจากแบตเตอรี่ (Battery Electric Vehicle : BEV) ที่มีราคาขายปลีกแนะนำมากกว่า 2 ล้านบาท แต่ไม่เกิน 7 ล้านบาท และมีขนาดความจุแบตเตอรี่ตั้งแต่ 30 กิโลวัตต์ชั่วโมง (kWh) ขึ้นไป ซึ่งประกาศกรมสรรพสามิตฯ กำหนดให้ต้องผลิตชดเชยจนครบตามจำนวนการนำเข้ามาในประเทศในแบบสำเร็จรูปทั้งคัน ในอัตราส่วน 1 : 1 เท่า (นำเข้า 1 คัน ผลิต 1 คัน) ของจำนวนที่นำเข้ามาทั้งหมด ภายในวันที่ 31 ธันวาคม 2567 หากจำเป็นต้องขยายระยะเวลาการผลิตชดเชยจนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2568 ต้องผลิตชดเชยการนำเข้าในอัตราส่วน 1 : 1.5 เท่า (นำเข้า 1 คัน ผลิต 1.5 คัน) ของจำนวนที่นำเข้ามาทั้งหมด ทั้งนี้ เดิมสามารถผลิตชดเชยรถยนต์นั่งหรือรถยนต์โดยสารที่มีที่นั่งไม่เกิน 10 คน แบบพลังงานไฟฟ้าจากแบตเตอรี่ได้ “เฉพาะรุ่น” ที่มีการนำเข้าเท่านั้น กล่าวคือ หากนำเข้ารถยนต์รุ่นใดเป็นจำนวนเท่าใดก็ต้องผลิตรถยนต์รุ่นนั้นเป็นจำนวนเท่านั้น ไม่สามารถเลือกผลิตรถยนต์รุ่นอื่น ๆ ที่มีการนำเข้าซึ่งเป็นที่ต้องการของตลาดสูงกว่าเพื่อชดเชยรถยนต์รุ่นที่นำเข้าและความต้องการของตลาดน้อยกว่าได้ ส่งผลให้เกิดข้อจำกัดขีดความสามารถในการแข่งขันที่อาจไม่สอดคล้องกับอุปสงค์และอุปทานในตลาดรถยนต์ เพราะภาคธุรกิจต้องผลิต “เฉพาะรุ่น” ที่มีการนำเข้าเท่านั้น กรณีเช่นนี้ย่อมไม่สอดคล้องกับอุปทานในการวางแผนทางธุรกิจและอาจไม่สอดคล้องกับอุปสงค์ความต้องการของผู้บริโภค ดังนั้นจึงได้มีการปรับเปลี่ยนหลักเกณฑ์ตามประกาศกรมสรรพสามิตฯ โดยให้มีการผลิต “รุ่นใดรุ่นหนึ่ง” ที่ได้มีการนำเข้าเพื่อให้ตอบโจทย์ในทางธุรกิจมากยิ่งขึ้น

     นอกจากนี้ ยังได้มีการกำหนดไว้เป็นการเฉพาะเจาะจงว่า “กรณีที่ผู้ขอรับสิทธิได้นำเข้ารถยนต์รุ่นที่ได้รับสิทธิและผลิตชดเชยรุ่นเดียวกับรถยนต์ที่ได้นำเข้าและได้รับสิทธิ แม้จะมีเลขซีรีส์ที่ต่างกันก็ถือเป็นการผลิตชดเชยรถยนต์รุ่นเดียวกับรถยนต์ที่ได้รับสิทธิ” เพื่อให้เกิดความชัดเจนว่า หากผลิตชดเชยรถยนต์รุ่นเดียวกันกับที่มีการนำเข้า แม้จะมีเลขซีรีส์ที่ต่างกันก็จะเป็นการผลิตชดเชยรถยนต์รุ่นเดียวกับรถยนต์ที่ได้รับสิทธิ และสามารถนำมานับเป็นจำนวนที่ผลิตชดเชยได้ ทั้งนี้ การแก้ไขเพิ่มเติมหลักเกณฑ์ให้มีการผลิตชดเชย “รุ่นใดรุ่นหนึ่ง” แทนที่หลักเกณฑ์เดิมที่กำหนดให้ผลิตชดเชย “เฉพาะรุ่น” ที่มีการนำเข้า ย่อมมีผลเป็นการผ่อนคลายความเคร่งครัดของหลักเกณฑ์อันเป็นเงื่อนไขตามมาตรการสนับสนุนการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าประเภทรถยนต์และรถจักรยานยนต์ ทั้งยังเป็นการส่งเสริมให้ประเทศไทยเป็นฐานการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าที่สอดคล้องกับความต้องการของตลาดยานยนต์ทั้งในประเทศและต่างประเทศได้อีกด้วย

 

 

จากบทความ “อัปเดตหลักเกณฑ์ “เงินอุดหนุน” ยานยนต์ไฟฟ้าพลังงานแบตเตอรี่”
Section: Tax Talk / Column: Excise Tax อ่านบทความฉบับสมบูรณ์ได้ที่...
วารสารเอกสารภาษีอากร ปีที่ 43 ฉบับที่ 508 เดือนมกราคม 2567 หรือสมัครสมาชิก
“วารสารเอกสารภาษีอากร” เพื่อรับสิทธิอ่านและสืบค้นบทความ ผ่านระบบ e- Magazine Index

 
 
 
FaLang translation system by Faboba