7 วิธี ช่วยผ่อนคลาย ไม่ให้ “(คน) หมดไฟ” ในการทำงาน

โดย

 


 
7 วิธี ช่วยผ่อนคลาย ไม่ให้ “(คน) หมดไฟ” ในการทำงาน

 

     วิธีที่ 1 : “ซอย สับ ตัด หั่น แบ่งงาน” ไม่สั่งงานด่วน งานเร่ง โดยให้พนักงานคนเดียวทำภายในเวลาอันจำกัด แต่ต้องกระจายงานให้คนในทีมช่วยกันทำ แบ่งงานให้แต่ละคนทำชัดเจน เพื่อป้องกันไม่ให้งานยุ่งเหยิง สับสน และมีประสิทธิภาพด้วยเวลาที่จำกัดได้ ซึ่งวัตถุประสงค์ของวิธีนี้ ก็คือ พนักงานจะไม่เกิดการสะสมความเคร่งเครียดจากการทำงานเร่งด่วน และเกิดอาการเหนื่อยล้าเพราะทำงานเพียงลำพัง

     วิธีที่ 2 : “เช้า สาย บ่าย เย็น ขวัญลงเล่นน้ำกับเรียม” ปรับตารางเวลาในการทำงานให้กับพนักงาน เพื่อให้เกิดความสมดุล โดยยืดหยุ่นกับเวลาขณะทำงานและชีวิตส่วนตัว ด้วยการมี “กิจกรรมผ่อนคลาย” ให้พนักงานได้คลายเครียดพักสมอง พักร่างวันละนิดวันละหน่อย (ให้ไอ้ขวัญได้ลงว่ายน้ำเล่นกับเจ้าเรียมบ้าง!!!)

     วิธีที่ 3 : “เทคโนโลยีมีให้ใช้ คนมีไว้ให้ดูแล” ใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยจัดกระบวนการการทำงานให้ง่ายขึ้น เพื่อให้มีเวลาเหลือไปให้พนักงานได้ใช้ชีวิต ใช้เวลาอยู่กับตัวเองเพิ่มมากขึ้น ซึ่งเท่ากับเป็นการชาร์ตแบตทางอ้อมแก่พนักงาน

     วิธีที่ 4 : “บรรยากาศ บันดาลแรง” ปรับเปลี่ยนสภาพแวดล้อมในการทำงาน ย่อมส่งผลให้เกิดความสดใส กระชุ่มกระชวยในการทำงานแก่พนักงาน ไม่ว่าจะเป็นโต๊ะทำงานตัวใหม่ มุมใหม่ๆ ของที่ทำงาน สิ่งเหล่านี้เป็นอีกหนึ่งองค์ประกอบของการลดความเบื่อหน่าย ลดความเหนื่อยล้าจากการทำงานได้ดีกว่าการที่ต้องทนอยู่กับสภาพแวดล้อมเดิมๆ

     วิธีที่ 5 : “โปรเลือกได้ตามใจ” ให้พนักงานสามารถเลือกเวลาทำงานได้ เพื่อให้เกิดความยืดหยุ่นที่สมดุลระหว่างเวลาการทำงานและชีวิตส่วนตัว ซึ่งองค์กรชั้นนำทั้งในและนอกประเทศได้นำมาใช้ แล้วก็ประสบผลตอบรับดีมาก โดยผลิตภาพของบริษัทก็สูงขึ้นด้วย วิธีนี้เขาเรียกว่า “Flexi-Hour (เวลายืดหยุ่น)” นั่นเอง

     วิธีที่ 6 : “สวิตช์สลับกลับมาสแตนด์บาย” พนักงานสามารถเลือกขอสลับสถานที่ทำงานได้ เช่น จันทร์ อังคาร พุธ ขอทำงานที่บ้าน (Work From Home : WFH) ส่วนพฤหัสบดีและศุกร์ ก็กลับมาทำงานที่บริษัท พนักงานก็จะรู้สึกว่าไม่ต้องตื่นเช้าในช่วงต้นสัปดาห์ของการทำงาน โดยเฉพาะวันจันทร์ เบื่อเดินทาง เบื่อรถติด จึงอยากอยู่ทำงานที่บ้านแทน แล้ว 2 วันท้ายสัปดาห์ค่อยกลับมาทำงานที่บริษัทก็ได้ คงจะดีกว่าที่เป็นอยู่ ณ ปัจจุบัน

     วิธีที่ 7 : “อัปสกิล รีสกิล นิวสกิล” สรรหาโครงการหรือโปรแกรมฝึกอบรมใหม่ๆ ให้พนักงานได้ฝึกฝนเรียนรู้ในศักยภาพ หรือต่อยอดความสามารถเดิมเพิ่มเติมให้แกร่งและเก่งขึ้น ก็ย่อมเป็นการเติม “ฟืน” “เสริมไฟ” ให้กับพนักงานได้อีกทาง พวกเขาก็จะไม่เบื่อหรือเมื่อยล้าจนหมดไฟในการทำงาน

 

บางส่วนจากบทความ : Leader Hero : ยอดหัวหน้างานตัวจริง (ตอนที่ 22)
เรื่อง : คนหมดไฟ กับการสร้างขวัญและกำลังใจให้ลุกโชนใหม่อีกครั้ง!
โดย : พรเทพ ฉันทนาวี / Section : HRM/HRD / Column : Human Development
อ่านบทความฉบับเต็มได้ที่...วารสาร HR Society ปีที่ 22 ฉบับที่ 253 เดือนมกราคม 2567

 
 
 

 

FaLang translation system by Faboba