7 เหตุผล ของการตั้ง “สภาวิชาชีพบริหารทรัพยากรบุคคล”

โดย

 


 
7 เหตุผล ของการตั้ง “สภาวิชาชีพบริหารทรัพยากรบุคคล”

 

     “วิชาชีพบริหารทรัพยากรบุคคล” ร่างกฎหมายนี้บัญญัติเอาไว้ว่า หมายถึง วิชาชีพที่ใช้ความรู้ ความสามารถ ทักษะ ความเชี่ยวชาญ ความชำนาญเฉพาะด้าน และความมีจรรยาบรรณในการจัดการบุคลากร หรือผู้คนในองค์กรตามมิติต่างๆ เพื่อให้บุคลากรสามารถปฏิบัติงานตามหน้าที่ของตนเองให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด รวมถึงการพัฒนาให้คนมีศักยภาพเพิ่มมากขึ้น สามารถปฏิบัติงานในหน้าที่ให้เกิดประโยชน์ในแง่ของประสิทธิภาพสูงสุด

     และต่อไปนี้คือ 7 วัตถุประสงค์ในการตั้ง “สภาวิชาชีพบริหารทรัพยากรบุคคล”

  1. จัดทำ ส่งเสริม และพัฒนามาตรฐานวิชาชีพ จรรยาบรรณ และหลักวิชาการที่เกี่ยวข้องกับวิชาชีพบริหารทรัพยากรบุคคล
  2. ให้การรับรองหลักสูตรการศึกษา หลักสูตรการฝึกอบรม หรือมาตรฐานอื่นใดที่มีความสอดคล้องกับมาตรฐานวิชาชีพ รวมไปถึงการสร้างการยอมรับสัมฤทธิ์ที่เกิดจากการรับรองหลักสูตรนั้นๆ
  3. คอยควบคุมและกำกับดูแลมาตรฐานการทำงาน การประกอบอาชีพและจรรยาบรรณของผู้ประกอบวิชาชีพรับอนุญาตให้เป็นไปอย่างถูกต้องตามมาตรฐานวิชาชีพและจรรยาบรรณ แถมยังเลยเถิดไปถึงการตรวจสอบและกำกับดูแลการจ้างงาน และการปฏิบัติงานของผู้ประกอบวิชาชีพรับอนุญาตด้วย
  4. ส่งเสริมและพัฒนาผู้ประกอบวิชาชีพให้เป็นผู้ประกอบวิชาชีพรับอนุญาต เพราะเท่ากับเป็นวัตถุประสงค์ในการปั้นคนที่ทำงานด้าน HR (Human Resource) ให้ได้ขึ้นทะเบียนและรับใบอนุญาต ซึ่งใบอนุญาตก็จะต้องเป็นใบอนุญาตให้เป็นผู้ประกอบวิชาชีพรับอนุญาต ซึ่งสภาวิชาชีพบริหารทรัพยากรบุคคล เป็นคนออกให้ด้วย ถึงจะชอบด้วยกฎหมาย
  5. เป็นผู้ให้คำปรึกษาหรือเสนอแนะต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน หรือคณะรัฐมนตรีเกี่ยวกับการดำเนินการด้านวิชาชีพบริหารทรัพยากรบุคคล รวมทั้งด้านอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง หรือตามที่ได้รับมอบหมายมาก็ได้
  6. ให้บริการทางวิชาการ หรือการฝึกอบรมพัฒนา ให้ความช่วยเหลือ แนะนำ และให้ความรู้แก่บุคคลหรือองค์กรในเรื่องเกี่ยวกับวิชาชีพบริหารทรัพยากรบุคคล และการจ้างงานผู้ประกอบวิชาชีพรับอนุญาต คือ ถ้าพิจารณาให้ถ่องแท้แล้ว เราจะพบว่าคนทำงานด้าน HR ในอนาคต คุณต้องถูกผลักไปขึ้นทะเบียนและมีใบอนุญาต ไม่อย่างนั้นจะกลายเป็น HR เถื่อน ซึ่งก็ดีไปอย่าง เป็นการกำจัดและจำกัดไม่ให้ HR ทิพย์ได้ขยายตัวมั่วไปหมด ซึ่งปัจจุบันนี้พบว่าบางองค์กรก็เอานักบัญชีมาทำงาน HR เอาสโตร์มาทำงาน HR เอาธุรการมาทำงาน HR คือ จะหมุนเวียนโยกย้ายเปลี่ยนถ่ายคนหน่วยงานอะไรก็ได้ที่ไม่มีที่จะไปมาทำงาน HR กฎหมายนี้จึงออกมาเพื่อเป็นการสานฝันคนทำงาน HR พูดง่ายๆ คือ สงวนอาชีพนี้ให้กับคนที่มีวิชาชีพ โดยขึ้นทะเบียนและมีใบอนุญาตเป็นเรื่องเป็นราว กฎหมายนี้เลยเขียนเหตุผลและความจำเป็นในการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคลเพื่อดำเนินการเกี่ยวกับการควบคุมมาตรฐานวิชาชีพ และจรรยาบรรณการประกอบวิชาชีพบริหารทรัพยากรบุคคลไว้ เพื่อให้การประกอบวิชาชีพบริหารทรัพยากรบุคคลมีคุณภาพ และมีมาตรฐานสอดคล้องตรงตามเงื่อนไขของมาตรา 26 แห่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย
  7. ส่งเสริม สนับสนุน และประสานงานกับสถานศึกษา สถานฝึกอบรม สถานประกอบกิจการ หรือหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน เพื่อเผยแพร่และให้มีการใช้มาตรฐานวิชาชีพ จรรยาบรรณ หรือหลักวิชาการที่เกี่ยวข้องกับวิชาชีพบริหารทรัพยากรบุคคล ในการจัดการเรียนการสอน การฝึกอบรม และการบริหารงานในองค์กร ซึ่งวัตถุประสงค์ข้อสุดท้ายจะเห็นถึงการแทรกซึมของกฎหมายฉบับนี้เข้าไปยังโรงเรียน วิทยาลัย มหาวิทยาลัย สถานศึกษาที่มีการจัดการเรียนการสอนทุกประเภทชนิด สถาบันที่เปิดให้มีการอบรมสัมมนาบริษัท สำนักงาน ห้างร้าน โรงงาน ไปจนถึงหน่วยงานรัฐและเอกชนทั้งหลาย เพื่อเป็นการเผยแพร่ให้มีการใช้มาตรฐานวิชาชีพ จรรยาบรรณ หรือหลักวิชาการด้านบริหารทรัพยากรบุคคลให้เป็นไปในแนวทางและบรรทัดฐานอย่างเดียวกัน

     ซึ่งอาจารย์มองว่าในแง่ของมาตรฐานวิชาชีพนั้น กฎหมายให้หมายถึง ข้อกำหนด คุณสมบัติ และคุณภาพที่พึงประสงค์ในการประกอบวิชาชีพบริหารทรัพยากรบุคคล อาจจะไม่จำเป็นต้องตายตัวว่ามาตรฐานวิชาชีพต้องมีมาตรฐานเดียว แต่ต้องมีมาตรฐานทางเลือกที่ทำอย่างไรก็ได้ให้ข้อกำหนด คุณสมบัติ และคุณภาพของคนใช้วิชาชีพบริหารทรัพยากรบุคคล สามารถประยุกต์ปรับใช้และนำไปประกอบวิชาชีพแล้วประสบผลสำเร็จอย่างแท้จริง

 

  บางส่วนจากบทความ : พิชญพิจารณ์ ร่างกฎหมายวิชาชีพบริหาร “คน” (ตอนที่ 1)
โดย : กฤษฎ์ อุทัยรัตน์ / Section : กฎหมายแรงงาน /
Column : คลายปมปัญหาแรงงาน อ่านบทความฉบับเต็มได้ที่...
วารสาร HR Society ปีที่ 22 ฉบับที่ 253 เดือนมกราคม 2567

 
 
 
FaLang translation system by Faboba